‘Tuan Guru’ จากอดีตนักโทษการเมืองชาวชวา สู่ผู้นำพาศาสนาอิสลามให้งอกงามในแอฟริกาใต้

ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) ตั้งอยู่ ณ ส่วนปลายสุดของทวีปแอฟริกา ในอดีตนั้นเคยตกเป็นอาณานิคมของดัชต์และอังกฤษตามลำดับ โดยเมืองสำคัญของประเทศนี้ได้แก่ เคปทาวน์ (Cape  town) ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางอำนาจของเจ้าอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ติดต่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

แม้จะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแอฟริกา แต่ประชาชนส่วนมากทั้งคนขาว (The Whites) คนดำ (Natives) รวมถึงคนผิวสี (Cape coloureds) ส่วนมากนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนด์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางเจ้าอาณานิคมดัตช์มาตั้งแต่ช่วงตั้งเมือง มีชาวคาทอลิกเป็นส่วนน้อยซึ่งส่วนมากเป็นลูกหลานของชาวฝรั่งเศสและอังกฤษที่อพยพตามมาในช่วงไล่เลี่ยกัน

อย่างไรก็ดี อีกศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งอันมีบทบาทอย่างมากในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศแอฟริกาใต้ นั่นก็คือศาสนาอิสลาม แม้ว่าจะมีประชากรเพียงแค่ไม่ถึงร้อยละสองของประเทศนี้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หากแต่บทบาทของชาวมุสลิมแอฟริกาใต้ในหน้าประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นกลับมีชีวิตชีวาอย่างสูงเด่นจนถึงปัจจุบัน เพราะแม้แต่ Waney Parnell นักคริกเก็ตทีมชาติซึ่งเคยเป็นคนขาวนับถือคริสต์ต่อมาก็ได้เปลี่ยนไปนับถืออิสลามด้วย

หากใครเคยไปเยี่ยมเยือนเขต ‘Bo-Kaap’ แถบซิกนอลฮิลล์ (Signal Hill) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเคปทาวน์ เราก็จะสามารถเห็นชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบเฉพาะอย่างแตกต่างกับบ้านของชาวแอฟริกาใต้โดยทั่วไป อีกทั้งยังมีการทาสีกลุ่มอาคารบ้านเรือนอย่างสวยงามอีกด้วย เขต ‘Bo-Kaap’ นี้ในอดีตและปัจจุบันคือพื้นที่มรดกวัฒนธรรมของชาว ‘เคปมาเลย์’ (Cape Malays) ผู้ที่เจ้าอาณานิคมดัตช์อนุญาตให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งตั้งแต่ช่วงปลายคริสตวรรษที่ 18 เป็นอย่างน้อยซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาของไทยดังที่กล่าวไปแล้ว

แล้วชาว ‘เคปมาเลย์’ (Cape Malays) เหล่านี้เป็นใคร ? เมื่อกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของแอฟริกาใต้แล้วจะพบว่า ชาวเคปมาเลย์เหล่านี้มีบรรพบุรุษเป็นนักโทษและเชลยที่ถูกขนย้ายมาจากดินแดนชวาและมาเลเซียในอดีต อาทิ สุมาตรา โมลุกกะ บันตัม มากัสซาร์ (มักกะสัน) และอื่น ๆ ภายใต้นโยบายส่งตัวนักโทษไปอยู่เสียให้ไกลหูไกลตาของบริษัทดัตช์อินเดีย (V.O.C.) ซึ่งตั้งสถานีใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกที่ปัตตาเวีย (Batavia) ประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ถ้าจะกล่าวให้ชัด นักโทษชาวชวา-มลายูเหล่านี้โดยมากแล้วหาใช่นักโทษธรรมดา ส่วนมากแล้วเป็นถึงนักโทษทางการเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้าอาณานิคมดัตช์ ในกลุ่มของพวกเขามีทั้งที่เป็นเจ้าชายเชื้อราชวงศ์ ศิลปิน ช่างฝีมือ รวมถึงบางส่วนที่มีสถานะเป็นทาสก็ถูกขนย้ายมายังดินแดนแอฟริกาใต้ด้วย และพวกเขาทั้งหมดล้วนนับถือศาสนาอิสลาม นักวิชาการแอฟริกาใต้จึงยอมรับกันเป็นเสียงเดียวว่า เชลยชวา-มลายูเหล่านี้แหละ ที่ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในแอฟริกาใต้จนกระทั่งฝังรากลึกจนเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาติกระทั่งปัจจุบัน

หนึ่งในผู้นำสำคัญของชุมชุมชาวชวา-มลายูในดินแดนแอฟริกาใต้ในยุคบุกเบิกที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ อิหม่ามอับดุลเลาะห์ บิน กอเดร์ อาบู อัล ซาลาม (Imam ‘Abdullah ibn Qadi ‘Abd al-Salam) หรือที่ทุกวันนี้ชาวมุสลิมแอฟริกาใต้เรียกขานกันว่า ‘ต่วน ฆูรู’ (Tuan Guru) ที่แปลว่า ‘ท่านอาจารย์’

คาดกันว่าเขาน่าจะเป็นสมาชิกของราชวงศ์แห่งโกตาติดอร์ (Kota Tidore Kepulauan) อันเป็นเกาะแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแถบโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องเครื่องเทศที่มีราคาแพงในสมัยนั้นนั่นก็คือ ‘กานพลู’ อันเป็นเครื่องเทศที่ชาวยุโรปต้องการอย่างมากไม่ต่างจากลูกจันทร์ เพื่อใช้ในการปรุงอาหารคาวหวานให้มีความอร่อยรสขึ้นไปอีก

ตามประวัติแล้วต่วนฆูรูถูกเจ้าอาณานิคมดัตช์ส่งตัวมายังเคปทาวน์ในราวปี ค.ศ. 1712 ด้วยสาเหตุต่อต้านการปกครองและอีกประการหนึ่ง ทางดัตช์กังวลว่าหากปล่อยให้เขาอาศัยในดินแดนแถบชวาต่อไป ด้วยความที่ต่วนฆูรูเป็นที่น่านับถือตามากเขาอาจจะร่วมกับอังกฤษต่อต้านกับดัตช์ได้ การ ‘เนรเทศ’ มาในพื้นที่ไกล ๆ น่าจะเป็นการดีที่สุด

มีหลักฐานว่าก่อนจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ ต่วนฆูรูเคยถูกแยกไปจำคุกไว้ที่เกาะร็อบเบิน (Robben Island) ซึ่งเป็นเกาะที่สร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์เป็นคุกนรกกลางทะเล เพื่อ ‘ดัดสันดาน’ ต่วนฆูรูไม่ให้มีความคิดต่อต้านเจ้าอาณานิคมอีก แม้ว่าเกาะนี้มีที่ตั้งไม่ไกลจากตัวเมืองเคปทาวน์แต่การหลบหนีก็เป็นไปไม่ได้เลย

ภายหลังจากได้รับอิสรภาพแล้ว ต่วนฆูรูได้กลายมาเป็นผู้สอนกีตาบ (ผู้สอนหนังสืออิสลาม) แก่บรรดาเชลย/ทาสชาวชวา-มลายู และกลายเป็นหัวหน้าที่รับผิดชอบเชลย/ทาสเหล่านี้ไปด้วย นอกจากความสามารถในการคัดลอกและเขียนอัลกุรอานจากความทรงจำอย่างถูกต้องและไม่มีผิดเพี้ยนขณะช่วงถูกกักขังบนเกาะร็อบเบินแล้ว ผลงานอันสำคัญของต่วนฆูรูก็คือการยื่นคำร้องให้บริษัท V.O.C. อนุญาตให้ชาวมุสลิมก่อสร้างมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาได้ ในที่สุดมัสยิดแห่งแรกในแอฟริกาใต้ก็สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1793 โดยใช้ชื่อว่า Auwal และมัสยิดนี้ตั้งสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จึงกล่าวได้ว่าด้วยความสามารถและความพยายามของต่วนฆูรูนี้เอง ทำให้ศาสนาอิสลามเจริญงอกงามในแอฟริกาใต้และทำให้ชุมชนชาวเคปมาเลย์ ที่ถึงแม้ว่าจะมีที่มาจากการเคยเป็นอดีตเชลย/นักโทษ แต่ปัจจุบันมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาได้รับการเชิดหน้าชูชาจากรัฐบาลไม่น้อยกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ เลยทีเดียว

อ้างอิง :

[1] Shafiq Morton. From the spice islands to the Cape : The Life and times of Tuan Guru. South Africa. (2018).
[2] Islam in South Africa