โต้แย้งทึกทักวิชาการไฮเวยาธิปไตย ทางหลวง ‘สงขลา-ไทรบุรี’ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรับจากเส้นทางเก่าหาใช่สร้างใหม่เพื่อรับใช้กษัตริย์

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งออกใหม่ชื่อ ‘ไฮเวยาธิปไตย : อำนาจของถนนกับพลวัตรการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย’ เขียนโดย อาจารย์ภิญญพันธุ์ จนะลาวัณย์ โดยในหน้าที่ 16 อาจารย์ภิญญพันธุ์ได้เขียนถึงประวัติของถนนไทรบุรี (ปัจจุบันคือถนนกาญจนวณิชย์) อันเป็นถนนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสงขลาบ้านเกิดของผู้เขียน เอาไว้ว่า

‘…ทางหลวงสายแรกของสยามเกิดขึ้นนอกราชธานี แต่ก็ไม่พ้นจะเกิดขึ้นเพื่อรับใช้กษัตริย์ เส้นทางสายสงขลา-ไทรบุรี สร้างขึ้นหลังจากรัชกาลที่ 5 กลับจากอินเดียในปี 2414 เพื่อรับรองรถม้าพระที่นั่งจากไทรบุรีไปสงขลา ชื่อถนนราชดำเนินหรือถนนรับเสด็จช่วยประกาศความเป็นเจ้าของและอำนาจอธิปไตยสูงสุดในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าขณะนั้นไทรบุรียังอยู่ภายใต้อำนาจสยามอยู่…’ [1]

ผู้เขียนมีความเห็นว่าข้อความข้างต้นคลาดเคลื่อนไปจากหลักฐานและความเป็นจริงอยู่มาก และยังเป็นการตีความไปเองของผู้เขียนหนังสือ โดยที่ไม่ได้ศึกษาลงลึกถึงหลักฐานชั้นต้นว่าในความเป็นจริงแล้ว ถนนไทรบุรีมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับใคร เและเหตุใดจึงมีการสร้างถนนสายนี้ขึ้น ผู้เขียนในฐานะคนในพื้นที่จึงขอนำ ‘ความจริง’ มาเปิดเผย โดยยึดอยู่บนพื้นฐานของเอกสารชั้นต้นและตัดอคติรวมถึงข้อทึกทักต่าง ๆ ออกไปให้หมดสิ้น เพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนสร้างความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของถนนสายดังกล่าว

แต่เดิมนั้นเส้นทางตั้งแต่อำเภอหาดใหญ่-สะเดา (ตำบลปริก พะตง การำ ทุ่งหาดใหญ่) ไปจนถึงเขตชายแดนไทรบุรี ถือเป็นเส้นทางเก่าแก่ที่กองทัพใช้สำหรับปราบกบฏไทรบุรี ที่เข้ามาบุกตีทุ่งหาดใหญ่ซึ่งถือเป็นพื้นที่การปกครองของสยาม (สงขลา) โดยเส้นทางเดินทัพนี้ถูกใช้มาจนถึงยุคสงครามสยาม-ไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2381 [2] จึงกล่าวได้ว่าก่อนที่จะเกิดเป็นถนนทางหลวงขึ้นนั้น อย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 3 เส้นทางถนนไทรบุรีก็ถูกใช้ในฐานะเป็นเส้นทางเดินทัพ รวมถึงยังเป็นเส้นทางค้าขายระหว่างผู้คนในพื้นที่เมืองสงขลาและไทรบุรีอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาของคนในพื้นที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ อีกว่าในอดีตบริเวณนี้ยังเคยเป็นจุดพักแวะและจุดเลี้ยงช้างของเจ้าเมืองสงขลาอีกด้วย

เหตุนี้ในอดีตถนนไทรบุรีก่อนที่จะมีการสร้างเป็นเส้นทางหลวงจึงน่าจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นทั้งเส้นทางเดินทัพที่สามารถใช้ได้ทั้งเกวียนและช้าง ดังนั้นถนนสายนี้จึงมี ‘ความสำคัญโดยธรรมชาติ’ ก่อนที่ส่วนกลางจะมีนโยบายปรับปรุงให้เป็นทางหลวงในปี พ.ศ.2405 อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 (ไม่ใช่รัชกาลที่ 5) ดังจะได้กล่าวต่อไป

จากความสำคัญนี้เอง ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้มีการปรับปรุงเส้นทางสายเมืองสงขลาและไทรบุรีให้เป็นกิจจะลักษณะและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ด้วยการปรับให้เป็น ‘ทางหลวง’ เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้แก่ราษฎรระหว่าง 2 เมืองใหญ่ที่มักสัญจรไปมา โดยมี 2 แลนมาร์คสำคัญ คือ ตัวเมืองสงขลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของตระกูล ณ สงขลา และเมืองไทรบุรี (เคดาห์) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านไทรบุรี

การปรับปรุงเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยมากขึ้น จึงเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ราชการและประชาชน มิใช่เพื่อตัวพระมหากษัตริย์ เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงระบุชัดเจนว่าเงินสำหรับสร้างเส้นทางสายนี้มาจากเงินผลประโยชน์จากภาษีอากรในพื้นที่ นั่นคือ เงินส่วยจากเมืองสงขลาและอากรรังนกของเมืองสตูล ดังปรากฏข้อความสำคัญ ว่า

‘…พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลาจัดการสร้างทางหลวงจากเมืองสงขลาไปต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี พระราชทานเงินส่วยเมืองสงขลา 3 ปีให้ทำ และให้เจ้าพระยาทำต่อไปในแขวงเมืองไทรบุรี พระราชทานเงินอากรรังนกเมืองสตูล 15,000 เหรียญ เป็นทางหลวงข้ามแหลมมลายู สาย 1 ใช้เป็นประโยชน์มาจนบัดนี้ …’ [3]

สำหรับแรงงานที่มาสร้างถนนสายนี้ ในเอกสารชั้นต้นระบุว่ามีทั้งแรงงานที่เป็นพลเมืองสังกัดเมืองสงขลา (เลขสม) และหัวเมืองแขกที่ขึ้นแก่เมืองสงขลา (หมายถึง 7 หัวเมืองปัตตานีเดิม) โดยให้เริ่มทำถนนจากเมืองสงขลามาจนถึงชายแดนไทรบุรี ส่วนบริเวณตั้งแต่เขตไทรบุรีก็ให้ไพร่ของเมืองไทรบุรี ปะลิส สตูล ทำถนนมาจนบรรจบกันที่จุดของไพร่เมืองสงขลาทำเอาไว้ เรียกได้ว่าเป็นการลงแรงงาน ‘คนละครึ่ง’ ซึ่งท้ายที่สุดจุดบรรจบกันระหว่างแรงงาน 2 เมืองอยู่ที่ ‘บ้านหัวถนน’ ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ณ คลองลุ่มแดน หลักกิโลเมตรที่ 66.8 [4]

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าพระราชดำริในการสร้างทางหลวงเส้นนี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ใช่รัชกาลที่ 5 ดังที่ปรากฏในหนังสือของอาจารย์ภิญญพันธุ์ และประเด็นสำคัญคือ การที่รัชกาลที่ 4 ทรงระบุให้ใช้ ‘เงินผลประโยชน์’ จากพื้นที่ย่อมเป็นการสะท้อนแนวคิดเรื่องระบบการปกครองแบบท้องถิ่น (Local government) ที่แม้จะต้องรออีกหลายสิบปีกว่าสงขลาจะมีการปกครองแบบมิวนิซิปอล-สุขาภิบาลเกิดขึ้นก็ตาม แต่การเอ่ยถึง ‘เงินผลประโยชน์’ ที่วางอยู่บนหลักการของการเก็บผลประโยชนในท้องถิ่น เพื่อนำมาใช้กับกิจการท้องถิ่นย่อมมีเค้าลางของแนวคิดนี้อย่างปฏิเสธมิได้

ต่อมาในปี พ.ศ.2414 (หรือ 9 ปีหลังจากรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริฯ ) ได้มีการปรับปรุงเส้นทางสายนี้ให้มีความทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม โดยในปีนั้นมีเหตุการณ์สำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการประพาสประเทศอินเดีย ขบวนเสด็จฯ ขึ้นบกที่ไทรบุรีแล้วประทับด้วยรถม้ามาจนถึงสงขลา ก่อนเสด็จทางสถลมารค (ลงเรือ) ที่เมืองสงขลาและผ่านหาดทรายที่หาดใหญ่ การปรับปรุงถนนไทรบุรีครั้งนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของพระยาเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาซึ่งเป็นทั้งผู้รับผิดชอบโครงการและเป็นผู้จัดทำแผนที่ปรับปรุงเส้นทางอีกด้วย [5]

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศสยามหรือไทยจึงได้ใช้ชื่อถนนไทรบุรีเป็นชื่อทางการนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมา และเพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนกาญจนวณิชย์’ ในปี พ.ศ.2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาประกิตต์กลศาสตร์ (ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์) อดีตนายช่างสงขลาในเวลานั้น อย่างไรก็ดี ถนนในเขตเทศบาลนครสงขลาเส้นหนึ่งก็ยังใช้ชื่อว่า ‘ถนนไทรบุรี’ มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วน ‘ถนนราชดำเนิน’ ในพื้นที่ตำบลบ่อยาง เทศบาลนครสงขลานั้น เป็นเพียงแค่ถนนเส้นหนึ่งในเขตเมืองสงขลาเท่านั้น (ไม่ได้หมายถึงถนนไทรบุรีทั้งสาย) และถ้าหากจะนับว่าเป็นถนนที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จริง ผู้เขียนก็ไม่อาจจะยืนยันได้ว่าเป็นเหตุการณ์รับเสด็จในปีใดกันแน่ เพราะหลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว รัชกาลที่ 5 เสด็จสงขลาอีก 8 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2114, 2431, 2433, 2439, 2441, 2443, 2444 และ 2448 ตามลำดับ และการเสด็จแต่ละครั้งก็ล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดของการรับเสด็จในส่วนของข้าราชการและประชาชนทั้งสิ้น

จึงกล่าวได้ว่า การเอาชื่อถนนไทรบุรีไปผูกโยงกับอำนาจของกษัตริย์นั้น เป็นการกล่าวที่เกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ถนนไทรบุรีสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเงินผลประโยชน์ท้องถิ่นและแรงงานของไพร่พลเมืองสงขลา-ไทรบุรี เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการสัญจรไปมาระหว่างคนทั้ง 2 ฟากฝั่งสยาม-มลายู โดยมีเมืองสงขลาและไทรบุรีเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของแต่ละฝั่ง หาได้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์เองไม่ (ในกรณีนี้หมายถึงการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถม้าของพระมหากษัตริย์)

นอกจากนี้ การตั้งชื่อว่า “ถนนไทรบุรี” ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการประกาศอำนาจอธิปไตยสูงสุดของสยามต่อไทรบุรีแต่อย่างใด เพราะหลักฐานชั้นต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกเพียงในความหมายว่า ‘ถนนจากสงขลาไปไทรบุรี’ ต่อมาจึงกร่อนเหลือเพียงแค่ ‘ถนนไทรบุรี’ โดยให้ความรู้สึกว่าจะเดินทางไปไทรบุรีก็ได้โดยใช้เส้นทางนี้ (เช่นเดียวกับเส้นทางเดินทัพในสมัยรัชกาลที่ 3) หาได้เกี่ยวกับความรู้สึกประกาศศักดาความยิ่งใหญ่เหนือไทรบุรีแต่อย่างใด

อ้างอิง :

[1] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. ไฮเวยาธิปไตย : อำนาจของถนนกับพลวัตรการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย หน้า 16.
[2] เถกิงศักดิ์ พัฒโน และคณะ. ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ ชุดพิเศษ พระบารมีร่มเกล้าฯ ชาวหาดใหญ่ : โครงการรวบรวมประวัติเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่. หน้า 29 และ 50-51.
[3] หนังสือเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีอภัยพิริยบรากรมภาหุสมุหพระกลาโหม ถึงพระยาไทรบุรี ลงวันที่ 5 10 ค่ำ ปีชวด ฉอศก อ้างถึงใน เถกิงศักดิ์ พัฒโน และคณะ. ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ ชุด 4 ยุคปรากฏชื่อบ้านในประวัติศาสตร์ ตอน 1 รากเหง้าแห่งโครงสร้างพื้นฐาน : โครงการรวบรวมประวัติเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่. หน้า 3.
[4] เถกิงศักดิ์ พัฒโน และคณะ. ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ ชุด 4 ยุคปรากฏชื่อบ้านในประวัติศาสตร์ ตอน 1 รากเหง้าแห่งโครงสร้างพื้นฐาน : โครงการรวบรวมประวัติเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่. หน้า 8 – 13.
[5] เถกิงศักดิ์ พัฒโน และคณะ. ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ ชุด 4 ยุคปรากฏชื่อบ้านในประวัติศาสตร์ ตอน 1 รากเหง้าแห่งโครงสร้างพื้นฐาน : โครงการรวบรวมประวัติเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่. หน้า 29.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของ