‘กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ กับเส้นทางของ ‘กิจการรถไฟ’ ถึง ‘อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย’ พระอัจฉริยภาพรอบด้านที่ทรงทุ่มเทให้กับกิจการบ้านเมือง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด (ในสกุล “กัลยาณมิตร”) ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424

ในปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ ตรินีตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม จากนั้นเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)

กระทั่งเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2447 เพื่อรับราชการทหาร เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2451 และดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลาถึง 17 ปี ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารของประเทศตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทรงมีพระปรีชาสามารถในกิจการรถไฟเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงมีส่วนสำคัญในการบุกเบิกพัฒนากิจการรถไฟ จนมีการขยายเส้นทางออกไปทั่วทุกภูมิภาคในเวลาต่อมา

โดยในปี พ.ศ. 2453 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” โดยมีพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง” ภายหลังจึงทรงได้รับสมญานามว่า “พระบิดาแห่งรถไฟไทย

ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรยังได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะมาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเข้ามาสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบและถ่านหินในประเทศไทย

และในปี พ.ศ. 2471 พระองค์ยังได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล จำนวน 2 คัน จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีกำลัง 180 แรงม้า เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไม่สะดวก และไม่ประหยัด อีกทั้งลูกไฟที่กระจายออกมาเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ไม้หมอนอีกด้วย

ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่มีการนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้งาน จนต่อมาได้มีการทำตราพระนามของพระองค์ท่านติดไว้ข้างรถจักรดีเซลในเมืองไทยทุกคัน นั่นคือตรา “บุรฉัตร

ในช่วงที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในเวลาต่อมา) ได้ทรงขยายกิจการรถไฟไทยจนครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ และเกิดการพัฒนาต่อยอดจนทำให้ในปี พ.ศ. 2476 เส้นทางรถไฟของไทยมีความยาวรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร เรียกว่าล้ำหน้าอินโดจีนของฝรั่งเศสและรัฐมลายูของอังกฤษในขณะนั้นเลยทีเดียว

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระทัยเรื่องการบิน โดยทรงทดลองขับเครื่องบินสาธิต จนได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทยคนแรกที่มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน และต่อมาได้ทรงวางรากฐานกิจการการบินขึ้นในประเทศไทย รวมถึงจัดตั้งบริษัทเดินอากาศ และเปิดเส้นทางพาณิชย์ด้านอื่นๆ อีกด้วย

นอกจากงานราชการแผ่นดินแล้ว กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ยังทรงสนพระทัยด้านศิลปะภาพยนตร์ รวมถึงงานด้านวิทยุอีกด้วย พระองค์ทรงสนพระทัยการถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ และทรงเริ่มศึกษาทดลองถ่ายภาพยนตร์ในแบบสมัครเล่น จนเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์สมัครเล่นของอังกฤษในขณะนั้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2465 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งหน่วยผลิตภาพยนตร์ขึ้นในกรมรถไฟหลวง โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง” มีอาคารที่ทำการตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง

กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง นับเป็นหน่วยงานภาพยนตร์ของรัฐแห่งแรกในสยามและแห่งแรกแห่งหนึ่งในโลก ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีเผยแพร่กิจการของการรถไฟ พระราชกรณียกิจและพระราชพิธีต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสยาม ตลอดจนกิจการของหน่วยงานราชการอื่นๆ ทั้งยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้เอกชนทั่วไปด้วย ซึ่งหน่วยงานแห่งนี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติในเวลาต่อมา

ในส่วนของงานด้านวิทยุ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้ในประเทศ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงดำริให้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2471 และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง โดยทำการทดลองที่ตำบลศาลาแดงใช้ชื่อสถานีว่า “หนึ่ง หนึ่ง พีเจ” (HS 11 PJ) ซึ่งคำว่า “พีเจ” นั้น ย่อมาจากคำว่า “บุรฉัตรไชยากร” อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ โดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 7 จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

แม้ว่า กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จะทรงทุ่มเททำงานแทบทุกแขนงเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง แต่ความทุ่มเทของพระองค์ท่านกลับต้องดำเนินควบคู่ไปกับการถูกกล่าวหาใส่ร้าย นั่นคือมีคนพยายามสร้าง “ข่าวลือ” ว่าท่านร่ำรวยมหาศาลจากการกว้านเก็บที่ดินในพื้นที่ต่างๆ ทุกครั้งที่มีการขยายเส้นทางรถไฟ

ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลคณะราษฎรได้ขึ้นมามีอำนาจและปลดกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินออกจากงานราชการ และรัฐบาลได้หันไปมุ่งเน้นความสำคัญของการคมนาคมทางบกแทน โดยแทบไม่ให้ความสนใจนโยบายกิจการรถไฟอีกเลย อีกทั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ก็ได้ถูกยุบเลิก ในขณะที่สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามซึ่งทรงเป็นนายกสมาคมมาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 นั้น ได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2476

พระกรณียกิจด้านต่างๆ ของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน จึงเริ่มลดบทบาทลงนับแต่นั้นมา และภายหลังทุกคนก็ได้รับรู้ความจริงว่า แท้จริงแล้วท่านไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติมากมายตามที่มีคนพยายามสร้างข่าวลือเลย ที่ดินที่เขาลือกันว่าเป็นของพระองค์ท่าน จริงๆ แล้วก็คือที่ดินที่มอบไว้ให้กับการรถไฟแทบทั้งสิ้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัวเมื่อปี พ.ศ. 2476 กระทั่งวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ สิริพระชนมายุได้ 54 ปี

ทั้งหมดคือเรื่องราวและพระอัจฉริยภาพของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน “พระบิดาแห่งรถไฟไทย” ผู้ที่ได้ทรงสร้างสิ่งต่างๆ ไว้ให้กับบ้านเมืองมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์ท่าน ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งจะสร้างคุณูปการไว้ให้ประเทศไทยได้มากมายถึงขนาดนี้

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า