ฆาตกรรมหะยีสุหลง ยุคทมิฬแห่งการเมืองไทย

หนึ่งในความอยุติธรรมที่ร้ายแรงที่สุดของความขัดแย้งทางการเมืองคือ การบังคับสูญหายของผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจ และนี่คือประเด็นสำคัญที่มีผู้พยายามกล่าวหา ใส่ร้าย และโยงทุก ๆ เรื่องตั้งแต่ปัจจุบันยันอดีต มาที่สถาบันฯ โดยอ้างว่าทั้งหมดเกิดจากคำสั่งของพระมหากษัตริย์

แต่ผู้กล่าวหาไม่เคยมองบริบททางการเมืองแต่ละยุคสมัย และไม่เคยฉุกคิดเลยว่า ต้นตอของเรื่องเหล่านี้แท้จริงแล้วเกิดจากความขัดแย้ง และการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐต่างหาก

ดังเช่นในช่วงทศวรรษ 2490 ที่ถือเป็นหนึ่งในยุคมืดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นช่วงที่มีการกำจัดศัตรูทางการเมืองกันอย่างโหดเหี้ยมที่สุด และหนึ่งในกรณีที่ถูกพูดถึงมาจนปัจจุบันคือ การหายสาบสูญของ หะยีสุหลง ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปัตตานี

หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า หะยีสุหลง พื้นเพเป็นชาวไทยมุสลิมจากจังหวัดปัตตานี เป็นครูสอนศาสนาคนสำคัญของพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยนั้น ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งจังหวัดดังกล่าวมีพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก

แม้จะเป็นมุสลิม แต่หะยีสุหลงก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสนิทสนมกับนักการเมืองชาวไทยพุทธอย่างมาก โดยเฉพาะชาวไทยในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อาทิ นายเจริญ สืบแสง และ นายจรูญ สืบแสง สองพี่น้องสมาชิกคณะราษฎร ครั้งปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเป็นคนสนิทของปรีดี พนมยงค์

จึงกล่าวได้ว่า หะยีสุหลงเป็นผู้คอยให้การหนุนหลังพรรคพวกของปรีดี พนมยงค์ ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยสนับสนุนให้นายเจริญ สืบแสง เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ. 2479 และนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ. 2483 – 2489 ตามลำดับ

ต่อมา ยังได้ให้การสนับสนุนนายเจริญ สืบแสง ในการไต่เต้าตำแหน่งทางการเมือง จนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ. 2489

ด้วยอิทธิพลและสถานะผู้นำชาวไทยมุสลิม ทำให้ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี เทใจให้ความเชื่อถือหะยีสุหลงอย่างมาก เป็นผลให้นายเจริญ สืบแสง ลงรับเลือกตั้งในตำแหน่งใด ก็ได้เปรียบกว่าคู่แข่งซึ่งเป็นชาวมุสลิมปัตตานีเสียอีก

จึงกล่าวได้ว่า ช่วงปี พ.ศ. 2479 – 2491 นี้ ในสายตาของฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม ต่างมองว่า นอกจากหะยีสุหลงจะเป็นผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียง เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวมุสลิมในชายแดนใต้แล้ว เขายังเป็น “ผู้สนับสนุนกลุ่มปรีดี” ในรัฐสภาส่วนกลางอีกด้วย

เพราะเหตุนี้ หะยีสุหลงจึงถูกเพ่งเล็งจากศัตรูการเมืองฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด

จนกระทั่ง ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มทหารที่นิยมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากขั้วอำนาจเดิม หะยีสุหลงก็ได้ถูกทางการจับตัวไปในข้อหา “แบ่งแยกดินแดน”

โดยรัฐบาลได้ใช้หลักฐานเพื่อจับกุมตัว คือ “ข้อเสนอ 7 ประการ” ซึ่งลงนามโดยหะยีสุหลง อันมีเนื้อหาสำคัญว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ ควรให้สิทธิบางประการแก่พื้นที่พลเมืองชาวมุสลิม อาทิ การให้มีผู้ปกครองพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องเป็นชาวมุสลิม และให้มีอำนาจสามารถถอดถอนข้าราชส่วนกลางที่กระทำตัวไม่เหมาะสมได้ การให้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการร่วมกับภาษาไทย หรือให้มีศาลศาสนาขึ้นในพื้นที่นี้

ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่า “ข้อเสนอ 7 ประการ” นี้ เป็นข้อเสนอทางการเมืองที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน

แต่ต่อมาศาลพิจารณาให้ยกฟ้องในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน และตัดสินจำคุกเขาในคดีดูหมิ่นกล่าวร้ายรัฐบาลด้วยเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งหะยีสุหลงถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาดังกล่าวเกือบ 5 ปี และถูกปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2495

แม้จะพ้นโทษกลับมายังบ้านเกิดที่ปัตตานีแล้ว แต่ความนิยมในตัวของหะยีสุหลง ยังคงมีสูงมากในหมู่ประชาชนชาวมุสลิม และนั่นได้สร้างความไม่สบายใจให้แก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะในเวลานั้น รัฐมลายาของอังกฤษกำลังจะได้รับเอกราช และกระแสเรียกร้องนี้ก็ได้แพร่มาถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

รัฐบาลไทยจึงมีความกังวล และเชื่อว่าหะยีสุหลงมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน

จนกระทั่ง เช้าตรู่วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 (ยุครัฐบาลจอมพล ป. สมัยที่สอง) หะยีสุหลงพร้อมกับ นายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่จังหวัดปัตตานี ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน

และทั้งหมดได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย กระทั่งศพก็หาไม่พบ

โดย “ความจริง” ที่มีน้ำหนักที่สุดจากครอบครัวหะยีสุหลง ระบุว่า พวกเขาถูกฆาตกรรมด้วยเหตุผลทางการเมือง และถูกนำศพถ่วงน้ำในทะเลสาบสงขลา ภายใต้การสั่งการของนายตำรวจอัศวินแหวนเพชร ลูกน้องของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มือขวาของจอมพล ป. และเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการตำรวจในเวลานั้น

ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายจากมูลนิธิฮัจยีสุหลงฯ ที่บันทึกไว้ว่า อดีตรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสำคัญในยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” ว่ามีคำสั่งฆ่าหะยีสุหลงจริง

นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ “ยุคทมิฬ” ของการเมืองไทย ที่เรียกได้ว่าบ้านเมืองแทบไร้ขื่อแป และการหายสาบสูญไปของหะยีสุหลง ถือเป็นผลมาจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการหวังผลทำลายล้างศัตรูทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยมและอำมหิต ชนิดปัจจุบันยังอาจเทียบไม่ติดเลยทีเดียว

ที่มา :

[1] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย (กรุงเทพ:2555) มูลนิธิโครงการตำรา
[2] หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา : 66 ปี บังคับสูญหายผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า