หมอลำเพื่อชาติ เมื่อหมอลำถูกขับร้องเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์

ประเทศไทยนั้นต้องประสบกับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ในอดีตโดยมีความตึงเครียดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่ารอบๆ ไทยตอนนั้นได้เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์กันหมดจนเกิดความกังวลที่แพร่หลายกันในยุคนั้นว่า ไทยจะเป็น “โดมิโน” ตัวถัดไปที่จะล้มลง และสุดท้ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นสีแดงทั้งหมด [1] ด้วยสภาวะเช่นนี้จึงทำให้ประเทศที่ยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ได้พยายามหาทางต่างๆ อย่างสุดกำลังในการต่อต้าน และไม่ว่าจะต่อต้านด้วยเหตุผลใดแต่ก็มีเป้าหมายร่วมกันคือ สีแดงจะต้องไม่แพร่ต่อไปอีก

ด้วยความพยายามนี้ทำให้ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่เป็นสีแดงได้ร่วมมือกันในหลายประเด็น [2] และแต่ละประเทศก็ยังมีวิธีในการรับมือกับคอมมิวนิสต์ในเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย โดยสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาร่วมมือกับหลายประเทศในการร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้หลายๆ วิธีในการต่อสู้ โดยหนึ่งในนั้นคือวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง “หมอลำ” ที่ถูกใช้ขับร้องเพื่อชี้ให้เห็นถึงอันตรายของคอมมิวนิสต์

หมอลำเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของอีสานที่มีความสนุกครื้นเครง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสอดแทรกเนื้อหาต่างๆ ลงไปได้อย่างแนบเนียนจึงทำให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ศิลปะเช่นนี้จึงทำให้ชาวอีสานในสมัยก่อนที่ยังอ่านออกเขียนไม่ได้ชื่นชอบการฟังหมอลำเป็นอย่างมาก เพราะได้ทั้งความสนุกและความรู้ไปพร้อมกัน [3] ด้วยเหตุนี้หมอลำในฐานะศิลปะพื้นบ้านจึงสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในช่วงที่ไทยเกิดแรงกดดันจากภัยที่เข้ามาจ่อคออย่างคอมมิวนิสต์ได้ ซึ่งการใช้หมอลำนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ศ. 2490 ไปจนถึงช่วง พ.ศ. 2520 อันเป็นการจบยุคแห่งความตึงเครียด

ทางภาคอีสานนั้นมีความสำคัญต่อคอมมิวนิสต์ในแง่ที่ว่านอกจากจะตั้งติดอยู่กับลาวซึ่งเป็นฐานปฏิบัติงานของขบวนการคอมมิวนิสต์แล้ว อีสานยังเจอกับภัยแล้ง การคมนาคมที่ย่ำแย่ และอุทกภัยบ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนในภาคอีสานประสบปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างมาก เมื่อผสมเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่ามีชาวญวนและลาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากส่งผลให้อีสานมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการตั้งฐานปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ในชนบท และในอดีตเองอีสานก็เคยถูกใช้เป็นเพื้นที่เคลือนไหวมาแล้วอย่างขบวนการกู้ชาติของโฮ จิ มินห์ เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากชาวญวนและชาวอีสานในการเผยแพร่คอมมิวนิสต์

ความพยายามแรกของการใช้หมอลำเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้นมาจากสำนักข่าวสารอเมริกันซึ่งเคยใช้แล้วประสบความสำเร็จในลาว โดยพวกเขาทดลองนำมาใช้ในภาคอีสานในยุคของจอมพล ป. ช่วงปลาย พ.ศ. 2490 โดยประยุกต์ให้เหมาะกับบริบทของไทย และในขณะเดียวกันนอกจากหมอลำแล้วก็ยังมีการใช้ลิเกอันเป็นศิลปะพื้นบ้านอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยในการใช้เพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์ต้านคอมมิวนิสต์

ในช่วงที่การใช้หมอลำถูกยกระดับขึ้นนั้น เกิดในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในยุคนี้พรรคคอมมิวนิสต์ได้มีการจัดรายการวิทยุประชาชนแห่งประเทศไทยเพื่อโจมตีรัฐบาล รัฐบาลจึงได้จัดตั้งรายการเพื่อแผ่นดินไทยโดยหน่วยงานทหารทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและถ่ายทอดไปทั่วประเทศไทยซึ่งทำให้เข้าถึงทุกท้องที่ จอมพลสฤษดิ์มีส่วนโดยตรงต่อการสนับสนุนการใช้หมอลำโดยได้จัดตั้งสมาคมส่งเสริมหมอลำอีสานขึ้น โดยการใช้หมอลำนี้จะใช้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางหนึ่งที่จะปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมลงไป และมีการจัดประกวดโดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลจากพลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกฯ ขณะนั้นกับมือ และอีกทางหนึ่งคือหมอลำใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นจริงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนอีสาน รวมไปถึงสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่รักในรัฐบาล

ในช่วงยุคจอมพลสฤษดิ์นี้ยังได้มีนำข่าวสารการพัฒนาบ้านเมืองมาแต่งเป็นกลอนลำในการอ่านออกวิทยุอีกด้วย ต่อมาในสมัยของจอมพลถนอมนั้นก็ได้ดำเนินการในการใช้หมอลำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแต่งหมอลำโดยหมอลำเคน ดาเหลา ที่ขึ้นไปลำบนเฮลิคอปเตอร์ที่ภูแผงม้าและภูหมู จังหวัดอุบลราชธานี โดยเชิญชวนผู้หลงผิดให้เข้ามอบตัว หรือหมอลำสมาน หงษา ที่ได้แต่งกลอนลำให้ชาวอีสานกลับใจและร่ายบนรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง

ตัวอย่างกลอนลำซึ่งมีการบันทึกเอาไว้เมื่อออกกาศผ่านวิทยุที่ขอนแก่นมีว่า “อย่าสิไปหลงต้มหลมเขาล้ออ่อย เห็นไปนอ อินโดจีนแตกจ้อยเป็นย้อนอีหยัง พวกคนลาวจนบ่มีบ่อนยั้งไหลหลั่งมาไทย มาอาศัยบุญเฮาเบิ่งเอาเห็นแล้ว แกวเขมรมาเข้าเมืองเฮาซ้มฮ่ม นั่นละพ่อ อินโดนจีนเพิ่มหล่มเป็นแล้วเบิ่งไป พวกพี่น้อง อย่าสิคึดอยากได้เป็นฝ่ายทางแดง แพงเอาเด้อเฮาฮักห่วงกันเอาไว้ ไผกะดีขอให้ รักษาไทยตุ้มหล่ำ”

หมอลำที่ใช้นั้นดังที่ได้กล่าวไปว่าแม้จะมาจากรัฐ แต่เนื้อหาไม่ได้ให้นิยมรัฐ กลับส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งในบางครั้งหมอลำที่ถูกแต่งออกมาก็ถูกใช้โจมตีผู้นำรัฐบาลเองด้วย อย่างไรก็ดีในช่วง พ.ศ. 2505, 2507 และ 2511 เป็นช่วงที่ชาวอีสานได้ฟังหมอลำจากวิทยุมากที่สุด โดยกลอนลำจากรัฐบาลนั้นจะเน้นถึงเรื่องประชาธิปไตยและการพัฒนา ซึ่งบางครั้งเป็นสิ่งที่ไกลตัว ในขณะที่ฝั่งคอมมิวนิสต์เองก็ใช้หมอลำในการดึงดูดชาวอีสานด้วย แต่ฝั่งคอมมิวนิสต์สามารถเข้าถึงจิตใจคนอีสานได้มากกว่าเพราะใช้เนื้อหาที่ใกล้ตัวอย่างความยากลำบาก ซึ่งทำให้เอาเข้าจริงแล้วฝ่ายคอมมิวนิสต์กลับประสบความสำเร็จมากกว่าในการใช้หมอลำ แต่การใช้หมอลำของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นต้องสิ้นสุดลงเมื่อพรรคต้องขยายเขตการทำงาน คณะที่เป็นผู้แต่งหมอลำนั้นจึงต้องรับผิดชอบงานมากขึ้นและสุดท้ายก็สลายตัวไป ชาวอีสานที่ถูกดึงดูดไว้จึงเกิดการคิดถึงด้วย เช่น “หมอลำ ทปท. [คณะหมอลำกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย] ไปทางได๋ คิดฮอดหลาย”

อย่างไรก็ดี พรรคคอมมิวนิสต์ก็ถึงจุดจบลงในภายหลัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือ คนอีสานได้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองขึ้นโดยวิถีทางแห่งพื้นบ้าน วิถีแห่งหมอลำจึงได้มอบพื้นที่ทางการเมืองใหม่ให้กับคนอีสานนั่นเอง

อ้างอิง :

[1] ศึกษาใน Ang Cheng Guan, “The Domino Theory Revisited: The Southeast Asia Perspective,” War & Society Vol. 19 No. 1 (2001): 109-130.
[2] ดูใน สุรพงษ์ ชัยนาม, ไทยกับอาเซียนในยุคสงครามเย็น: มิติด้านการเมืองและความมั่นคง (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2564).
[3] เรียบเรียงจาก สุรศักดิ์ สาระจิตร์, “หมอลำต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (ปลายทศวรรษ 2490 ถึงต้นทศวรรษ 2520),” วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564): 139-168.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า