จุดแตกหักจากความวุ่นวายของ ‘กบฏผีบุญอีสาน’ และความชอบธรรมในการกวาดล้างของรัฐบาลสยาม

กรณี “กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน” เมื่อปี พ.ศ. 2444 สมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ฝั่งรัฐบาลสยามนั้น ในเบื้องต้นทางรัฐบาลไม่สู้จะสนใจขบวนการผู้มีบุญเหล่านี้มากมายนัก และได้เรียกขบวนการเหล่านี้ว่า “ผีบุญ” เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะเป็นกลุ่มคนที่สมเด็จกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงมองว่า “คิดหากินด้วยหลอกลวงราษฎร” นอกจากนั้น รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็เชื่อว่าราษฎรที่หลงเชื่อคำหลอกลวงเหล่านี้ ไม่นานก็คงคลายความนิยม แต่การณ์ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อปล่อยไว้นานวัน พวกกลุ่มผู้มีบุญก็กลับกำเริบเสิบสานขึ้นทุกทีๆ

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2444 ขบวนการผู้มีบุญได้ขยายแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลสยามครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดข้างต้นได้ปรากฏผู้มีบุญทั้งกลุ่มใหญ่กลุ่มเล็กจำนวนหลายกลุ่ม ที่เริ่มอ้างตนเป็นผู้วิเศษ และออกไปสั่งสอนหลอกลวงชาวบ้านให้หลงเชื่อศรัทธาในพวกตนอย่างงมงาย ส่วนทางด้านดินแดนลาวของฝรั่งเศสในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เกิดการลุกฮือของพวกข่าในแถบเมืองอัตตะปือ สาละวัน จำปาศักดิ์ แม้กระทั่งเจ้าเมืองท้องถิ่นของพวกข่าก็ร่วมมือกับขบวนการผู้มีบุญเหล่านี้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่แพร่ปกคลุมไปทั่วดินแดนแถบแม่น้ำโขง

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า เครือข่ายผู้มีบุญเป็นเครือข่ายของพวกขุนนางท้องถิ่นลาว/ข่า โดยมีหลักฐานยืนยันถึงความเชื่อมโยงของการก่อความวุ่นวาย ปล้นฆ่าราษฎรทั้งในเขตลาวของฝรั่งเศสและไทย ระหว่างกลุ่ม องค์แก้วหรือบักมี (ชาวข่าในเขตลาว) กับ องค์มั่นหรือวัน (ชาวลาวแขวงสุวรรณเขตที่เข้ามาเคลื่อนไหวก่อเหตุความวุ่นวายในฝั่งไทย) อีกด้วย

สำหรับเหตุการณ์รุนแรงที่สุด ที่รัฐไทยได้แสดงแสนยานุภาพทางกำลังทหารและอำนาจรัฐ ให้พวกขบวนการผู้มีบุญเห็นว่า สยามจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการกบฏที่ก่อเหตุละเมิดกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะอาญาแผ่นดิน (การกบฏต่อแผ่นดินและการบุกชิงปล้นฆ่า) อีกต่อไปนั้น ได้แก่การปราบปรามกลุ่มองค์มั่นหรือวันอย่างรุนแรง ณ บ้านสะพือใหญ่ เมืองอุบลราชธานี ในฤดูร้อนเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ. 2445 (ตามปฏิทินใหม่) เหตุการณ์นี้ ถูกเรียกในสมัยหลังว่า “ทุ่งสังหารที่บ้านสะพือ”

เหตุการณ์เริ่มต้นจากกลุ่มผู้มีบุญองค์มั่น (ชาวลาวสุวรรณเขต) ได้ประกาศตั้งตนว่าเป็น “ท้าวธรรมิกราช” และประกาศรวบรวมกำลังคนทั้งอาวุธประเภทปืนและมีดดาบ เพื่อเตรียมความพร้อมสู้รบกับรัฐบาลสยามอย่างเต็มรูปแบบ

องค์มั่นได้แต่งตั้งพรรคพวกบริวารขึ้นเทียมผู้วิเศษหลายคน อาทิ องค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์ที องค์พระบาท องค์พระเมตรไตรย และองค์เหลือง ซึ่งลูกน้องแต่ละองค์ต่างแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยผืนผ้าอาภรณ์เป็นที่สะดุดตา อาทิ แต่งตัวสีเขียวหรือสีฉูดฉาด เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความประทับใจจนเกิดความศรัทธา และให้มีการแบกหามไปในที่ต่างๆ เพื่อสร้างจุดสนใจให้แก่คนที่พบเห็นด้วย

ต่อมาเมื่อมีผู้เข้าร่วมขบวนการมากขึ้นเรื่อยๆ องค์มั่นได้เกิดความทะเยอทะยานตั้งต้นคิดการใหญ่ กระทั่งวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2445 พวกผู้มีบุญได้นำกำลังเข้าบุกปล้นและเผาเมืองเขมราฐ รวมถึงได้สังหารกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ของเมืองไปด้วย 2 ราย ได้แก่ ท้าวกุลบุตรและท้าวโพธิสาร ส่วนข้าหลวงของเมืองได้แก่ พระเขมรัฐเดชประชารัฐ ได้ถูกพวกผู้มีบุญจับเป็นตัวประกันไว้

การสังหารข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเมืองเขมราฐ และจับตัวข้าหลวงซึ่งเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่โตเพราะเป็นอาญาแผ่นดิน และย่อมต้องมีโทษประหารชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น การประหารชีวิตพวกกบฏผีบุญของรัฐบาลในเวลาต่อมา จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบธรรมอย่างมิพักต้องสงสัย

หลังจากบุกปล้นเผาเมืองเขมราฐแล้ว ฝ่ายองค์มั่นได้มุ่งหน้าไปยังบ้านสะพือใหญ่ เพื่อเตรียมการบุกปล้นเมืองอุบลราชธานีเป็นเป้าหมายต่อไป ระหว่างนั้นฝ่ายรัฐบาลได้ดำเนินการออกสืบลาดเลาพวกกบฏผีบุญ (ต่อไปนี้จะเรียกว่ากบฏ เพราะการกระทำความผิดฐานกบฏได้เกิดขึ้นแล้ว) แต่กลับถูกพวกกบฏซึ่งมีจำนวนมากมายกว่าหลายเท่าตามไล่ฆ่าฟัน การปะทะกันครั้งหนึ่งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกบฏ ปรากฏว่า มีทหารฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นกำลังทหารราบอุบลฯ เหลือรอดชีวิตไปได้แค่คนเดียวจาก 12 คน ส่วนที่เหลือถูกพวกกบฏสังหารจนหมดสิ้น การชนะกำลังของรัฐบาลในครั้งนี้ ได้สร้างความผยองและมั่นใจในบุญญาธิการขององค์มั่นในสายตาบรรดาสาวก และขบวนการกบฏมากยิ่งขึ้น

ในที่สุด ฝ่ายรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจขั้นแตกหัก หลังจากได้สืบทราบแน่ชัดว่าฝ่ายกบฏต้องการที่จะบุกปล้นเมืองอุบลราชธานี การนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ได้ทรงสั่งการให้กำลังทหารในพื้นที่นำโดยหลวงสรกิจพิศาล นำพลทหารจำนวน 100 กว่าคน พร้อมด้วยปืนใหญ่และอาวุธปืนทันสมัย ร่วมกับชาวบ้านเมืองอุบลฯ ภายใต้การนำของ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (รักษาการเจ้าเมืองอุบล) เพื่อเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏผีบุญที่นำโดยองค์มั่น

ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2445 สงครามระหว่างกองกำลังรัฐบาลร่วมกับประชาชนชาวอุบลฯ กับพวกกบฏผีบุญก็ได้ปะทุขึ้น ฝ่ายรัฐบาลได้ล่อให้ฝ่ายกบฏตายใจเสียก่อน ด้วยการแสร้งทำเป็นยิงปืนใหญ่พลาดไป ฝ่ายกบฏเมื่อเห็นว่าอาวุธสมัยใหม่ไม่สามารถทำอะไรพวกตนได้เลย ประกอบกับที่ผ่านมาเป็นฝ่ายมีชัยมาตลอด ก็ได้บังเกิดความฮึกเหิมแล้ววิ่งกรูเข้ามาหาฝ่ายทหารรัฐบาลที่กำลังตั้งรับอยู่ ด้วยคิดว่าพวกตนมีวิชาคงกระพันแคล้วคลาด

เมื่อเป็นไปตามแผน กระสุนปืนใหญ่และปืนยาวปืนสั้นของฝ่ายรัฐบาลและชาวเมืองอุบลฯ ได้ระดมยิงไปยังฝ่ายกบฏองค์มั่นที่กำลังกรูเข้ามา จนบาดเจ็บล้มตายระเนระนาดกว่า 300 ศพ ฝ่ายกบฏเมื่อเห็นว่าพวกตนไม่ได้อยู่ยงคงกระพันก็พากันหวาดกลัวแตกพ่ายหนีหายกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ องค์มั่นหัวหน้าฝ่ายกบฏ ได้ปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีไป ปล่อยให้พี่น้องร่วมขบวนการต้องถูกจับกุมและประหารชีวิตอย่างไม่แยแส

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์นี้ จะเห็นได้ว่า ฝ่ายกบฏผู้มีบุญต่างหากที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงก่อนในช่วงการปราบปรามจลาจล ทั้งการปล้นเผาเมืองเขมราฐ เข่นฆ่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเป็นรัฐบาลเองที่เป็นฝ่ายตั้งรับมาโดยตลอด เมื่อมาถึงเหตุการณ์การปะทะกับรัฐบาล ก็เป็นพวกกบฏเองที่ตัดสินใจวิ่งกรูเข้าหาคมของลูกกระสุนปืน เพราะมั่นใจว่าตนเองมีคาถาอาคมป้องกัน มิใช่เป็นเพราะการล้อมปราบล้อมยิงตามที่พวกกลุ่มการเมืองบางกลุ่มพยายามใส่สีตีไข่บิดเบือนประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

นอกจากนั้น ไม่นานมานี้ ได้มีการนำลายพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 เรื่องที่ทรงอนุญาตให้มีการประหารชีวิตพวกกบฏผีบุญหลายๆ แห่งในภาคอีสาน (เอกสารลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2445) มาบิดเบือนและขยายความเกลียดชังจาก NGO ที่รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศบางกลุ่ม ด้วยการตราว่าเป็น “คำสั่งฆ่าของรัชกาลที่ 5”

แต่แท้จริงแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชอำนาจชอบธรรมที่จะทรงสั่งการเช่นนี้ในฐานะทรงเป็น “เจ้าชีวิต” ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกทั้งโทษกบฏเป็นอาญาแผ่นดิน ซ้ำร้ายที่สุดคือมีการปล้นเผาเมือง จับเจ้าเมือง และฆ่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเมืองเขมราฐ ดังนั้นการลงโทษขั้นสูงสุดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบธรรมแล้ว และยิ่งมีการอ้างว่าผู้มีบุญเป็นผู้วิเศษ อยู่ยงคงกระพันไม่มีวันตาย ดังนั้น การลงโทษประหารและประจานเพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ความจริงว่า กบฏเหล่านี้แท้จริงเป็นแค่พวกแอบอ้างว่าเป็นผู้มีบุญ ที่พยายามหลอกลวงผู้คนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง จึงเป็นพระบรมราชโองการที่เหมาะสมแก่ยุคสมัยแล้วทีเดียว

ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับ “กบฏผีบุญอีสาน” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากขุนนางท้องถิ่นที่เสียผลประโยชน์จากการปฏิรูประบบภาษี แล้วใช้อภินิหารศรัทธาหลอกลวงปลุกระดมชาวบ้าน ให้ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลกรุงเทพฯ จนเกิดเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้น กระทั่งมีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มพยายามนำประวัติศาสตร์ช่วงนี้มาบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดให้คนเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] สายสกุล เดชาบุตร. กบฏไพร่หรือผีบุญ : ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของราษฎรกับอำนาจรัฐเหนือแผ่นดินสยาม. (กรุงเทพฯ : 2555). สำนักพิมพ์ยิปซี.
[2] เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. (กรุงเทพฯ : 2551). สำนักพิมพ์มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ละมนุษยศาสตร์.
[3] John Murdoch . Millennialism, Charisma and Utopia: Revolutionary Potentialities in Pre-modern Lao and Thai Theravāda Buddhism.
[4] สำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 3 พฤษภาคม ร.ศ. 121.
[5] John B. Murdoch . The 1901-1902: Holy Man’s Rebellion (1974)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า