‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 11

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

เวลานั้นทางยุโรปกำลังวุ่นวาย ระหว่างสเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส – พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 กำลังคิดจะเตรียมเปิดสงครามกับฮอลันดา ด้วยทางฮอลันดาไม่ได้มีอำนาจอะไรในทวีปยุโรป เพราะกำลังส่วนใหญ่ไปอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นฐานการค้าของบริษัท VOC

ขณะเดียวกันเมื่อพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ได้รับข้อมูลจากคณะทูตชุดที่ 2 ของสยามที่เดินทางมาถึงฝรั่งเศส เพื่อตามหาคณะทูตชุดแรก (เรือล่ม) ว่าสยามยินดีจะยกเมืองยะโฮร์ อันเป็นเมืองท่าสำคัญในการเดินเรือให้เป็นสถานีทางการค้า

พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ทรงมีความสนใจ เพราะการค้าในระยะนั้นฮอลันดาเป็นประเทศที่ทำการค้าได้มากที่สุดในยุโรป แม้ว่าการไปตั้งสถานีการค้าที่เมืองยะโฮร์ อาจจะต้องเผชิญหน้ากับกองเรือฮอลันดาที่ปักหลักอยู่แถวหมู่เกาะชวา ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับฝรั่งเศส ด้วยที่มีประชากรมากกว่าฮอลันดา 10 เท่า ศักยภาพในการรบไม่ได้ยิ่งหย่่อนไปกว่า

อีกทั้งข้อมูลจากคณะบาทหลวง รายงานว่าทางสยามเปิดกว้างแก่ทุกศาสนาเข้าไปเผยแพร่ได้ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอริกของฝรั่งเศส ไปสร้างโบสถ์เริ่มต้นปักหลักแล้ว และคาดว่าบาทหลวงจะสามารถชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์หันมาเขารีตได้

พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 จึงยอมจัดส่งคณะราชทูต พร้อมพระราชสาสน์แสดงไมตรีอย่างเป็นทางการมายังสยาม โดยมี เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) เป็นราชทูต เดินทางมาสยาม โดยนำเอาคณะทูตชุดที่ 2 ของสยามกลับมาพร้อมกันด้วย

เรือของคณะราชทูตฝรั่งเศส ถึงสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงส่งเสนาบดีสยามท่านหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า โกษาธิบดี (ปาน) มาต้อนรับ

การต้อนรับของสยาม มีขบวนพิธีอันยิ่งใหญ่สร้างความประทับใจให้กับคณะทูตชาวฝรั่งเศสมากมาย มีเจ้าพนักงานเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ขึ้นประดิษฐานบนราชรถ , ราชทูต เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ถูกเชิญให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ปิดทอง มีคนหาม 10 คน ระหว่างทางแห่พระราชสาส์น มีการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องเป่าปี่พาทย์ มีกลอง มีระฆัง

จนมาถึงการถวายพระราชสาส์นให้กับสมเด็จพระนารายณ์ในท้องพระโรง ซึ่งพระองค์ประทับอยู่บนบัลลังก์สูง – ทำให้ เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ตกใจ เพราะได้ตกลงกับคอนสแตนติน ฟอลคอนแล้วว่า จะไม่คลานเข่าแบบชาวสยาม หรือคุกเข่าถวายสิ่งของ

แต่เมื่อมองดูความสูงของบัลลังก์ที่ประทับแล้วมันสูงเลยพ้นศีรษะของตนเองมาก – เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ จึงเดินตรงไปและยกพานพระราชสาส์นขึ้นเพียงหน้าอก , ฟอลคอน ได้ร่วมเข้าเฝ้าด้วย คลานเข่าเข้าไปใกล้ราชทูตฝรั่งเศสแล้วพูดว่า ชูให้สูงขึ้น สูงขึ้นไปอีก แต่ราชทูตฝรั่งเศสไม่ยอมทำตาม

สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเห็นดังนั้นก็ทรงพระสรวล (หัวเราะ) พระองค์จึงทรงยืนขึ้นแล้วโน้มตัวมาหยิบพระราชสาส์นบนพานทอง – นั้นคือภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ อันเป็นภาพเขียนขึ้นของชาวฝรั่งเศส จนกลายเป็นภาพติดตาของคนไทยและรู้จักกันทั่วโลก

โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสได้ใช้โอกาสในครั้งนี้ชักชวนทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเปลี่ยนศาสนามาเข้ารีตเป็นคริสต์ ขณะที่ทางสมเด็จพระนารายณ์ ทรงได้พูดแต่เรื่องความกังวลในอิทธิพลของฮอลันดาที่อาจจะคุกคามสยาม และทรงพูดถึงการค้าของฝรั่งเศสในดินแดนสยาม

เชอรราเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง ที่พระราชวังลพบุรี ระยะหลังมานี้สมเด็จพระนารายณ์มักจะประทับอยู่ที่ลพบุรีตลอดเวลา – โชมองต์ ราชทูต ผู้ได้ให้คำมั่นสัญญากับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของตนว่า จะทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงหันมานับถือคริสต์ศาสนา ก็พยายามชักจูงให้กษัตริย์แห่งอยุธยาหันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอริก โดยไม่ยอมคุยเรื่องการค้าอื่น ๆ

สมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงได้ตอบแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” แต่ชัดเจนในความหมายไปว่า

พระองค์ไม่สามารถที่จะสละศาสนาที่มีมา กว่า 2,200 ปีนี้ได้ การจะเปลี่ยนศาสนาจะส่งผลกระทบกับสังคมอย่างมาก และ ..

การที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนานั้น ย่อมแสดงว่าพระองค์ไม่ได้ต้องการให้โลกนี้มีเพียงศาสนาเดียว

พระราชกิจราชการทุกอย่าง จะถูกนำเสนอถวายและเข้าเฝ้าที่พระราชวังลพบุรี เพราะตอนนั้นสมเด็จพระนารายณ์เริ่มประชวรแล้ว แรก ๆ ยังมีคนไม่รู้ข่าวกันมากนัก

การเลือกลพบุรีเป็นฐานมั่นของสมเด็จพระนารายณ์ สะท้อนข้อดีออกมาในช่วงปลายรัชสมัยเพราะทำให้พระองค์สามารถยืนหยัดรักษาสถานะจากวันเริ่มประชวรไปได้ถึง 5-6 ปี นี้ถ้าพระองค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ข่าวการประชวรคงรั่วไหลตั้งแต่ 2 เดือนแรก และต้องเตรียมรับสถานการณ์ต่าง ๆ อีกมากมาย

คณะราชทูตฝรั่งเศส อยู่ในกรุงศรีอยุธยา 3 เดือน หลังจากเจรจาทางการทูตไม่ประสบความสำเร็จ สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนศาสนา คณะราชทูตฝรั่งเศสจึงวางแผนเดินทางกลับในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228)

สมเด็จพระนารายณ์ ทรงทราบดีถึงความผิดหวังของคณะทูตฝรั่งเศส และพระองค์ก็ทรงไม่ได้รับการยืนยันที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาค้าขายอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยต่อต้านการรุกรานของฮอลันดาที่มีอิทธิพลมากขึ้นในบริเวณเมืองท่าทางตอนใต้ของสยาม

สมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงมอบหมายให้ โกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตของสยาม เดินทางอัญเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ ไปถวายให้พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการต่าง ๆ จุดประสงค์เพื่ออธิบายเหตุผลของความไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนศาสนา แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธศาสนาคริสต์ให้มีเผยแพร่ในสยาม และทำความเข้าใจในเรื่องการค้า ความเกเรของฮอลันดา

โกษาธิบดี (ปาน) รับบทนกสาลิกา ลิ้นทอง ต้องเจรจาถ้อยคำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสยาม และไม่ให้สัมพันธ์ไมตรีที่เพิ่งเริ่มต้น หยุดชะงักจางหายไปด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม

18 มิถุนายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) โกษาธิบดี (ปาน ) พร้อมคณะคนสยามประมาณ 40คนเดินทางไปถึงฝรั่งเศส – เรือเทียบท่าที่ปลายถนน แซงค์ ปิแอร์ (Rue St.Pierre) ชานเมืองแบรสต์ และเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์

ระหว่างเส้นทางการเข้าเฝ้า คณะราชทูตของสยามได้มีการจัดขบวนแห่พระราชสาส์น ประหนึ่งเป็นงานมหรสพ ซึ่งเป็นของแปลกใหม่และสร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนชาวปารีสอย่างมาก ที่ประเทศเล็ก ๆ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมาแห่ขบวนเดินไปยังพระราชวังแวร์ซายส์

(* ในเวลาต่อมา ถนน แซงค์ ปิแอร์ (Rue St.Pierre) ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสยาม (Rue de Siam) เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

(* เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ถนนเมืองแบรสต์ ได้มีพิธีประดิษฐรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปาน ขึ้นที่เมืองแบรสต์ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 333 ปี ของราชทูตสยามเยือนฝรั่งเศส)

เมื่อถึงพระราชวังแวร์ซายส์ ได้มีกองทหารเกียรติยศของฝรั่งเศสต้อนรับ และโกษาธิบดี (ปาน) ใช้ลักษณะท่าทีของความอ่อนน้อมถ่อมตนอันเป็นลักษณะเด่นของชาวสยาม คลานเข่าเข้าไปที่พระที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยกมือขึ้นจรดศีรษะ โน้มตัวลงถวายบังคมจรดพื้น 3 รอบ ก่อนจะทูลพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการต่าง ๆ ที่เตรียมมา

คณะคนสยามที่ร่วมเดินทางเข้าเฝ้า ซึ่งอยู่ด้านหลังของโกษาธิบดี (ปาน) ต่างนั่งถวายบังคมโดยพร้อมเพียงกัน สร้างความประทับใจให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อย่างมาก มันอาจจะเป็นของแปลกใหม่สำหรับชาวยุโรป แต่ลักษณะภาษากายจากการแสดงออกของชาวสยาม กลับทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าใจในอวัจนภาษา ที่บอกถึงความเคารพนับถือ เชิดชู

บางครั้งความอ่อนนิ่มอ่อนโยน ก็สามารถเอาชนะความแข็งแกร่ง
หยดน้ำที่หยดลงสม่ำเสมอ ก็สามารถกัดเซาะหินผาให้แตกได้

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระจอมเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงได้ใช้การทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อสร้างสมดุลอำนาจระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษที่อยู่รอบ ๆ อาณาเขตของสยาม

[ คณะราชทูตโกษาธิบดี (ปาน) ใช้เวลาไปและอยู่ที่ฝรั่งเศส นาน 1 ปี 9 เดือน จึงเดินทางกลับถึงสยามในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1678 (พ.ศ. 2230) ]

แต่การเดินทางกลับมาครั้งนี้ด้วยเรือฝรั่งเศส โกษาธิบดี (ปาน) อาจจะระแคะระคายได้บ้างแล้วว่า ฝรั่งเศสวางแผนส่งทหารเข้ามายึดเอาสยาม ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ

และช่วงเวลาที่โกษาธิบดี (ปาน) ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์จลาจลใหญ่ได้เกิดบนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นั้นคือ “กบฏมักกะสัน” อันเป็นขั้วอำนาจกลุ่มคนมุสลิมกลุ่มหนึ่งในอยุธยา

แต่เดิมนั้นจะมีคนมุสลิมถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเพื่อควบคุมพวกเขา และหลังจากสิ้นสุดท่านออกพระศรีเนาวรัตน์ (อกา มะหะหมัด) ประชาคมมุสลิมเหมือนถูกปล่อยทิ้ง

อำนาจใหม่ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของ ออกญาวิไชเยนทร์ ผู้ที่ประกาศสนับสนุนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอริกอย่างเต็มตัว ความขัดแย้งจึงเกิดเป็นจลาจลกบฏขึ้นมา

โปรดติดตามตอนต่อไป

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า