กำเนิดกิจการไฟฟ้าของไทย จากแสงไฟดวงแรกของพระบรมมหาราชวัง สู่ความสว่างไสวของคนไทยทั้งประเทศ

หนึ่งในวิทยาการสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไทยไปสู่ความทันสมัยแบบก้าวกระโดดคือ “ไฟฟ้า” ซึ่งหากย้อนกลับไปแต่ครั้งอดีต ชนชั้นนำในสยามเริ่มรับรู้ถึงวิทยาการไฟฟ้าเป็นครั้งแรกผ่านมิชชันนารีตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในสยาม ดังจะเห็นได้จากบทความเกี่ยวกับไฟฟ้าที่เผยแพร่อยู่ในหนังสือพิมพ์ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ของหมอบรัดเลย์

จนกระทั่งถึงยุคแห่งการปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยของรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปราชการที่ทวีปยุโรป และได้พบเห็นการใช้ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะที่ปารีส ที่มีการใช้ไฟฟ้ากันทั้งเมืองและเป็นที่นิยมของประชาชน จึงมีความคิดที่จะทำไฟฟ้าใช้ในเมืองไทยบ้าง

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่องจากประเทศอังกฤษ โดยให้ชาวอิตาลีที่มีชื่อว่า นายมาโยลา ซึ่งเข้ามาฝึกทหารในสยาม เป็นผู้เดินทางไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้ามา โดยใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินที่ตำบลวัดละมุด บางอ้อ ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี เป็นจำนวนเงิน 180 ชั่ง หรือ 14,400 บาทในขณะนั้น

การจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 5

โดยเครื่องกําเนิดไฟฟ้าทั้ง 2 เครื่อง ถูกซื้อมาพร้อมสายเคเบิลสำหรับฝังลงใต้ดินจากโรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ถึงพระบรมมหาราชวัง และยังได้มีการซื้อโคมไฟฟ้าต่างๆ สำหรับใช้ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทโดยเฉพาะ

ในวันที่เปิดทดลองใช้แสงสว่างด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรกนั้น มีบรรดาขุนนาง ข้าราชการและประชาชนเข้ามาดูแสงไฟฟ้าอย่างแน่นขนัดด้วยความตื่นตาตื่นใจ เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งไฟฟ้าขึ้นในวังหลวงทันที จากนั้นมาไฟฟ้าก็เริ่มแพร่หลายไปตามวังเจ้านาย

จนในที่สุดในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้มีการจัดทำไฟฟ้าขึ้น โดยองค์กรที่ดำเนินกิจการไฟฟ้าในระยะแรกมี 2 แห่ง คือ “การไฟฟ้ากรุงเทพ” และ “กองไฟฟ้าหลวงสามเสน”

“การไฟฟ้ากรุงเทพ” มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2437 เมื่อบริษัทจากประเทศเดนมาร์กได้เปลี่ยนจากการใช้ม้าลากรถรางมาเป็นการใช้กำลังไฟฟ้า หลังจากนั้นได้มีการขายกิจการต่อไปอีกหลายบริษัท จนมาถึง บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานและโรงไฟฟ้าอยู่ที่วัดเลียบ ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบ โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในขณะนั้นเป็นเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง เพราะแกลบเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายจากโรงสีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทเอกชน โดยผู้ถือหุ้นมากกว่าครึ่งเป็นของหลวง และใช้เงินจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับชนชั้นสูงและชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินกิจการเรื่อยมาจนสัมปทานหมดลง รัฐบาลจึงได้เข้ามาดำเนินการแทนในรูปแบบองค์การกึ่งราชการ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “การไฟฟ้ากรุงเทพ”

สำหรับ “กองไฟฟ้าหลวงสามเสน” กำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 5 ให้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นที่สามเสน จากนั้นได้เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าโดยใช้ชื่อว่า “การไฟฟ้าหลวงสามเสน” และเปลี่ยนเป็น “กองไฟฟ้าหลวงสามเสน” ในเวลาต่อมา

การไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้มีการแบ่งการจ่ายกระแสไฟฟ้ากันอย่างชัดเจน โดย “การไฟฟ้ากรุงเทพ” เป็นผู้จำหน่ายในพื้นที่ทางตอนใต้ของคลองบางกอกน้อยและบางลำภูลงมา ส่วน “กองไฟฟ้าหลวงสามเสน” เป็นผู้จำหน่ายตอนเหนือขึ้นไปจากคลองดังกล่าว

หลังจากนั้นกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยได้ดำเนินเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลได้รวมกิจการระหว่าง การไฟฟ้ากรุงเทพ เข้ากับ กองไฟฟ้าหลวงสามเสน โดยใช้ชื่อว่า “การไฟฟ้านครหลวง”

สำหรับกิจการไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อทางราชการได้ตั้งแผนกไฟฟ้าขึ้นในกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และได้ก่อสร้างไฟฟ้าเทศบาลเมืองนครปฐมขึ้น เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2473 จากนั้น ไฟฟ้าจึงได้แพร่หลายไปสู่หัวเมืองต่างๆ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2477 มีการปรับปรุงแผนกไฟฟ้าเป็นกองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “กองไฟฟ้าภูมิภาค”

เมื่อการสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าที่เทศบาลเมืองนครปฐมประสบความสำเร็จ ต่อมาได้มีการทยอยก่อสร้างไฟฟ้าให้ชุมชนขนาดใหญ่ระดับจังหวัดและอำเภอต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐบาลเริ่มเห็นความจำเป็นในการเร่งขยายการก่อสร้างกิจการไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้จัดตั้ง “องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 เพื่อรับผิดชอบดำเนินกิจการไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค โดยมีทุนประเดิมตามกฎหมายจำนวน 5 ล้านบาท มีการไฟฟ้าอยู่ในความดูแลจำนวน 117 แห่ง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา กิจการไฟฟ้าในประเทศไทยก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่อำเภอสามเงา จังหวัด ตาก ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี มีสายส่งเชื่อมโยงครอบคลุมและดำเนินการจ่ายไฟให้แก่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ทำให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง โดยมีเขื่อนที่คอยผลิตพลังน้ำให้กับโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามว่า “เขื่อนภูมิพล”

ทั้งหมดนี้คือเส้นทางการกำเนิดกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งได้รับการวางรากฐานมาตั้งแต่สมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 กระทั่งถึงปัจจุบันแม้วิทยาการบางอย่าง เช่นโทรเลขหรือรถรางได้ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้วตามกาลสมัย แต่กิจการไฟฟ้ากลับยังเป็นสิ่งจำเป็น และยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนไทยได้รับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งก้าวทันตามกระแสของโลกที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า