การปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สอดคล้องกับประเพณีการปกครอง

สถาบันพระมหากษัตริย์ คือหนึ่งในสถาบันอันเก่าแก่ของประเทศชาติ ที่ได้ดำรงสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน (continuity) โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งถือได้ว่ามีจุดกำเนิดเก่าแก่มานานนับพันปี ด้วยเหตุนี้ทำให้สถาบันกษัตริย์มักต้องเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาโดยตลอด นับตั้งแต่การถูกลดทอนอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงทีละน้อย จนกระทั่งพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นเพียงแค่ประมุขของประเทศ ที่ไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป ซึ่งในประเทศอังกฤษ กระบวนการนี้ได้ดำเนินมากว่า 800 ปีแล้ว

สำหรับประเทศไทยนั้น ก็ได้ผ่านมากว่า 80 ปีแล้ว นับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม ในปี พ.ศ. 2475 ที่พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนสถานะจากผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปนานแค่ไหน พลวัตของประเพณีการปกครองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะประเทศใดบนโลก ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “จุดลงตัว” หรือ “ขั้นตอนสุดท้าย” ตามที่นักนิยมสาธารณรัฐบางคนพยายามชี้นำ เพราะว่าการขับเคลื่อนของประเพณีการปกครองนี้ จะปรับตัวไปเรื่อย ๆ ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตราบเท่าที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงดำรงอยู่ตามเงื่อนไขธรรมชาติ ที่ไม่ถูกยุยง ปลุกปั่น (agitation) บิดเบือน และด้อยค่าจนทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความรู้สึกต่อต้าน และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

การที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอีกต่อไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอำนาจหรือบารมีใด ๆ หลงเหลือเลย พระองค์ยังทรงมีพระราชอำนาจ (prerogative) ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์มาแต่เดิม ที่ไม่ว่าใครหรือสถาบันใด ๆ ของสังคมก็ไม่สามารถพรากไปจากพระองค์ได้ ยกเว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบที่ไม่มีพระมหากษัตริย์อีกต่อไป พระราชอำนาจของพระองค์จึงจะหมดลงไปด้วย

เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนของประเพณีการปกครอง หรือกระทั่งการเมืองการปกครอง จะต้องดำเนินไปพร้อมกับการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือถ้าความต้องการของประชาชนในประเทศเป็นไปในทิศทางใด พระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแทนของปวงชน ย่อมต้องทรงรับรู้และตอบสนองความต้องการของประชาชนในส่วนนั้น

เรามาดูตัวอย่างกรณีของ พระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ (ครองราชย์ ค.ศ. 1837 – 1901) ซึ่งนับว่าเป็นประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ โดยกินระยะเวลาคาบเกี่ยวระหว่างรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) จนถึงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ของประเทศไทย

พระนางเจ้าวิคตอเรียทรงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางด้านประเพณีการปกครองหรือรัฐธรรมนูญตลอดรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ เนื่องจากสถานการณ์ที่ผันผวนของโลกในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสที่มีการแพร่แนวคิดสาธารณรัฐเข้ามาในอังกฤษ และการขยายตัวของระบอบอาณานิคม ซึ่งอังกฤษในเวลานั้นถือว่าเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก

แม้ว่าในขณะนั้น ประเทศอังกฤษ (บริเตน) จะเป็นประเทศที่มีความรุ่งโรจน์ ถึงขนาดเรียกกันว่าเป็น “จักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” แต่อำนาจอันแท้จริงในการบริหารราชการแผ่นดินของพระนางเจ้าวิคตอเรียนั้น กลับลดน้อยลงเรื่อย ๆ มาตั้งแต่ก่อนทรงครองราชย์แล้ว โดยอำนาจส่วนใหญ่ได้ตกไปอยู่ในมือของบรรดานักการเมืองและขุนนางในสภาเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) ตามระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่ารัฐสภาเป็นใหญ่ (Parliamentary Supremacy) และรัฐสภาก็มีแนวโน้มจะถืออำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่พระมหากษัตริย์

ในช่วงที่พระนางเจ้าวิคตอเรียทรงครองราชย์นี้ พลวัตของประเพณีการปกครองของประเทศอังกฤษ ได้ถูกอธิบายไว้อย่างละเอียดและเป็นวิชาการ ในหนังสือที่ชื่อว่า The English Constitution (กฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ) ที่เขียนโดย Walter Bagehot ในปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) ก่อนจะมีการแก้ไขต่อมาในปี ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) งานชิ้นนี้ถือว่าเป็นการวางรากฐานของประเพณีการปกครองของประเทศอังกฤษ (กล่าวอย่างแคบ คือ รัฐธรรมนูญของอังกฤษ) มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา ฝ่ายบริหาร และสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีตำราเล่มไหน ที่ได้รวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับหลักการพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ให้พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีแห่งอังกฤษทรงยึดถือและปฏิบัติตาม มาก่อนเลย จนกระทั่งหนังสือสำคัญเล่มนี้ได้ถูกตีพิมพ์ขึ้น

แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า พระนางเจ้าวิคตอเรียจะเคยทอดพระเนตรหนังสือเล่มนี้หรือไม่ แต่พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามแนวทางที่ปรากฏในหนังสือ The English Constitution ของ Walter Bagehot มาโดยตลอด นั่นคือการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ควรมีหลักการปฏิบัติตนเช่นไร เพื่อให้สอดคล้องกับประเพณีการปกครอง

ในปัจจุบันนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ และในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ยึดหลักพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แบบอังกฤษ รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยด้วย ต่างยึดถือตรงกันว่า The English Constitution ของ Walter Bagehot เป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อการปฏิบัติตนของพระองค์ต่อรัฐสภา รัฐบาล และประชาชน

นี่คือตัวอย่างประเพณีการปกครองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าพลวัต หรือที่เรียกกันว่า “การขับเคลื่อน” หรือ “การปรับตัว” ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ได้หยุดนิ่งหรือแช่แข็งตามที่นักนิยมสาธารณรัฐพยายามชี้นำแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้น การเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย จึงไม่ใช่ของใหม่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว อย่างเป็นธรรมชาติ และการเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปใด ๆ ก็แล้วแต่ ควรวางอยู่บนหลัก “ติเพื่อก่อ” และการให้เกียรติ ไม่ใช่บิดเบือนด้อยค่าอย่างสาดเสียเทเสีย ที่สำคัญคือข้อเสนอเหล่านั้นควรวางอยู่บนหลักวิชาการ และสอดรับกับประเพณีการปกครองของประเทศนั้น ๆ ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าลอกหรือเอาอย่างใคร โดยไม่เคยทราบถึงที่มาที่ไปและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเลย

อ้างอิง :

[1] Walter Bagehot , The English Constitution (1872)
[2] Vernon Bagdanor, Queen Victoria Transcript (2016)