‘Democracy In Siam’ แนวทางการเปลี่ยนระบอบสู่ประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2470

หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้ามากที่สุดในสยาม ณ เวลานั้น เป็นผู้อภิวัฒน์และแผ้วถางเส้นทางประชาธิปไตยให้แก่สยาม กระทั่งปัจจุบันยังมีผู้อ้างบุญคุณ และพยายามสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ดังคำกล่าวอ้างในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา

แต่รู้ไหมว่า ก่อนหมุดหมายแรกแห่งประชาธิปไตยของคณะราษฎรนั้น มีหลักฐานสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่ง ซึ่งสะท้อนมุมมองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีต่อระบอบการปกครอง รวมถึงรูปแบบ และวิธีการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมสู่ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ พระราชบันทึกที่มีชื่อว่า “Democracy in Siam” ความยาว 3 หน้ากระดาษ ที่ได้พระราชทานลงมายังคณะกรรมการจัดระเบียบองคมนตรี ในเดือนมิถุนายน 2470

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมองว่า หากประชาชนไม่มีความเข้าใจและตระหนักรู้เพียงพอ การเมืองของประเทศก็จะถูกครอบงำโดยนายทุน เพื่อหวังผลประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น และหากนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้โดยไม่เข้าใจถ่องแท้ ระบบรัฐสภาก็จะล้มเหลวและเป็นเพียงกระดานหนึ่งของเกมการเมือง

พระองค์ทรงย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างที่สุด ที่จะต้องให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและมีจิตสำนึกทางการเมือง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดลอง เพื่อให้ได้การปกครองแบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสยาม

จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งเทศบาล (municipalities) อันเป็นการวางรากฐานแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้การใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในระดับท้องถิ่น และพัฒนาต่อยอดไปสู่การปกครองในระดับประเทศนั่นคือ ระบบรัฐสภา

อีกทั้งระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบใด ๆ ก็ตาม การปกครองจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและความมีเหตุผลของผู้ใช้อำนาจนั้น นั่นคือ ประชาชนที่มีความตระหนักรู้ และประมุขหรือผู้นำที่ดี

ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะจัดให้มี สภากรรมการองคมนตรี เป็นองค์การที่ปรึกษาส่วนพระองค์ มีการจัดประชุมอภิปรายแบบรัฐสภา และวางตัวเปรียบเสมือนดั่งสถาบันที่ควบคุมและกำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในความเหมาะสมอีกด้วย

ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ” โดยคำว่า พระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ นั้นก็มีความหมายตรงตัวกับ ระบอบพระมหากษัตริย์ “ตาม” รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

อนึ่ง ใจความสำคัญดังที่ได้สรุปมาข้างต้น ของพระราชบันทึก “Democracy in Siam” มีเนื้อความดังต่อไปนี้

“คำถามที่ว่ารูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเหมาะสม หรือมีทางที่จะเหมาะสมกับสยามหรือไม่ เป็นคำถามที่ได้มีการถกกันในหมู่ปัญญาชนสยามมานานแล้ว และแม้ปัจจุบันนี้ ก็กำลังมีการถกกันอยู่ในหมู่ผู้ที่มีการศึกษาครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยบางคนได้แสดงความคิดเห็นของเขาออกมาแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ของสยาม มีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า สยามในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่อาจจะต้องรับมันมาใช้ในกาลข้างหน้าอันยาวไกล …

 … บางทีประเทศบางประเทศได้นำประชาธิปไตยมาใช้เพียงเพราะเป็นความจำเป็น โดยรู้อยู่แก่ใจว่าไม่เหมาะสมแก่ลักษณะของประชาชน ดังนี้จึงมีประเทศที่มีรัฐสภากันเป็นการเล่น ๆ สำหรับข้าพเจ้าแล้วเห็นว่าไพ่กำลังบอกว่าเราอาจต้องเล่นเกมชนิดนั้นในสยามในกาลใดกาลหนึ่ง ด้วยข้อพินิจพิจารณาเหล่านี้อยู่ในใจ ข้าพเจ้าจึงกำลังคิดคำนึงถึงการปฏิรูปบางอย่างบางประการอยู่ในปัจจุบัน

 สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ดูจะเป็นว่า หากยอมรับกันว่าวันใดวันหนึ่งเราอาจถูกบังคับให้มีประชาธิปไตยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในสยาม เราจักต้องเตรียมตัวของเราให้พร้อมที่จะมีมัน อย่างค่อยเป็นค่อยไป เราจะต้องเรียนรู้และเราจะต้องให้การศึกษาตัวเราเอง เราจะต้องเรียนรู้และทดลองเพื่อที่เราจะได้มีแนวคิดว่าการปกครองในระบบรัฐสภาจะดำเนินไปอย่างไรในสยาม เราจักต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนให้เขามีสำนึกทางการเมือง ให้เขารู้ซึ้งซึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงของเขา เพื่อที่เขาจะได้ไม่หลงเข้าใจผิดไปตามบรรดานักปลุกระดมหรือผู้ที่ฝันใฝ่แต่จะหาโลกพระศรีอาริย์ หากเราจะต้องมีรัฐสภา เราจะต้องสอนประชาชนให้รู้ว่าจะออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งอย่างไร จึงจะได้มาซึ่งผู้แทนที่มีผลประโยชน์ของเหล่าประชาชนอยู่ในหัวใจ …

 … ขั้นตอนต่อไปของการเรียนรู้สู่ประชาธิปไตยของเรา จะเป็นการจัดตั้งเทศบาล (municipalities) นี่จะเป็นวิธีการสอนประชาชนให้รู้ว่าจะใช้สิทธิลงคะแนนเสียงอย่างไร และการทดลองเช่นนี้ก็จะพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์และเป็นบทเรียน จะเป็นการดีกว่าแน่ ๆ ที่จะให้ประชาชนได้ควบคุมกิจการท้องถิ่น ก่อนที่เขาจะพยายามควบคุมกิจการของรัฐโดยผ่านรัฐสภา ข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงใจว่าหากการปฏิรูปเหล่านี้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นที่ว่านี้ มีโอกาสที่จะนำรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภามาใช้ได้โดยไม่เกิดอันตรายมากนัก แต่ว่ากระบวนการนี้จะต้องค่อยเป็นค่อยไปมาก และรอบคอบเหมือนกับการกำหนดปริมาณของยาที่แพทย์ให้ในแต่ละครั้ง …

 … คำถามอีกคำถามหนึ่งซึ่งอยู่ในห้วงความคิดคำนึงของผู้ใช้ปัญญาในสยามด้วย ก็คือ อันตรายอันเกิดจากการใช้อำนาจเด็ดขาดของพระเจ้าแผ่นดินโดยปราศจากการทัดทาน สมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นเดียวกับประชาธิปไตย อาจกลายเป็นอันตรายเมื่อใดก็ได้ ด้วยเหตุที่ว่า ทั้งสองหลักการตั้งอยู่บนฐานความเชื่อในความดีเลิศประเสริฐศรีของธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งนับเป็นฐานที่อ่อนเปลี้ยยิ่งจึงพึ่งไม่ได้ ประชาธิปไตยที่เป็นปึกแผ่นต้องพึ่งการที่ประชาชนยึดมั่นในการใช้เหตุผลฉันใด สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เอื้ออาทรจะมีได้ ก็แต่โดยอาศัยคุณสมบัติที่เหมาะสมของพระราชาฉันนั้น …

 … ข้าพเจ้ามีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะจัดให้มีสถาบันบางอย่าง ที่จะทำการเหนี่ยวรั้งการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์สยามที่เป็นไปตามอำเภอพระราชหฤทัยหรือไม่เป็นการเฉลียวฉลาด (ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงไม่มีผู้ใดที่จะต้องการเหนี่ยวรั้งการกระทำที่ดีของพระองค์?) ข้าพเจ้ารู้สำนึกว่า หากข้าพเจ้าประสบความสำเร็จในการที่จะให้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์จริงได้วิวัฒน์ขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้ทำประโยชน์ใหญ่หลวงตามหน้าที่ให้แก่ประเทศชาติของข้าพเจ้าและต่อพระบรมราชวงศ์ …”

พระราชบันทึก “Democracy in Siam” เป็นสิ่งที่แสดงให้ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับสยาม มาตั้งแต่ พ.ศ. 2470

และจากวันนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างใน “Democracy in Siam” ยังคงยืนยันในความจริงอย่างไม่มีผิดเพี้ยนว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเกิดจากการเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ของคนในชาติ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่เข้ามาฉกฉวยโอกาส หรือแม้กระทั่งยุยงปลุกปั่นให้บ้านเมืองเกิดความเสียหาย และเหนืออื่นใด ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์อันจะเกิดแก่ประชาชนเอง มิใช่แก่องค์กรหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ เพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า