โครงการพระราชดำริ ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ เพราะแม้ว่าในหลวงจะทรงริเริ่ม แต่ก็ไม่เคยแทรกแซงละเมิดกฎหมาย และล้มเลิกได้หากรัฐเห็นว่าไม่เหมาะสม

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (รวมไปถึงโครงการประเภทอื่นๆ) เป็นโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านโครงสร้างที่จับต้องได้ต่างๆ โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน โครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้นมีจุดกำเนิดที่เกิดขึ้นในช่วงยุคเหลื่อมกับสงครามเย็นพอดี แต่การเกิดขึ้นของแนวคิดการพัฒนาในช่วงสงครามเย็นกับการสร้างโครงการเพื่อหนุนให้เกิดโฆษณาชวนเชื่อนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

การทำโครงการต่างๆ เหล่านี้ในยุคที่โครงการเกิดขึ้นนั้น ไม่มีผู้มีอำนาจหรือประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำโครงการเหล่านี้ หรือโครงการเหล่านี้จะไปเกื้อหนุนพระมหากษัตริย์อย่างไร เพราะปัจจัยในขณะนั้นมีเพียงแค่ว่า จะอยู่รอดอย่างไรท่ามกลางความตึงเครียดจากกระแสการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี นักวิชาการในยุคหลังได้ย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงโครงการต่างๆ เหล่านี้ โดยประเด็นที่ผุดขึ้นมาประเด็นหนึ่งนั่นก็คือ โครงการเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความนิยมในพระมหากษัตริย์ผ่านแผนจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ หรือนักวิชาการบางท่านได้ไปไกลถึงขนาดว่า เป็นเรื่องการสถาปนาพระราชอำนาจนำ (Hegemony) ตามแนวคิดของนักคิดอิตาเลียน Antonio Gramsci

การตั้งคำถามดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้เมื่อลองมาดูในรายละเอียดของโครงการต่างๆ ก็จะพบว่า จุดมุ่งหมายหรือกระบวนการระหว่างทางบางอย่างไม่ได้สอดคล้องกับคำถามที่นักวิชาการเหล่านั้นตั้งขึ้น และทำให้เกิดคำถามอีกคำถามว่า “ถ้าหากต้องการทำโฆษณาชวนเชื่อ โครงการเหล่านั้นสามารถทำส่งๆ ไปก็ได้มิใช่หรือ? แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือโครงการเหล่านี้กลับมีประโยชน์ต่อประชาชนจริง” (หรือกระทั่งคำถามว่า โครงการที่เทิดพระเกียรติให้พระองค์นั้นจริงๆ แล้วรัฐบาลเป็นผู้ทำให้เองทั้งนั้น โดยที่พระองค์ไม่ได้ไปร้องขอ)

ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะแจกแจงรายละเอียดของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างคร่าวๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลในโครงการต่างๆ เหล่านี้ ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาและช่วยเหลือกัน มากกว่าที่จะทำเพื่อโฆษณาชวนเชื่อหรือเพื่อสร้างอำนาจนำให้ใคร

สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะแรกแบ่งออกได้สองแบบคือ โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษาส่วนพระองค์ก่อนที่จะค้นหาแนวทางนำไปช่วยเหลือประชาชน ประเภทที่สองคือโครงการที่มีลักษณะส่งเสริม เป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานที่เกษตรกรประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ [1] แต่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเรามักจะเห็นเป็นรูปธรรมในแบบที่สองมากกว่า ซึ่งอันที่จริงแบบแรกก็น่าสนใจเพราะหมายความว่าสามารถมีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวได้ แต่ที่ปรากฏออกมาว่าสำเร็จนั้นเพราะได้ผ่านการกลั่นกรองก่อนลงมือทำมาแล้วนั่นเอง

โครงการเหล่านั้นยังมีชื่อเรียกต่างกัน คือ

โครงการตามพระราชประสงค์ ที่ใช้เงินส่วนพระองค์ศึกษาทดลอง หากได้ผลดีรัฐบาลจะมารับช่วงต่อ

โครงการหลวง เป็นโครงการพัฒนาในเขตภาคเหนือ

โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อแนะนำ และมีพระราชดำริให้เอกชนนำไปดำเนินการ รวมถึงมีการติดตามผลงานด้วย

โครงการพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระองค์ทรงวางแผนและเสนอแนะให้รัฐบาล แต่พระองค์ทรงรับสั่งเสมอว่าเป็นเพียงข้อเสนอแนะ รัฐบาลต้องไปวิเคราะห์ ถ้าเป็นไปได้และคุ้มค่าก็ควรทำ แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็ล้มเลิกได้ [2]

ในบางครั้งโครงการเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่ผู้ที่คิดค้นเองทั้งหมด แต่เป็นความต้องการของประชาชนที่ร้องเรียนมาก่อนแล้ว ซึ่งความช่วยเหลือของรัฐบาลอาจยังเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง เช่น จากโครงการชลประทานคลองสังข์ที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะไม่ได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำเอาไว้ด้วย เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระองค์จึงได้เสด็จไปยังพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน และมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการ แต่โครงการก็ยังมีการติดขัดหลายประการกว่าจะมาสำเร็จก็อีกนับสิบปีให้หลัง [3] และยังเห็นได้อีกด้วยว่า พระองค์เป็นเสมือนผู้ไป “กระตุก” เท่านั้น โดยที่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการต่างๆ แต่อย่างใด

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น โดยทั่วไปมีขั้นตอนดังนี้ [4]

  1. เมื่อพระองค์เสด็จหรือเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น พายุ จะมีพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไปช่วยเหลือ
  2. เมื่อเสด็จตามที่ต่างๆ จะพระราชทานพระราชดำริให้ผู้ตามเสด็จดำเนินโครงการต่างๆ
  3. การถวายฎีกา กล่าวคือ เมื่อมีการถวายฎีกาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขึ้นมา สำนักงาน กปร. จะตรวจสอบข้อเท็จจริงถวายพระองค์เพื่อขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย เมื่อพระองค์มีพระราชวินิจฉัย สำนักงาน กปร. จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพราะพระองค์จะระมัดระวังในการดำเนินงานต่างๆ มาก ดังที่ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุดคนหนึ่งเล่าว่า…

“โดยในฐานะของพระองค์นั้นไม่ทรงมีสิทธิ์ที่จะไปสั่งการหน่วยราชการซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล พระองค์ทรงระมัดระวังเรื่องนี้มาก ถ้าอยู่ใกล้ชิดพระองค์จะเห็นว่าทรงระวัง พวกเราเองมักจะคิดหรือพูดว่า ทำไมท่านไม่ทำอย่างนี้ ! ทำไมท่านไม่ทำอย่างนั้น ! ทำไมท่านไม่ออกมาเสียที ! ทำไมท่าน… ! เป็นเรื่องที่เราคิดได้ตามความรู้สึกตามความอยากของเรา หลายเรื่องผมเคยกราบบังคมทูลถามว่า ทำไมไม่ทรงทำอย่างนี้ ! รับสั่งว่า ไม่ได้ ! ผิด ! ทำอย่างนี้ไม่ได้ กฎหมายไม่เอื้อ ทำอย่างนี้ถูก อย่างนี้ทำไม่ได้ !” [5]

ดังนั้น ถึงแม้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระองค์จะเป็นผู้ “กระตุก” ให้รัฐบาลทำ แต่ก็ไม่ได้เกินขอบเขตของกฎหมาย และไม่ได้เป็นการก้าวก่ายจนละเมิดหลักการ The King can do no wrong อย่างที่หลายคนเข้าใจเพราะมีผู้ทำ พระองค์มิได้ทำเอง และการจะทำต้องมีการกลั่นกรองก่อนจะทำแล้ว โครงการที่เห็นสำเร็จหลายโครงการนั้นจึงเป็นเพราะมีการไตร่ตรองและติดตาม ดังนั้นเมื่อมีการถวายพระเกียรติโครงการเหล่านี้แด่พระองค์ บางคนจึงอาจนึกไปว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นการทำให้พระองค์มีอำนาจนำ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

เพราะพระองค์เพียงแค่กระตุ้นและกระตุก โดยมิได้หวังว่าจะต้องมีการถวายอะไรให้พระองค์ตอบแทน หรือหากทำไปเพื่อโฆษณาชวนเชื่อแต่ประการเดียว โครงการเหล่านี้ก็แค่ทำส่งๆ ไปก็พอ แต่ในความเป็นจริงนั้น โครงการเหล่านี้มีการติดตาม มีการแก้ไข และมีประโยชน์ในพื้นที่จริง โครงการต่างๆ เหล่านี้จึงมากไปกว่าแค่เรื่องชวนเชื่อหรือการสถาปนาพระราชอำนาจนำแบบที่ใครบางคนตีความ

อ้างอิง :

[1] วรนุช อุษณกร, ในหลวงกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2540), หน้า 12.
[2] วรนุช อุษณกร, ในหลวงกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, หน้า 12-14.
[3] ดูรายละเอียดใน นวพร พรรณรัตน์, “เพื่อสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: กรณีกรมชมประทานจัดทำโครงการ “ชลประทานคลองสังข์”,” Journal of Thai Ombudsman, 21(1): 172-179.
[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 225-226.
[5] สุเมธ ตันติเวชกุล, ตามรอยพระยุคลบาท ครูแห่งแผ่นดิน, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), หน้า 7.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า