เกร็ดประชาธิปไตย ‘เสรีภาพในการชุมนุม’ ของอเมริกาและฝรั่งเศส

เปิดการชุมนุมตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา

เดิมนั้นอเมริกาเป็นอาณานิคมหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษซึ่งปกครองชาวอเมริกันอย่างกดขี่และไม่เป็นธรรมในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้ชาวอเมริกันไม่พอใจและลุกขึ้นต่อสู้จนสามารถประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษได้ในปี ค.ศ.1776 ซึ่งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ได้หล่อหลอมให้ชาวอเมริกันรักและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของตนเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชัดเจนก็คือรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1787 ซึ่งได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอเมริกันเอาไว้มากมาย รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบก็ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยจะเป็นการชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ได้ เช่น การชุมนุมทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือทางศาสนา เป็นต้น

เสรีภาพในการชุมนุมนี้ยังมีขอบเขตครอบคลุมไปถึงเสรีภาพที่จะเข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งขยายต่อไปถึงเสรีภาพที่จะไม่เข้าร่วมสมาคมกับใครอีกด้วย (right not to associate) โดยรัฐไม่สามารถบังคับให้บุคคลใด ๆ ต้องเข้าร่วมกับกลุ่มคนใด ๆ ที่บุคคลนั้นไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาก็มิได้มีกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ใช้กฎหมายอื่น คือ กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกเวลา ทุกสถานที่ ตราบเท่าที่ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แต่จะมีหลักเกณฑ์ในการชุมนุมเพียงอย่างเดียวก็คือต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทราบถึงการชุมนุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะได้เข้ามารักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกกับการชุมนุมของประชาชนอันเป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในสหรัฐอเมริกาก็มิได้มีอำนาจห้ามการชุมนุมของประชาชน จะมีก็แต่อำนาจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นที่มิได้เข้าร่วมในการชุมนุมมิให้ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมเท่านั้น หากผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็สามารถจับกุมตัวผู้ชุมนุมที่ก่อให้เกิดความเสียหายไปดำเนินคดีฐานชุมนุมโดยผิดกฎหมายหรือฐานก่อให้เกิดการจลาจล ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในประเทศสหรัฐอเมริกาได้

ดังนั้น ประชาชนชาวอเมริกันสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา ตราบใดที่ไม่ก่อให้ให้เกิดความเสียหายแก “ผู้อื่น” ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุมในสหรัฐอเมริกาเป็นการเฉพาะเจาะจง ทำให้เสรีภาพในการชุมนุมไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมายพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่เพียงกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งเท่านั้นที่สามารถเอาผิดกับผู้ชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเท่านั้น

ประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวความคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1787 โดยสะท้อนถึงแนวความคิดสิทธิเสรีภาพในปรัชญากฎหมายธรรมชาติ จึงทำให้อเมริกามีเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่เป็นจำนวนมากและไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามักจะบัญญัติว่า “ห้ามมิให้สภาคองเกรสออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ” การเขียนแบบนี้เป็นการเขียนในเชิงลบ (Negative) แปลว่าสิทธิเสรีภาพมีอยู่แล้ว ห้ามออกกฎหมายมาจำกัด รัฐมีหน้าที่คุ้มครองเพราะฉะนั้นสิทธิบางอย่างแม้เกิดรัฐขึ้นแล้ว รัฐก็ไม่อาจออกกฎหมายไปจำกัดได้ เช่น สิทธิที่จะพกอาวุธ สามารถซื้อขายอาวุธกันได้โดยอิสระเสรี สิทธิที่จะป้องกันตัวมีมาก่อนมีรัฐ รัฐไม่มีสิทธิที่จะออกกฎหมายมาจำกัด

กฎหมายหลักที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมในสหรัฐอเมริกา คือ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักการพื้นฐานในเรื่องเสรีภาพของการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นถือเป็นสิทธิในทางการเมืองที่จะเป็นหลักประกันว่าการใช้อำนาจรัฐจะเป็นไปด้วยความยุติธรรม รวมทั้งเป็นหลักประกันว่ารัฐจะไม่สามารถออกกฎหมายมาละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ และโดยเหตุที่ระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกาสัมพันธ์กับระบบการเมืองการปกครองแบบสหพันธ์รัฐ (Federal State) ซึ่งมีจะมีรัฐบาลกลาง (Federal Government) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) โดยมีรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นกฎหมายสูงสุดกำหนดโครงสร้างและการใช้อำนาจของรัฐดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลมลรัฐต่าง ๆ จะมีอำนาจ มีรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และศาลเป็นของตนเอง แต่ก็จะไม่อาจดำเนินการใดขัดหรือแย้งกับสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ จึงถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชน

อย่างไรก็ตามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้นย่อมมีขอบเขตจำกัดอยู่ ซึ่งในภายหลังมีเหตุผลอื่น ๆ ตามมาในการกำหนดขอบเขตของเสรีภาพในการชุมนุม เช่น เพื่อความมั่นคงปลอดภัย หรือต้องไม่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

แม้ว่าจะมีการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่บางครั้งการใช้อำนาจรัฐในการดำเนินภารกิจ เช่น การให้บริการสาธารณะดำเนินการสาธารณูปโภค การให้สวัสดิการ รวมไปถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงได้มีการบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ และมีการกำหนดข้อห้ามบางประการซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมได้ โดยทั่วไปรัฐอาจจะออกข้อกำหนดบางอย่างที่อาจเข้ามาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกแต่มักจะเป็นการกดำเนินการก่อนที่่จะมีการกระทำนั้น ๆ (prior restraint) เช่น ออกระเบียบว่าต้องมีการขออนุญาตก่อนดำเนินการหรือมีการกลั่นกรอง (censorship) มากกว่าจะเป็น การที่ปล่อยให้มีการกระทำแล้วค่อยมายึดหรือห้ามหรือจับกุมภายหลัง แม้ว่าข้อจำกัดล่วงหน้านี้ (prior restraint) ไม่ถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกโดยตรงก็ตาม แต่การเปิดโอกาสให้ใช้ได้ในกรณีที่เป็นพิเศษจริง ๆ หากมีการยกข้อจำกัดนี้ขึ้นมาเป็นคดีร้องต่อศาล ศาลจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดในการพิจารณาว่ากฎหมายระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งที่มีขึ้นก่อนนั้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเนื่องจากละเมิดสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 1 นี้หรือไม่ หลักการทั่วไปที่จะทำให้กระบวนการที่ทำให้ข้อจำกัดล่วงหน้า (prior restraint) นี้สามารถบังคับใช้ได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขในการออกข้อจำกัดอย่างสมเหตุสมผลและในการดำเนินการจะต้องประกอบไปด้วย วิธีการ 2 ข้อ ได้แก่การแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อจำกัดนี้ก่อนที่จะมีการกระทำและจะต้องมีการรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนเหล่านี้ด้วย

รัฐมีอำนาจในการออกระเบียบในการใช้สถานที่สาธารณะได้ เช่น การกำหนดลักษณะกิจกรรม และเวลาในการเข้าใช้สถานที่เพื่อเสรีภาพการแสดงออก เช่น รัฐสามารถออกเทศบัญญัติเพื่อกำหนดให้ขออนุญาตใช้สถานที่และมีค่าธรรมเนียมในการขอใช้สถานที่สาธารณะเพื่อจัดชุมนุมถือว่าเป็นข้อจำกัดที่มีขึ้นก่อนการใช้สิทธิ (prior restraint) ที่สามารถกระทำได้ แต่ในการบังคับใช้ต้องถือว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักทั่วไปที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ส่วนการออกข้อจำกัดก่อนการใช้สิทธินั้น (prior restraint) แม้ว่าโดยทั่วไปจะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่หากมีเหตุผลอันสมควรก็สามารถออกข้อจำกัดได้ (prior restraint) โดยต้องมีความชัดเจนและมีทางเลือกหรือทางออกอื่นให้แก่ประชาชนด้วย

เมื่อพิจารณาดูจากกฎหมายที่คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ มีกฎหมายหลักเพียงบทบัญญัติเดียวคือ ในบทแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 ซึ่งได้มีการบัญญัติไว้และเปิดโอกาสให้มีการตีความให้เข้ากับข้อเท็จจริงได้อย่างกว้างขวาง ในขณะที่กฎหมายที่เข้ามาจำกัดเสรีภาพนั้นอาจเป็นกฎหมายลำดับรองลงมา บทบาทที่สำคัญจึงอยู่ที่การตีความและการใช้กฎหมายขององค์กรรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลยุติธรรมหรืออัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ลักษณะของการชุมนุมและข้อเรียกร้องของกลุ่มต่่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา มีลักษณะแยกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่่กลุ่มแรงงาน กลุ่มสิทธิเสมอภาคด้านสีผิว กลุ่มเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นสิทธิเสมอภาคทางเพศ และกลุ่มเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นรูปแบบการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ โดยจากการศึกษารูปแบบการจัดการกับการชุมนุมโดยใช้ช่วงเวลาเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการจำแนก คือ การดำเนินการก่อนการชุมนุม และดำเนินการหลังจากที่มีการชุมนุมแล้ว

  1. การดำเนินการก่อนการชุมนุม (prior restraint) โดยทั่วไปมลรัฐต่าง ๆ อาจออกกฎหมายกำหนดให้การชุมนุมแสดงออกในที่สาธารณะอาจต้องขออนุญาต ก่อนที่จะมีการชุมนุม การมีกฎหมายหรือคำสั่งที่ให้ผู้ชุมนุมต้องขออนุญาต เช่น ต้องขออนุญาตในการเดินขบวน หรือต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในการชุมนุม เช่น ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงในระยะเวลาหนึ่ง เช่น เวลา 22.00 – 8.00 น. ระเบียบเช่นนี้สามารถทำได้แต่ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตามหลักการเสมอภาคและการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น ต้องไม่ใช่การพิจารณาจากสาเหตุเนื่องจากเรื่องที่จะชุมนุม เช่น การห้ามชุมนุม หากเป็นการชุมนุมเรื่องต่อต้านสงครามในอิรัก เป็นต้น รัฐอาจห้ามไม่ให้มีการชุมนุมได้ เมื่อเห็นว่าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง
  2. การดำเนินการหลังจากเริ่มมีการชุมนุมแล้วโดยทั่วไปมักจะเป็นการสลายการชุมนุม การจับกุม และการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม โดยทั่วไปแล้วการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมของสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กระบองในการทุบตี การใช้น้ำแรงดันสูง การใช้สเปรย์พริกไทย การเข้าจับกุม รวมถึงการใช้สุนัขตำรวจในการสลายฝูงชน อย่างไรก็ตาม ในการใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลในภายหลัง การจัดการกับผู้ชุมนุมที่ภายหลังเกิดความวุ่นวายหรือการจลาจลขึ้น มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงทั้งจากผู้ชุมนุมและจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของการจลาจลมากกว่าจะเป็นการชุมนุมโดยสงบ และบ่อยครั้งที่การเริ่มต้นของการชุมนุมโดยสงบพัฒนาเป็นการจลาจลในภายหลังการเรียกร้องสิทธิของผู้เสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงจะได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้กฎหมาย

เสรีภาพในการชุมนุมนี้ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ (Peaceful assembly) ผู้ชุมนุมจะต้องไม่ก่อการจลาจลหรือปิดถนน แต่รัฐอาจตรากฎหมายจำกัดเวลา สถานที่ และวิธีการจัดการชุมนุมได้ เพื่อดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเช่นนี้จะใช้ไม่ได้หากเป็นการจำกัดเพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมนี้ ปกติเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ ดังนั้น บุคคลจะอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อชุมนุมในที่ดินหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ เช่น อ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเข้าไปชุมนุมในห้างสรรพสินค้าไม่ได้ อนึ่ง หากการชุมนุมใดไม่เป็นไปโดยสงบ เช่น มีการชุมนุมเพื่อปลุกปั่นให้ก่อการจลาจล ก่อให้เกิดการโกรธแค้นอย่างรุนแรง เป็นต้น เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุมนั้นได้

ในสหรัฐอเมริกา มีแนวคำพิพากษาของศาลที่สำคัญคดีหนึ่ง คือ คดี Feiner v. New York, 340 U.S. 315 (1951) ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า นายไฟเนอร์ (Feiner) ได้พูดยั่วยุและเชิญชวนให้ประชาชนลุกขึ้นจับอาวุธการกระทำการอันละเมิดต่อกฎหมายในการชุมนุมแห่งหนึ่ง ประชาชนที่ให้ความสนใจและติดตาม Feiner จึงถูกจับในข้อหากระทำการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ประเด็นสำคัญที่ศาลพิจารณา คือ รัฐมีอำนาจในการยับยั้งเสรีภาพในการชุมนุมเมื่อมีการใช้เสรีภาพนั้นปลุกปั่นเพื่อก่อการจลาจลหรือไม่ ศาลเห็นว่า รัฐมีอำนาจเช่นนั้น เพราะการชุมนุมที่มีการพูดยั่วยุให้เกิดการจลาจลไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อกล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมโดยเฉพาะ แต่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้บัญญัติรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ โดยห้ามมิให้รัฐตรากฎหมายที่มีผลเป็นการลิดรอนสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ส่วนการพิจารณาเกี่ยวกับการชุมนุมจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของศาลสูง เช่น การตรากฎหมายที่จำกัดสิทธินั้นไม่สามารถกระทำการได้ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นการห้ามการชุมนุมก่อนที่การชุมนุมจะเกิดขึ้นหรือการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุม โดยให้ผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน ดังนั้นการตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมจึงทำได้เฉพาะเพื่อจัดการกับการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งผลของการพิจารณาย่อมแตกต่างไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตามแต่ละกรณี ๆ ไป ตาม First amendment ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา อันกล่าวถึงสิทธิในการชุมนุมของประชาชน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้ภายใต้ข้อกำหนด

ดังนี้ ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะจัดการชุมนุมหรือปราศรัยในที่สาธารณะได้ทุกที่ เช่น ถนน ทางเดิน สวนสาธารณะ หน้าอาคารสถานที่ของรัฐ ตราบเท่าที่ไม่กีดขวางหรือปิดกั้นการเข้าถึงสถานที่นั้น ๆ ในสถานที่ส่วนตัว เจ้าของสถานที่สามารถตั้งกฎเกณฑ์ของการชุมนุมเองได้ โดยที่รัฐไม่สามารถปิดกั้นตราบที่เจ้าของสถานที่อนุญาต ผู้ต่อต้านการชุมนุมล้วนมีสิทธิแสดงออกทางความคิดเห็นต่าง ๆ เทียบเท่าผู้ชุมนุม โดยตำรวจมีหน้าที่แยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน แต่ต้องอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นและรับฟังกันได้ ในสถานที่สาธารณะทุกคนมีสิทธิบันทึกภาพ ยกเว้นในสถานที่ส่วนบุคคล ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเจ้าของสถานที่ต้องขออนุญาต หากการชุมนุมมีจำนวนคนมาก และต้องทำการปิดถนนหรือสถานที่หรือมีการใช้อุปกรณ์เครื่องเสียง ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องของหัวข้อการประท้วงในการออกใบอนุญาตให้ ตัวอย่างเช่นที่ปรากฏในการชุมนุมเพื่อให้กำลังใจจอห์นนี่ เดปป์ (Johnny Depp) หรือแอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) อดีตคู่รักนักแสดงฮอลลีวูดที่มีคดีพิพาทในทางแพ่ง ที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจก็แต่เพียงดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนักแสดงทั้งสองฝ่าย เป็นต้น

 

กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ในศตวรรษที่ 18 การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ส่งผลให้มีการรับรองเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนไว้ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 (La declaration de droits de l’homme 1789) เรียกว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน” เป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์และพลเมืองในทางส่วนตัวและในทางการเมือง ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล (Les droits individuels) สิทธิและเสรีภาพในฐานะพลเมืองและในทางการเมือง (les droits civils et politiques) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (La dignité de la personne humaine) เสรีภาพในความคิด (La liberté de pensée) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสื่อสารถึงกัน (La liberté d’expression et de communication) เสรีภาพในการดำเนินการทางการเมือง (La liberté d’action politique) และรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่อย ๆ มา โดยเน้นแนวความคิดพื้นฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งประชาชนต่างมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกที่ไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น สาธารณรัฐฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพเป็นอย่างมาก รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม (La liberté de réunion) แม้ว่าในชั้นเริ่มต้นนั้นเสรีภาพในการชุมนุมจะมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างแจ้งชัด แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ในเรื่องเสรีภาพของประชาชน

แม้เสรีภาพในการชุมนุมจะไม่ได้ถูกรับรองไว้โดยตรงในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 หรือโดยรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอย่างชัดแจ้ง แต่รัฐสภาซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันสูงสุดของฝรั่งเศสก็ได้มีการตรากฎหมายระดับรัฐบัญญัติเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเสรีภาพในการชุมนุม มีลำดับชั้นไม่ต่ำกว่าเสรีภาพอื่นๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสก็ได้เป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบของเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (The UN International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) หรือ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ค.ศ. 1950 (The Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms) ซึ่งข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งสองฉบับนี้ ต่างก็ให้การยอมรับเสรีภาพในการชุมนุมเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่่ผูกพันทุกองค์กรภายในของฝรั่งเศสในฐานะบ่อเกิดของกฎหมาย จึงกล่าวได้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมนั้นมีลำดับศักดิ์ไม่่ต่ำกว่าเสรีภาพอื่นที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบัญญัติและกฎเกณฑ์ภายในก็ไม่อาจขัดหรือแย้งต่อข้อตกลงระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ ตามนัยของมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 ที่กำหนดให้ความตกลงในทางระหว่างประเทศ มีสถานะทางกฎหมายสูงกว่ากฎหมายในระดับรัฐบัญญัติ

ประเทศฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมตลอดถึงเสรีภาพในการชุมนุมของชาวฝรั่งเศสด้วย โดยได้มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ครั้งแรกในรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1789 (Décret du 14 décembre 1789 relatif à la constitution des municipalités) และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการแบ่งเงื่อนไขในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมในภาวะปกติ ซึ่งบุคคลที่มีสัญชาติฝรั่งเศสสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ก็ได้เท่าที่ไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น โดยกฎหมายจะห้ามเฉพาะการกระทำที่เป็นการรบกวนสังคมเท่านั้น หากสิ่งใดไม่มีกฎหมายห้ามก็สามารถทำได้ และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในภาวะไม่ปกติ ซึ่งมักเป็นกรณีที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร เปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศหรือเกิดกรณีมีภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เช่น การก่อการจลาจล การมั่วสุมคิดร้าย การถูกครอบครองดินแดนโดยต่างชาติ เป็นต้น โดยเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวจะมีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบในภาวะไม่่ปกติ คือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยมีบทบัญญัติพิเศษให้อำนาจรัฐในการปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส เงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของการชุมนุม หากการชุมนุมจัดขึ้นในสถานที่ของเอกชน หรือสถานที่อื่นที่ไม่่ใช่ทางสาธารณะ กฎหมายจะไม่กำหนดข้อจำกัดที่เคร่งครัดมากเนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นบุคคลใดอย่างกว้างขวาง แต่หากการชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการชุมนุมบนทางสาธารณะ (la manifestation) การใช้เสรีภาพดังกล่าวย่อมมีข้อจำกัดที่เข้มงวดมากกว่าตามลักษณะของเรื่อง

หลักทั่วไปเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ (La reunion)

เสรีภาพในการชุมนุมไม่ได้ปรากฏในกฎหมายลายลักษณ์อักษรของประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ แต่เป็นหลักการที่ได้การรับรองโดยรัฐธรรมนูญผ่านการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดและความคิดเห็นร่วมกัน (Un droit d’expression collective des idées et des opinions) ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1793 และ ค.ศ. 1848 ต่อมาได้มีการตราเป็นกฎหมายในระดับรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ 1881 เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม (Les lois du 30 juin 1881, sur la liberté de réunion) และรัฐบัญญัติลงวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1907 เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ (Les lois du 28 mars 1907, relatives aux réunions publiques) ปัจจุบันปรากฏในประมวลกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายใน (Le Code de la sécurité intérieure) ซึ่งเป็นผลมาจากการตรารัฐกฤษฎีกาฉบับที่ 2012-351 ลงวันที่่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2012 เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของการประท้วงบนทางสาธารณะ (La manisfestation) หลักการพื้นฐานที่สำคัญปรากฏในมาตรา 1 วรรคหนึ่ง ของรัฐบัญญัติปี ค.ศ. 1881 หลักการสำคัญในการชุมนุมสาธารณะ คือ การชุมนุมสาธารณะ (Les réunions publiques) สามารถกระทำได้โดยเสรี และวรรคสอง ซึ่งวางหลักว่า การชุมนุมสาธารณะสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้า (Autorisation préalable) ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขในกฎหมายนี้กำหนด

ถึงแม้ว่าโดยหลักแล้วการชุมนุมสาธารณะจะสามารถกระทำได้โดยเสรีตามหลักเสรีภาพในการรวมกลุ่มที่ได้รับการรับรองไว้ในฐานะที่เป็นสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการใช้เสรีภาพดังกล่าวอาจจะไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น การใช้เสรีภาพนั้นจึงอาจถูกจำกัดได้โดยเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายได้กำหนดหลักการทั่วไปในการชุมนุมสาธารณะให้ผู้เข้าร่มชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อการใช้เสรีภาพของตนเองโดยต้องเคารพเงื่อนไขที่กำหนดไว้

  1. เงื่อนไขในด้านสถานที่การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนนั้นจะไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมบนทางสาธารณะได้ แต่หากต้องการชุมนุมบนทางสาธารณะจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงื่อนไขทั่วไปในส่วนนี้
  2. เงื่อนไขในด้านเวลา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและไม่รบกวนผู้อื่นมากจนเกินสมควร การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะนั้นจะใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา
  3. เงื่อนไขในด้านการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะนั้นจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ (bureau) ที่ประกอบด้วยตัวแทนของผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3 คน และคณะกรรมการมีหน้าที่่ควบคุมดูแลให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย คณะกรรมการการชุมนุมสาธารณะจะต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยในระหว่างการชุมนุมสาธารณะที่ทำให้เกิดความเสียหาย ในกรณีที่่คณะกรรมการออกจากสถานที่่ชุมนุม ไม่ว่าโดยเจตนาหรือเพราะสถานการณ์บังคับจะถือว่าการชุมนุมสิ้นสุดลง การชุมนุมสาธารณะจะกลายเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบซึ่งผู้ชุมนุมต้องสลายการชุมนุมหลังได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ผู้ที่่ได้รับมอบอำนาจให้สังเกตการณ์ในการชุมนุม

กล่าวโดยสรุป ขั้นตอนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนชาวฝรั่งเศสนั้น กฎหมายมีการวางหลักให้ประชาชนสามารถใช้ได้ในทันทีโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตฝ่ายปกครองก่อนล่วงหน้า เพียงแต่ต้องทำการ “แจ้งให้ทราบ” (Déclarer) ถึงการชุมนุมที่จะจัดให้มีขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายปกครองเห็นว่าการชุมนุมอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นภายในประเทศก็อาจมีคำสั่งห้ามหรือสลายการชุมนุมได้ และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายควบคุมการชุมนุมสาธารณะกำหนดไว้ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เงื่อนไขที่จะถือได้ว่ามีการแจ้งให้ฝ่ายปกครองทราบว่าจะมีการชุมนุมแล้วนั้น จะต้องมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้ยืนยันว่าได้มีการแจ้งแล้ว กล่าวคือจะต้องมีการออกใบรับแจ้ง (Le récépissé) ซึ่งฝ่ายปกครองจะทำการตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ผู้รับผิดชอบในการจัดชุมนุมได้กระทำตามเงื่อนไขทั่วไปที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากไม่ครบเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่ายปกครองก็จะไม่ออกใบรับแจ้งให้ตั้งแต่แรก เช่น ในกรณีที่ฝ่ายปกครองที่ได้รับคำขอพิจารณาคำขอแล้วเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นภายในประเทศ แทนที่จะออกใบรับคำแจ้งไปก่อนแล้วค่อยมีคำสั่งห้ามหรือสลายการชุมนุม ฝ่ายปกครองก็สามารถที่จะใช้ดุลพินิจในการไม่ออกใบรับแจ้งให้ตั้งแต่แรก ซึ่งมีผลเสมือนว่ายังไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่ประการใด ทำให้การใช้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครองเสมอในทางปฏิบัติ ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติดังกล่าวปรากฏขึ้นในกรณีที่มีการจัดชุมนุมบนทางสาธารณะ (la manifestation) ด้วยเช่นกัน เป็นการหลีกเลี่ยงถ้อยคำภาษากฎหมาย กล่าวคือ จะต้องทำการแจ้ง ให้ทราบเพื่อที่จะได้รับอนุญาตนั่นเอง

ที่มา :

[1] มานิตย์ จุมปา และพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา คำอธิบายเรียงมาตราพร้อมคำพิพากษาศาลฎีกา (วิญญูชน 2552)
[2] ไกรพล อรัญรัตน์, ‘กฎหมายควบคุมการชุมนุมสาธารณะ: พัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการชุมนุมในประเทศไทย
[3] วีระวุธ ชัยชนะมงคล, “กฎหมายการชุมนุมสาธารณะกรณีประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ” (2557) วารสารตำรวจ 27
[4] อุษณีย์ เอมศิรานันท์, ‘กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะและการประท้วงในสาธารณรัฐฝรั่งเศส’ (2557) วารสารนิติสังคมศาสตร์ 11
[5] สมชาย ปรีชาศิลปกุล และคณะ, “รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” (รายงานผลการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 2558)
[6] ไกรพล อรัญรัตน์, “กฎหมายควบคุมการชุมนุมสาธารณะ: พัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการชุมนุมในประเทศไทย”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า