สะเทือนถึงการ์ดเกม PATANI! เมื่อศาลแคนาดาพิพากษา ‘การสร้างความเกลียดชัง และบิดเบือนประวัติศาสตร์’ ไม่ใช่เสรีภาพและยอมรับไม่ได้

บทความโดย : ณฐ

จากกรณีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ายึดบอร์ดการ์ดเกม Patani Colonial Territory ซึ่งผลิตโดยกลุ่ม Chachiluk ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลังจากพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่อาจจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ได้

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แน่นอนว่าย่อมมีคำถามและคำวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามว่า การดำเนินการตามกฎหมายตามกรณีนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก (Freedom of Expression) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่โลกเสรีประเทศตะวันตกและประเทศที่เจริญแล้วต้องให้การเคารพอยู่หรือไม่?

หากฟังความข้างเดียวจากฝั่งผู้ร้องเรียน อาจจะรู้สึกว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวนั้นรุนแรงเกิน เปราะบาง ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการปิดปาก (Censure) ประชาชนในการแสดงความเห็นต่างๆ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากล หลักวิชาการ และหลักนิติธรรม

ถึงอย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้พบว่าการกระทำในรูปแบบเดียวกันนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐ หากว่ากันตามหลักการโลกประชาธิปไตยเสรีนิยมแล้ว ถือว่าเหมาะสมและถูกต้อง ไม่ขัดต่อหลักการสากลใดๆ ทั้งมวล เพราะในโลกตะวันตกก็ได้มีการตัดสินคดีทำนองนี้เช่นกัน และได้พิพากษาจนกลายเป็นหลักทางกฎหมายแล้วว่า การกระทำเช่นนี้ทำได้และถูกต้องทุกประการ

คดีที่ว่านั้นเกิดขึ้นในประเทศแคนาดา ที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยและเป็นโลกเสรีเต็มตัว ทั้งยังมีนักกฎหมายไทยหลายท่านมาศึกษาต่อที่นี่ด้วย โดยคดีสำคัญนี้ชื่อว่า R. V. Keegstra , [1990] 3 SCR 697 โดยปัจจุบันถือเป็นคดีวางหลัก (Landmark Case) ที่สำคัญที่นักกฎหมายแคนาดาต้องศึกษากันทุกคน

ข้อเท็จจริงในคดี

ช่วงปี ค.ศ. 1984 นาย James Keegstra ผู้ต้องหาคดีนี้ นอกจากจะเป็นนายกเทศมนตรีของเมือง Eckville ยังเป็นอาจารย์สอนนักเรียนมัธยมปลายใน Alberta ด้วย โดยระหว่างที่เป็นอาจารย์นั้น เขาได้สร้างความเกลียดชังต่อชาวยิว (Anti-Simitic) ในโรงเรียน โดยเอาข้อมูลเท็จที่ไร้การพิสูจน์มาสอน เช่น

  1. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือ Holocaust ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เป็นการเล่นเป็นเหยื่อของชาวยิวเพื่อขอความเห็นใจชาวโลก
  2. ยิวควบคุมธนาคารต่างๆ และเป็นผู้สร้างความวุ่นวายและสงครามตัวจริงบนโลกนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
  3. รัฐ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย พยายามปิดบังและบิดเบือนประวัติศาสตร์นี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื้อหาที่ว่าก็ไม่เคยอยู่ในตารางสอน แถมนาย Keegstra ยังเอามาออกข้อสอบเก็บคะแนนอีกด้วย [1]

ปัญหาทางกฎหมาย

ต่อมานาย Keegstra ถูกจับโดยข้อหา จงใจส่งเสริมสร้างความเกลียดชังแก่กลุ่มคนที่ระบุตัวตนได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญาของแคนาดา (Criminal Code of Canada) มาตรา 319 (2) และ 319 (3) (a)  โดยนาย Keegstra จำเลยต่อสู้ว่า กฎหมายดังกล่าวขัดต่อกฎบัตรสิทธิและเสรีภาพของแคนาดา (Canadian Charter of rights and Freedoms) มาตรา 2 (b) ที่ระบุว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ความเชื่อ ความคิดเห็น [2]

แต่กระนั้นก็ดี ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า มาตราและข้อหาดังกล่าวนั้น ไม่ขัดต่อกฎบัตรสิทธิและเสรีภาพของแคนาดา เพราะในกฎบัตรนั้น มีมาตรา 1 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า เสรีภาพในการแสดงออกที่จะได้รับการคุ้มครองที่ว่านี้ก็มีข้อจำกัด ที่ต้องเป็นการแสดงออกที่เป็นไปตามครรลองของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้น การตั้งใจสอนหนังสือด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวยิว จึงไม่เป็นเสรีภาพในการพูดหรือในการแสดงออก [3]

คำพิพากษา

ศาลฎีกาตัดสินว่านาย Keegstra มีความผิดจริงตามกฎหมายอาญา ฐานจงใจสร้างความเกลียดชังต่อชาวยิวโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งนอกจากถูกลงโทษปรับ $5,000 แล้ว เขายังโดนลงโทษจำคุก 1 ปี ให้รอลงอาญาและคุมประพฤติ 1 ปี พร้อมกับต้องทำงานสาธารณะ 200 ชั่วโมง นอกจากนี้เขายังถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบอาชีพครูในเวลาต่อมาด้วย[4]

หลักกฎหมายและเหตุผลที่ใช้ในการพิพากษาคดีนี้ ต่อมาได้ถูกนำไปใช้อ้างในคดีอื่นๆ ด้วย เช่น การพิมพ์นิตยสารเพื่อโจมตีชาวยิวและคนผิวดำผ่านข้อมูลเท็จโดยกลุ่มสุดโต่งที่นิยมคนขาวและพรรคการเมืองสายขวาจัด ถือว่าเป็น Hate speech ไม่ใช่เสรีภาพทางการแสดงออก และผิดกฎหมายอาญา ในคดี R v Andrews, [1990] 3 S.C.R. 870

แล้วกฎหมายไทยล่ะ? จะอ้างเสรีภาพการแสดงออกได้หรือไม่?

มาตรา 25 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า

…บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน…

ดังนั้น ถ้าการที่ศาลแคนาดาในคดีที่ยกมาข้างต้นบอกว่าการกระทำของนาย Keegstra นั้นเป็นการแสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) และไม่ถือว่าเป็นการกระทำตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย การเผยแพร่บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ที่มีเนื้อหาอ้างถึงการเจาะเอ็นร้อยหวายชาวมลายู ที่ยอมรับกันโดยดุษฎีในวงวิชาการแล้วว่า ไม่มีอยู่จริงและเป็นไปไม่ได้ในทางทางวิทยาศาสตร์ [6] เพื่อสร้างความรู้สึกว่าบรรพบุรุษของคนในพื้นที่ได้รับความอยุติธรรม ถูกริดรอนสิทธิ เสรีภาพและเอกราชที่เคยมี เคยถูกทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชังต่อรัฐสยาม อันอาจก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ผู้เล่นโดยเฉพาะเยาวชน ถึงขนาดที่อาจจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรได้ โดยใช้บอร์ดเกมดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้น ก็คงไม่ต้องบรรยายให้มากความว่า ถ้าในคดี R. V. Keegstra ศาลตัดสินว่าเป็น Hate speech ที่สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มคน และไม่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย กรณีบอร์ดเกมดังกล่าว ที่มีประเด็นกระทบเรื่องความมั่งคงอย่างชัดเจนเพิ่มด้วย ก็คงไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย อันจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือจากกฎหมายในโลกเสรีประชาธิปไตยประเทศไหนๆ แน่นอน

ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับการ์ดเกม Patani Colonial Territory ทุกคน สมควรได้รับโทษตามกฎหมายอาญาและทางปกครอง ทั้งในฐานะ ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ผู้โฆษณา เหมือนในคดี R. V. Keegstra และ R v Andrews นี้เช่นกัน

อ้างอิง :

[1] Bercuson, David J, and Douglas Wertheimer. A Trust Betrayed: The Keegstra Affair. Toronto, Canada: Doubleday Canada, 1985. 44.
[2] R. v. Keegstra, 1988 ABCA 234 (CanLII).
[3] R v Keegstra, [1990] 3 SCR 697
[4] John Boyko, Keegstra Case

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า