จุดกำเนิดรอยแยกเกาหลี และความพยายามรวมชาติกว่า 70 ปี ที่ยังไม่สำเร็จ

‘เกาหลีฟีเวอร์’ ซอฟท์พาวเวอร์ที่มาแรงที่สุดในยุคปัจจุบันอย่างเถียงไม่ได้ กระแสเกาหลีถูกส่งออกไปแทบทั่วทุกตารางนิ้วบนโลกผ่านเครือข่ายการสื่อสารที่ไร้พรมแดน ยิ่งเทคโนโลยีไปได้ไกลเท่าไหร่ กระแสกิมจิก็ดูเหมือนจะไปได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น

เหวี่ยงถอยหลังไปราว 20 ปีก่อน หากมีใครคนหนึ่งชูประเด็น ‘จงพูดสิ่งที่คุณนึกออกเมื่อได้ยินคำว่าเกาหลี’ หลายคนคงตอบไม่ไกลไปจากคำว่า อารีรัง (พูดผิดเป็นอารีดังด้วยซ้ำไป) หรือนักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ที่เข้ารอบลึก ๆ ฟุตบอลโลกที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพอย่างค้านสายตา คำตอบที่ลึกกว่านั้นคงหาไม่ได้ เพราะในชั่วโมงนั้นผู้คนอภิรมย์กับประเทศญี่ปุ่นมากกว่า เพราะขานั้นเขาปูซอฟท์พาวเวอร์มานานแสนนานด้วยมังงะ (การ์ตูน) ทำให้เกาหลีในวันนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในหัวเลย

แต่ปัจจุบันเหมือนโลกคนละใบ ญี่ปุ่นถูกเกาหลีทิ้งไปไกลโพ้น เหมือนนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า มังงะของญี่ปุ่นอาจจะยังได้รับความนิยมอยู่แต่ก็ไม่เปรี้ยงปร้างเท่าเก่า ในขณะที่เกาหลีพัฒนาการ์ตูนของตนเองออกมาเป็นแบบเว็บตูน ซึ่งฉีกรูปแบบจนเรียกว่าเป็นอีกสื่อไปเลย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนสมัยใหม่ที่ผูกติดอยู่กับโทรศัพท์มือถือได้อย่างพอดิบพอดี นอกจากนั้นในวงการซีรีส์ก็ยืนหนึ่ง นำหน้าไปไกลถึงขนาดจีนและญี่ปุ่นยังต้องปรับโทนของตนให้มูดแอนด์โทนคล้าย ๆ กัน ส่วนเรื่องเพลงนั้นไม่ต้องพูดถึง นักร้องเกาหลียึดพื้นที่ global ambassador ของ luxury brand หลักของโลกจนแทบหมดแล้ว

แต่ทว่ากระแสเกาหลีที่กำลังฟีเวอร์อยู่นั้น เรียกให้ถูกต้องที่สุดต้องเรียกว่า ‘กระแสเกาหลีใต้’ เพราะที่โลกหลงใหลกันอยู่นั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพื้นที่ด้านบนของคาบสมุทรเกาหลีเลย แทบทุกคนรู้ว่าเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือนั้นไม่ถูกกัน นอกจากเนื้อหาที่แทรกมาในซีรีส์บางเรื่อง (Crash Landing on You, 2019-2020, Curtain Call, 2022) ความแตกต่างจากความขัดแย้งที่ทำให้สองประเทศเหมือนอยู่คนละโลกนั้นเริ่มจากที่ตรงไหน วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟัง

จุดเริ่มต้นความบาดหมาง

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 ณ เวลานั้นพื้นที่ส่วนบนและส่วนล่างของคาบสมุทรเกาหลีเริ่มถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน สาเหตุหลักคือทั้งสองส่วนถูกแทรกแซงทางการเมืองโดยมหาอำนาจทั้ง 2 คือสหภาพโซเวียตชักใยส่วนเหนือและส่วนใต้โดยสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 1948คาบสมุทรเกาหลีก็แตกเป็น 2 ส่วนอย่างสิ้นเชิงระหว่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (DPRK – The Democratic People’s Republic of Korea) ภายใต้การนำของ คิม อิล ซุง และ สาธารณรัฐเกาหลี (ROK – The Republic of Korea) ภายใต้การนำของ อี ซึง มัน

ความขัดแย้งของทั้งคู่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดแตกหักในปี ค.ศ. 1950 เมื่อเกาหลีเหนือรุกรานเกาหลีใต้และนำไปสู่สงครามเกาหลี การต่อสู้ต่อเนื่องยาวนานจนถึงข้อตกลงหยุดยิงกินเวลา 3 ปี ในเหตุการณ์นั้นไม่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาใด ๆ นั่นหมายความว่าจากวันนั้นสงครามเกาหลีก็ยังไม่สิ้นสุดอย่างเป็นทางการ ทำให้ทั้งสองประเทศยังคงตรึงกำลังทหารกระหนาบแนวชายแดนอย่างเข้มงวดจนถึงวันนี้

เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี สังคมและการปกครองเกาหลีเหนือและใต้ก็เติบโตไปในรูปแบบและทิศทางที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเกาหลีเหนือยึดระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้ก็ใช้รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทุนนิยม แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด 7 เขตการปกครอง และมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ

จากความขัดแย้งเหมือนขมิ้นกับปูน อาจมีคนสงสัยว่าเกาหลีเหนือและใต้เคยมีความคิดที่จะรวมกันเหมือนเก่าก่อนบ้างหรือไม่? จะบอกว่ามี แต่แค่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เท่านั้น

ความพยายามในการรวมเกาหลีเป็นหนึ่ง

อันที่จริงเจตนารวมชาติครั้งแรกของเกาหลีทั้งสองเกิดขึ้นระหว่างสงครามเกาหลีนั่นเอง (1950-1953) แต่อย่างที่ทราบว่า สงครามหยุดลงด้วยคำสั่งหยุดยิงแทนที่จะเป็นสัญญาสันติภาพ ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังกรุ่นดังที่กล่าว

ในยุคหลัง ความพยายามในการรวมชาติก็ยังไม่ได้หมดสิ้นไป ในปี ค.ศ. 1972 สองเกาหลีได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลีอย่างจริงใจ

ในปี ค.ศ. 1991 ก็มีการลงนามในข้อตกลงในสัญญาการปรองดอง ภายใต้การร่วมมือ, แลกเปลี่ยน และไม่รุกราน ซึ่งความจริงแล้วนั่นก็ดูเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในขั้นตอนที่มหาศาลที่จะรวมชาติกันได้

ในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2000 ระหว่าง คิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือและ คิม แด จุง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในการประชุมครั้งนั้นนำไปสู่การยอมรับแถลงการณ์ร่วมในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งมีเนื้อหาที่พูดถึงภาพใหญ่ของ road map การรวมชาติในแบบสันติวิธีอยู่ในนั้นด้วย

การรวมชาติของสองเกาหลียังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่นานมานี้ก็มีการประชุมสุดยอดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปี 2561 โดย คิม จอง อึน และประธานาธิบดี มุน แจ อิน แต่ก็อย่างที่ทราบกันดี ยิ่งเวลาผ่านเนิ่นนาน ความแตกต่างก็ยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศขยับห่างขึ้นจนภาพมัว ทำให้เรื่องการรวมชาติไม่ใช่เรื่องง่ายดายอีกต่อไปแล้ว หลายปัจจัยที่อ่อนไหวกลายเป็นเสาค้ำในปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดและเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ข่าวดีก็คือ การรวมชาติของเกาหลีทั้งสองยังอยู่ในแผน และดำเนินการต่ออย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เรื่องราวทั้งหมดถ้าอ่านดี ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่เพียงประวัติศาสตร์ แต่มันคือบทเรียน ที่หากว่าประเทศอื่น ๆ ศึกษาให้ดีก็จะสามารถหลีกเลี่ยงจุดจบที่เป็นความแตกแยกและสูญเสียได้ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เป็นการปั่นหัวแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ เพราะแม้เวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้ว การแทรกแซงต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนยุทธวิธีเท่านั้น

เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยง ๆ เพราะหากแยกขาดจากกันแล้ว บางประเทศอาจจะไม่โชคดีพอที่จะยืนหยัดเพื่อแก้ไขปัญหา หรือหายใจได้นานจนถึงวันที่ชาติรวมกันได้อีกครั้ง

วันนี้ยังไม่สาย มาจับมือกันไว้แน่น ๆ ดีกว่าครับ

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า