พื้นฐานแห่งความยุติธรรมทั้งปวง ‘หลักพอสมควรแก่เหตุ’ หัวใจแห่งกฎหมายที่ทุกสังคมในโลกยึดถือ

บทความโดย จิตรากร ตันโห

กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกสังคมมี ไม่ว่าจะย้อนกลับไปในยุคโบราณเพียงใดก็จะมีกฎหมายมากำกับเสมอแม้ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายที่เราเข้าใจในปัจจุบัน แต่โดยเนื้อหาสาระสำคัญแล้วเป็นกฎหมาย เราจึงอาจกล่าวได้ว่ากฎหมายคือสิ่งที่ดำรงอยู่คู่กับมนุษย์เสมอมาเพราะเป็นข้อตกลงและข้อบังคับที่เราทุกคนมีพันธะสัญญาร่วมกันว่าจะต้องปฏิบัติและเชื่อฟัง [1] เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ย่อมหมายความว่ากฎหมายนั้นมีหลักการบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของความต้องการของทุกสังคมด้วย

หากเราแกะรอยต้นกำเนิดของสังคมไม่ว่าจะแนวคิดของตะวันตก เช่น สัญญาประชาคม (Social contract) หรือกระทั่งของไทยในอัคคัญญสูตรเราก็จะเห็นได้ว่ากฎหมายเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งโดยความยุติธรรม นั่นหมายความว่าอำนาจที่ก่อให้เกิดสังคมคืออำนาจในการพิพากษาเพื่อยุติความขัดแย้งทั้งปวงหาใช่อำนาจอื่นไม่ [2] หรืออีกแง่หนึ่งกฎหมายจึงเกิดมาเพื่อทำให้ทุกคนสามารถร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในนามของความยุติธรรมและความสามารถในการคาดเดาได้ว่าทุกคนจะอยู่ใต้ข้อบังคับชุดเดียวกัน

แน่นอนว่าหลักการพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนยอมอยู่ใต้ข้อบังคับนี้มีหลายอย่างด้วยกัน แต่หนึ่งในหลักการที่สำคัญอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักการที่เรียกว่า “ความพอสมควรแก่เหตุ” ที่หมายถึงการตัดสินข้อพิพาทใดๆ ก็ตามจะต้องเป็นไปด้วยความพอสมควรในหลายๆ ด้าน กล่าวคือไม่สร้างภาระให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป และทำให้ความยุติธรรมในคดีเกิดผลบังคับให้ได้มากที่สุด และสิ่งนี้เองคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ในสังคมนั้นยอมรับคำพิพากษาได้

ในปัจจุบันหลักความพอสมควรแก่เหตุได้เป็นกลไกที่สำคัญในการวินิจฉัยทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย [3] โดยในวงวิชาการนั้นยอมรับกันว่าหลักพอสมควรแก่เหตุนี้มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ หลักความเหมาะสม หลักความจำเป็น และหลักความพอสมควรแห่งเหตุในความหมายอย่างแคบ

หลักความเหมาะสมนั้นมีอยู่ว่าให้รัฐใช้มาตรการในการจำกัดสิทธิของประชาชนโดยอยู่ในวัยที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ คือ กฎหมายที่ไม่สามารถนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ แต่กลับสร้างภาระให้กับวัตถุประสงค์เสียเอง เช่น ออกกฎหมายโดยระบุว่าประชาชนสามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมได้ แต่ก่อนจะส่งฟ้องต้องเตรียมหลักฐานหรือเอกสารนานัปการจนมากเกินไปทำให้ความยุติธรรมไม่สามารถเกิดได้

หลักความจำเป็น คือ มาตรการที่ใช้บังคับนั้นเมื่อออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ใดแล้ว มาตรการนั้นจะต้องกระทบต่อสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด แต่ต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ ถ้าหากมีสองตัวเลือกในการบังคับใช้ หลักการที่มักจะยึดถือไว้ก่อนคือต้องกระทบสิทธิประชาชนน้อยที่สุดโดยที่ประสิทธิภาพอาจเป็นรองลงมาได้ แต่บางกรณีก็จะยึดประสิทธิภาพไว้ก่อนเรื่องการกระทบของสิทธิ

หลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบ คือ ให้ชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่เอกชนสูญเสียไปกับสิ่งที่มหาชนจะได้รับว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งการชั่งน้ำหนักนี้จะแตกต่างกันไปแต่ละเรื่อง

หลักการดังกล่าวนี้มีตัวอย่างการบังคับใช้ให้เห็นอยู่ดังปรากฏในศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีซึ่งสามารถแยกคดีออกได้ตามหลักต่างๆ ข้างต้นดังนี้

การปรับใช้หลักความเหมาะสม

ในคดีผู้ใช้เหยี่ยวในการจับสัตว์อื่น (Falconer case) กรณีนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการล่าสัตว์ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่าให้ผู้ใช้เหยี่ยวจับสัตว์อื่นนั้นต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ในการใช้ปืนเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตในการเป็นผู้ใช้เหยี่ยวจับสัตว์ ในคดีนี้ศาลได้พิจารณาว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายต้องการให้ Falconer ดูแลเหยี่ยวอย่างเหมาะสม แต่การใช้ปืนนั้นไม่เกี่ยวกันกับวัตถุประสงค์เลย บทบัญญัติจึงไม่สมควรแก่เหตุและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อีกกรณีหนึ่งคือคดีพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมาย Bavarian State Lottery Act ที่ให้อำนาจมลรัฐบาวาเรียควบคุมการพนันเกือบทุกประเภท วัตถุประสงค์ก็คือป้องกันมิให้คนติดการพนัน แต่สภาพการเล่นพนันนั้นไม่ใช่เล่นต่อหน้าอย่างเดียว แต่ยังสามารถเล่นออนไลน์ได้ ซึ่งกฎหมายของมลรัฐบาวาเรียไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในคดีนี้ศาลตัดสินว่าเพียงเพราะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีไม่ได้หมายความว่ามาตรการที่ชอบด้วยความเหมาะสมจะกลายเป็นไม่ชอบด้วยความเหมาะสมแต่อย่างใด กล่าวคือศาลให้ดุลยพินิจกับฝ่ายนิติบัญญัติในการตัดสินใจกำหนดมาตรการออกมา แม้จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ทั้งหมดก็ไม่ได้ทำให้ความเหมาะสมกลายเป็นความไม่เหมาะสม

การปรับใช้หลักความจำเป็น

หลักการนี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมักจะปรับใช้อย่างเคร่งครัด คือ แม้จะมีมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่าแต่ส่งผลอย่างอื่น เช่น มีประสิทธิภาพในการบรรลุวัตถุประสงค์น้อยกว่า เพิ่มงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ หรือส่งผลกระทบต่อสิทธิอื่น ศาลมักจะไม่นำมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่ามาวินิจฉัยตามความจำเป็น กรณีตัวอย่างคือคดีรัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองรัฐธรรมนูญของมลรัฐ North Rhine-Westphalia ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเข้าถึงข้อมูลของปัจเจกชนบนอินเทอร์เน็ตได้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของรัฐ เหตุในการตรากฎหมายนี้คือป้องกันการก่อการร้าย ศาลได้วินิจฉัยว่าฝ่ายนิติบัญญัติอาจจะสันนิษฐานไว้ว่าไม่มีวิถีทางที่จะกระทบสิทธิของปัจเจกชนน้อยกว่าและได้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่าการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลในฐานข้อมูล ดังนั้นมาตรการนี้จึงชอบด้วยหลักความจำเป็นแล้ว

แต่อีกคดีหนึ่งซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตรงข้ามกันคือ Consensus 1982 ที่ศาลตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สหพันธรัฐในระดับสูงสุดทั้งหมดเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนเพื่อบรรลุผลในการปฏิบัติหน้าที่และส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างได้ กฎหมายนี้ถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ในคดีนี้ศาลตัดสินว่าการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหพันธ์มีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลโดยทั่วไปนั้นไม่จำเป็น เนื่องจากยังมีมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยกว่าโดยไม่ส่งผลกระทบอื่น เช่น การให้เข้าถึงข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่บางคนโดยระบุตำแหน่งอย่างเฉพาะเจาะจง การให้เข้าถึงข้อมูลของประชาชนโดยทั่วไปในเจ้าหน้าที่ระดับสูงนั้นไม่ชอบด้วยหลักความจำเป็นเมื่อมีวิถีทางที่น้อยกว่าดำรงอยู่

หลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบ

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีอาศัยการพิจารณาในเชิงรูปธรรมมากกว่าการอาศัยการชั่งน้ำหนักในเชิงนามธรรมในหลักนี้ ในคดี Animal Protection Act ศาลพิจารณาถึงหลักความสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบโดยชั่งน้ำหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่มหาชนได้รับอย่างรอบด้าน ในกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารนั้นต้องทำให้สัตว์หมดความรู้สึกก่อนฆ่า เนื่องจากมีวัตถุประสงค์คือคุ้มครองสัตว์ แต่มีข้อยกเว้นคือการฆ่าสัตว์โดยไม่ต้องทำให้หมดความรู้สึกก่อนก็อาจทำได้หากได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานของรัฐในกรณีที่เป็นพิธีทางศาสนา

ในคดีนี้ผู้ร้องคดีคือชาวมุสลิมที่ขายเนื้อซึ่งได้รับผลกระทบเนื่องจากการฆ่าวัวเพื่อบริโภคของชาวมุสลิมจะต้องเชือดโดยที่สัตว์ยังมีสติอยู่ หากไม่ผ่านการเชือดด้วยพิธีกรรมชาวมุสลิมก็ไม่สามารถบริโภคได้ ธุรกิจขายเนื้อจึงเสียหายเพราะลูกค้าหลักคือชาวมุสลิม ในคดีนี้ศาลได้นำมาตรการนี้มาพิจารณาตามหลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายแคบ โดยศาลได้พิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสัตว์อันเป็นประโยชน์ที่มหาชนได้รับคู่กับผลกระทบต่อสิทธิในการประกอบอาชีพที่คนขายเนื้อชาวมุสลิมได้รับ ศาลตัดสินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นพอสมควรแก่เหตุกับประโยชน์ที่มหาชนได้รับ เนื่องจากมาตรการนี้แม้จะสร้างความเสียหายก็จริง แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิทั้งหมด ชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบอาจอาศัยการขออนุญาตยกเว้นต่อเจ้าพนักงานได้ หรือผู้ขายเนื้ออาจจะต้องขายเนื้อให้กับบุคคลที่ไม่ยึดหลักศาสนาในการบริโภคแทน

จะเห็นได้ว่าหลักความพอสมควรแก่เหตุนั้นได้สร้างความยุติธรรมขึ้นผ่านการพิจารณาชั่งน้ำหนักในด้านต่างๆ เป็นกรณีไป ก็เพื่อที่จะให้มาตรการของรัฐนั้นมีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์อย่างมีเหตุผลและมีความชอบธรรมในแง่ทั้งวิธีการและเป้าหมาย ซึ่งในไทยเองก็ปรากฏว่าใช้หลักการนี้เพื่อสร้างความยุติธรรมเช่นเดียวกันไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นทหารปกครองหรือรัฐบาลพลเรือน [4] นี่จึงน่าจะแสดงให้เห็นว่า หลักความพอสมควรแก่เหตุคือหลักพื้นฐานแห่งความยุติธรรมทั้งปวง และไม่ว่าใครก็ต้องยึดถือหลักนี้

อ้างอิง :

[1] Niklas Luhmann, Law as a Social System (New York: Oxford University Press, 2004).
[2] Antony Black, “The juristic origins of social contract theory,” History of Political Thought Vol. 14, No. 1 (Spring 1993): 57-76.
[3] เรียบเรียงจาก เกื้อ เจริญราษฎร์, “มโนทัศน์ว่าด้วยความพอสมควรแก่เหตุ: ศึกษาพัฒนาการของหลักกฎหมายและการปรับใช้โดยศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาและศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี,” วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2562): 389-399.
[4] Narongdech Srukhosit, “Manifest Disproportionality and the Constitutional Court of Thailand,” in Proportionality in Asia, (ed.) Po Jen Yap (Cambridge: Cambridge University Press, 2020).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า