‘เบงกอลหนุ่ม’ ถึง ‘สยามหนุ่ม’ กุญแจไขสู่ขีดสุดความเจริญ หลังการประพาสอินเดียของรัชกาลที่ 5

นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าจะต้องขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งแผ่นดินสยามนั้น พระองค์ก็ได้หาทางเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์ในแบบที่อาจจะเรียกได้ว่า “คลำในที่มืด” เลยก็ว่าได้ เนื่องจากว่าสถานการณ์และบริบททั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรได้สร้างโจทย์ใหม่ขึ้นมาที่เข้ามาท้าทายยุวกษัตริย์พระองค์นี้อย่างยิ่ง ดังนั้นเข็มทิศที่พระองค์พอมีที่จะใช้ได้นั่นคือต้องดูอย่างประเทศที่มีความเจริญแล้วว่าจะพัฒนาและอยู่รอดได้อย่างไร แต่วิธีการที่จะไปให้ถึงจุดนั้นย่อมเป็นวิธีของพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จเยือนยุโรปตั้งแต่ยังไม่ขึ้นครองราชย์ [1] โดยพระองค์ได้มีพระราชปรารภกับเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ทรงเห็นด้วยและรับจะไปพูดกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นชอบ ด้วยทรงเห็นว่าไม่มีเรือและเสี่ยงภัย แต่เพื่อไม่ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัส เจ้าพระยาภานุวงศ์จึงคิดขึ้นว่าอินเดียก็เจริญใกล้เคียงยุโรป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสว่าถึงไปยุโรปไม่ได้ ไปเพียงอินเดียก็ยังดี (เหตุที่พระองค์อยากไปยุโรปนั้นก็เพราะว่าเหลืออีกเพียง 2 ปีพระองค์ก็จะครองราชย์เองแล้ว ถ้ารอจนครองราชย์พระองค์อาจจะไม่มีโอกาสไป)

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเสด็จประพาสอินเดีย และน่าจะเป็นตัวแบบหนึ่งที่พระองค์ทรงใช้พัฒนาบ้านเมืองในเวลาต่อมาอีกด้วย ดังคำยืนยันของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า“ราชบริพารที่ตามเสด็จในครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อน [หมายถึงการเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวาครั้งที่ 1] ได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มใหม่…ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีการเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องการใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมาสำหรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ” ผู้ที่เสด็จตามไปด้วยนี้จึงจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงต่อไป การเสด็จยังอินเดียในครั้งนี้นอกจากการพัฒนาเชิงวัตถุแล้วยังมีเรื่องของการรับรู้วัฒนธรรมประเพณีของยุโรปและการไปถึงแหล่งต้นธาตุต้นธรรมของศาสนาพุทธอีกด้วย

การเสด็จในครั้งนี้มีผู้ติดตามหลายคนซึ่งนอกจากกลุ่มพระเจ้าน้องยาเธอ และกลุ่มข้าราชการรวมไปถึงมหาดเล็กแล้ว ยังมีกลุ่มข้าราชการระดับสูงที่สืบมาจากรัชกาลก่อนหน้าอยู่ด้วย คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลัง พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) ผู้บังคับการทหารรักษาพระองค์ และนายราชาณัตยานุหาร (พร บุนนาค : เวลาต่อมาคือเจ้าพระยาภาสกรวงศ์) ราชเลขาธิการในพระองค์ การเสด็จตามมาในครั้งนี้ด้วยจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการฉายภาพของการเมืองในรัชสมัยพระองค์ได้อยู่บ้างเพราะมีกลุ่มอย่างชัดเจน คือ กลุ่มของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ กลุ่มของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และกลุ่มพระราชวังบวรสถานมงคล

ในการเสด็จครั้งนี้ ตามบันทึกของพันตรีเอ็ดเวิร์ด บอสค์ สลาเดน นายทหารอังกฤษผู้ตามเสด็จ และเป็นผู้จัดทำรายงานการเสด็จประพาสแก่รัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ได้รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ความสำคัญกับทหารอย่างเห็นได้ชัดเพราะเสด็จทอดพระเนตรเรื่องการทหารถึง 4 เมือง นอกจากนี้ในบรรดาผู้ที่ตามเสด็จที่เป็นผู้ใหญ่แต่ละคนนั้นก็มีอำนาจทางทหารอยู่ด้วย ความสนใจด้านทหารจึงเป็นจุดสนใจร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะสมุหพระกลาโหมและวังหน้าต่างก็มีกำลังทหารของตัวเอง ส่วนกลุ่มของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีอำนาจน้อยที่สุด การปรับปรุงกิจการทหารหลังการเสด็จประพาสอินเดียจึงเป็นผลประการต้นๆ ที่ได้ตามมาและทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มอำนาจทางทหารมากขึ้นด้วย เพราะหลังการเสด็จอินเดียเพียงสามปีก็เกิดวิกฤตวังหน้าขึ้นและได้ยุติอำนาจวังหน้าลง หลังจากนั้นมาพระองค์ก็บังคับบัญชาและครอบครองกระสุน ปืนใหญ่ และเรือรบเพียงพระองค์เดียว

ในช่วงที่พระองค์เสด็จอินเดียนี้เองมีเมืองหนึ่งที่พระองค์ประทับนานที่สุดและมีกิจกรรมมากที่สุดคือกัลกัตตาในแคว้นเบงกอล เมืองนี้เป็นทั้งศูนย์กลางในการปกครองและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาแบบตะวันตกในอินเดียอีกด้วย ผลผลิตที่สำคัญคือกลุ่มคนอินเดียรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตะวันตกและอินเดีย คือมีวิธีคิดแบบตะวันตก แต่มิละทิ้งความเป็นอินเดีย คนเหล่านี้จึงต้องการปฏิรูปสังคมอินเดียให้ก้าวหน้าและจุดหมายสูงสุดคือการมีอิสรภาพ บุคคลสำคัญในกลุ่มนี้คือ Ram Mohan Roy ซึ่งตั้งขบวนการปฏิรูปที่ชื่อว่า Brahmo Samaj ซึ่งถึงแม้ว่ารอยจะเสียชีวิตไปก่อนที่พระองค์จะเสด็จอินเดีย แต่มีผู้ที่สืบต่อเจตนารมณ์ต่อมาซึ่งรู้จักกันดีในนาม “เบงกอลหนุ่ม” (Young Bengal) และแนวคิดของกลุ่มเบงกอลหนุ่มก็มีผลอย่างมากต่อคนหนุ่มในช่วงนั้น

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จที่กัลกัตตานั้น ศาสตราจารย์ ดร. สาคชิดอนันท สหาย ผู้เขียนหนังสือ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย เชื่อว่ากลุ่มเบงกอลหนุ่มนี้น่าจะมีความสำคัญต่อบทบาทของกลุ่ม “สยามหนุ่ม” เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาแล้วด้วย เพราะหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาไม่นานเราก็จะเห็นบทบาทของกลุ่มพระองค์อย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น การออกหนังสือดรุโณวาทซึ่งมีเนื้อหาเป็นข่าวจากต่างประเทศและการปฏิรูปที่จำเป็น หรือการตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในพระราชวังที่มิได้สอนแค่ภาษาแต่ยังสอนเรื่องราวต่างประเทศในแง่มุมต่างๆ ดังบันทึกของพระยาวชิรญาณวโรรสว่า “ครูพูดไทยไม่ได้ สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง… เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนของเมืองไทยเราเอง… นอกจากนี้เรายังได้รับคำแนะนำในการบ้านเมืองอีก ที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ทางเมืองฝรั่ง และเป็นเวลาเกิดเหตุการณ์เนืองๆ เป็นต้นว่าเยอรมนีตีเมืองฝรั่งเศสได้ ราชาธิปไตยฝรั่งเศสล่มสลายกลายเป็นประชาธิปไตย”

ผู้ที่ตามเสด็จกลุ่มของพระองค์ก็ได้รับตำแหน่งราชการสำคัญๆ ต่อมา โดยเฉพาะหลังพ้นช่วงกลางรัชกาลไปแล้วบทบาทของกลุ่มข้าราชผู้ใหญ่เดิมจะหมดลง ขุนนางที่สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งพระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์ก็มีทั้งวัยวุฒิและประสบการณ์เพียงพอแล้ว เมื่อองคาพยพพร้อมแล้ว การพัฒนาจึงเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากที่กลุ่มสยามหนุ่มนี้ได้ประสบกับความเจริญจากอินเดียด้วยตัวเอง และสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดว่าจะไม่มีโอกาสเสด็จยุโรปก็เกือบจะเป็นจริงเพราะพระองค์ต้องอยู่ในสยามกว่า 17 ปี โดยไม่เสด็จออกเลย กว่าจะประพาสยุโรปนั้นก็เข้า พ.ศ. 2440 ไปแล้ว แบบอย่างการพัฒนานั้นพระองค์จึงได้จากอินเดียเป็นสำคัญ

แรงบันดาลใจของกลุ่มสยามหนุ่มที่ได้รับมาจากกลุ่มเบงกอลหนุ่มจึงมีผลอย่างมากและทำให้สยามมุ่งเข้าสู่ความเจริญอย่างขีดสุดที่ทำได้ ดังปรากฏการพรรณาเฉลิมพระเกียรติที่บรรยายสภาพของสยามหลังจากนั้นว่า

ชาวบุรีมากแห่ง    แข่งกันเรียนวิชาช่าง

อย่างยุโรปจีนสยาม    ตามปรารถนานึก

เป็นช่างตึกช่างเรือน    เหมือนอย่างยุโรเปียน

บ้างเรียนเป็นช่างเรือ    เหลือล้นในกรุงไทย

ช่างเรือไฟใบผ้า    ช่างรถม้าทาสี

เกิดมีมากหลายอย่าง    มีทั้งช่างเย็บตัด

พัตรภูษิตเสื้อผ้า    ท่ารำพรรณบจบ

ดังนั้นเราจึงเข้าใจได้ว่าเมื่อสลาเดนได้บรรยายเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับมหาราชาของอินเดียที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษว่า

“พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมและแบบแผนของราชสำนักไปมากในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยระมัดระวังมิให้กระทบกับราชวงศ์ และยังทรงรับขนบธรรมเนียมและแบบแผนมารยาทแบบตะวันตกที่ดีมาแทน”

ส่วนมหาราชานั้น สลาเดนกล่าวว่า

“พยายามรักษาความยิ่งใหญ่ที่พ้นสมัยโดยมิได้พิจารณาถึงความก้าวหน้าของอารยธรรมของโลกตะวันตก หรือตระหนักถึงสถานภาพของรัฐบาลอินเดียที่เปลี่ยนแปลงไป”

บทบาทของกลุ่มสยามหนุ่มอันเป็นกลุ่มที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ จึงสร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างประเทศ และได้สร้างความรักความศรัทธาที่สถิตในใจชาวสยามอย่างมิรู้ลืมได้อย่างงดงาม

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก สาวิตรี เจริญพงศ์, ยุวกษัตริย์พระปยมหาราชประพาสอินเดีย (กรุงเทพฯ: ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า