เมื่อจักรพรรดิเมจิมีพระราชประสงค์จะให้ ในหลวง ร.6 เป็นลูกเขย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในปี พ.ศ. 2444 แล้ว ทรงเสด็จนิวัตประเทศไทย ด้วยเรือโดยสารฟิชต์บิสมาร์คโดยเส้นทางจากประเทศอเมริกามายังญี่ปุ่น ก่อนที่จะประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งออกไปรับเสด็จถึงประเทศญี่ปุ่นกลับเข้ามากรุงเทพฯ

ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประพาสประเทศญี่ปุ่นอยู่เป็นเวลาเดือนเศษนั้น จักรพรรดิเมจิได้มีพระกระแสรับสั่งผ่านอธิบดีกระทรวงวังมายังพระยาประดิพัทรภูบาล ให้กราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่า องค์พระจักรพรรดิมีพระธิดาอยู่ 3 พระองค์ และมีพระราชประสงค์จะถวายให้เป็นพระชายาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์หนึ่ง ซึ่งพระธิดาทั้งสามพระองค์นี้กำลังจะประพาสสวน จึงกราบทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้เสด็จมาพบปะทำความรู้จักกัน หากทรงพอพระทัยพระธิดาพระองค์ไหนก็จะทรงยกให้เป็นพระชายา

พระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือ จักรพรรดิเมจิ ทรงราชาภิเษกสมรสกับ จักรพรรดินีฮารูโกะ (จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง) ที่แม้จะทรงเป็นพระอัครมเหสี แต่เนื่องจากปัญหาพระพลานามัยจึงทำให้ไม่มีพระโอรสธิดา แต่จักรพรรดิเมจิยังมีพระโอรสธิดาทั้งสิ้น 15 พระองค์ ซึ่งเกิดจากพระสนม

ในบรรดาพระโอรสธิดาของจักรพรรดิเมจิทั้ง 15 พระองค์นั้น เป็นพระธิดา 10 พระองค์ โดยในปี พ.ศ. 2445 พระธิดาที่ยังทรงพระชนม์ชีพมีอยู่ 4 พระองค์ ซึ่งล้วนประสูติในพระสนมซะชิโกะทั้งสิ้น คือ

  1. เจ้าหญิงมาซาโกะ เจ้าทาซูเนะ พระชันษา 15 ปี
  2. เจ้าหญิงฟูซาโกะ เจ้าคาเนะ พระชันษา 13 ปี
  3. เจ้าหญิงโนบูโกะ เจ้าฟูมิ พระชันษา 12 ปี
  4. เจ้าหญิงโทชิโกะ เจ้ายาซุ พระชันษา 7 ปี

การที่จักรพรรดิเมจิให้อธิบดีกระทรวงวังกราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่าทรงมีพระธิดา 3 พระองค์นั้น อาจเป็นเพราะทรงมีพระธิดาที่ถึงวัยจะเสกสมรสเพียง 3 พระองค์ เนื่องจากเจ้าหญิงโทชิโกะ เจ้ายาซุ ทรงมีพระชันษาเพียง 7 ปี ยังทรงพระเยาว์เกินไป

ถึงแม้ว่าธรรมเนียมการพระราชทานพระธิดาให้กับเจ้าต่างประเทศ หรือพระราชาธิบดีต่างประเทศ จะเป็นเรื่องปกติในการเจริญสัมพันธไมตรี แต่สำหรับประเทศในแถบยุโรป การสมรสระหว่างเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงได้สร้างปัญหาอย่างมากในประเด็นการสืบราชบัลลังก์ เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่กษัตริย์อาณาจักรหนึ่งมีสิทธิในราชบัลลังก์อีกอาณาจักรหนึ่งจนอาจทำให้เกิดการผนวกดินแดนขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น บางยุคกษัตริย์อังกฤษมีเชื้อสายจากชาติอื่น ทำให้ในยุคนั้นราชสำนักอังกฤษต้องใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน ในการสื่อสารแทน เพราะกษัตริย์ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ

สำหรับประเทศไทย การเสกสมรสของเจ้านายชั้นสูง ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดด้วยกรอบประเพณีที่กำหนดให้ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงชาติกำเนิดอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากค่านิยมของราชสำนักไทยที่ถือกันว่า เชื้อชาติต่างเชื้อชาติที่ยอมรับให้เจ้านายชั้นสูงเสกสมรสกันได้ คือ ลาว เขมร หรือมอญ เท่านั้น แต่ถ้าเป็นเชื้อชาติอื่นหรือนับถือศาสนาอื่น ราชสำนักไทยค่อนข้างที่จะยอมรับได้ยาก และไม่เพียงแค่ในประเด็นของเชื้อชาติเท่านั้น ยังมีเรื่องของชนชั้นด้วย ซึ่งหากเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงจะเสกสมรสกับคนที่ต่างชนชั้นกัน ถึงแม้จะยอมให้เสกสมรสได้ แต่หญิงนั้นจะไม่สามารถมีฐานะเป็นภรรยาหลวงหรือสะใภ้หลวงได้ และสำหรับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ลูกที่เกิดมาจะมีฐานะเป็นเจ้าฟ้าได้ ต้องเกิดจากมารดาที่เป็นสะใภ้หลวงหรือเป็นเจ้าเท่านั้น

สำหรับกรณีที่จักรพรรดิเมจิทรงยกพระธิดาพระองค์หนึ่งให้เป็นพระชายาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้น ปรากฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ให้พระยาประดิพัทรภูบาลไปบอกแก่อธิบดีกรมวังของญี่ปุ่น ให้ทูลจักรพรรดิเมจิได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แต่ไม่สามารถจะรับพระเมตตาได้ เพราะพระองค์ (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) ยังเด็กนักที่จะมีภรรยา

ซึ่งหากมองในอีกแง่หนึ่งการที่ ในหลวง ร.6 ทรงปฏิเสธจักรพรรดิเมจิไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหากพิจารณาในแง่ของค่านิยมประเพณีของไทย เพราะจารีตประเพณีของราชสำนักไทยถือว่าบุตรเป็นทรัพย์ของบิดามารดา การที่บุตรจะสมรสต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเสียก่อน ดังนั้น ในหลวง ร.6 จึงไม่ทรงอยู่ในฐานะที่จะตัดสินพระทัยได้เองโดยลำพัง

และในอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจของเอเชีย ซึ่งถือเป็นชาติเดียวในเอเชียที่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศมหาอำนาจในยุโรป ดังนั้น หากประเทศไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป อาจสร้างผลกระทบให้กับการดำเนินนโยบายทางการทูตของไทยในเวลานั้นก็เป็นได้ เนื่องจากประเทศไทยในสมัยนั้นตกอยู่ในอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคม นโยบายของไทยจึงต้องวางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เหมาะสม ด้วยการถ่วงดุลประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ไม่ให้มีประเทศใดประเทศหนึ่งมีอิทธิพลกับไทยมากเกินไป

ด้วยการรักษาระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ของไทยกับราชวงศ์ญี่ปุ่นในครั้งนั้น ส่งผลให้ในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์การเมืองของโลกพลิกผัน ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฝ่ายอักษะ ส่วนในประเทศไทยพระมหากษัตริย์ก็พระราชทานอำนาจการปกครองให้กับรัฐสภาไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นผลดีที่ทำให้ไทยกับญี่ปุ่นไม่ผูกมัดกันจนเกินไป และทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 น้อยกว่าญี่ปุ่นมาก

ทั้งหมดนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการเจริญสัมพันธไมตรีด้วยการเสกสมรสของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงระหว่างสองประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบแนวคิดทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นไปตามบริบทของยุคสมัย รวมถึงแง่มุมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินพระทัยของในหลวง ร.6 นั้น ได้ส่งผลในเชิงบวกให้กับสยามประเทศในเวลาต่อมา

อ้างอิง :

[1] (2508). เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ. โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
[2] Emperor Meiji, Family and issue