6 ข้อเรียกร้องชี้ชัด ‘กบฏบวรเดช’ ไม่ได้ทำเพื่อ ‘เจ้า’

ในระยะของการเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงวิธีในการปกครอง เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะต้องพบกับเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นมาจนส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากน้อยต่างกันไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เป็นปกติของการเปลี่ยนแปลง [1] หากพูดถึงสยาม การปะทะกันในการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกๆ นี้ เราจะเห็นได้จากกรณีการลุกฮือของกบฏเงี้ยว หรือกบฏผู้มีบุญ ส่วนในต่างประเทศก็มี เช่น การลุกฮือของชาวนาอังกฤษช่วง ค.ศ. 1630-1648 ซึ่งมีประเด็นในเรื่องของการปกครองเช่นเดียวกัน [2] ซึ่งในเหตุการณ์ของการลุกฮือต่างๆ เหล่านี้เรามักจะพบการให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีกระแสอย่างเช่นภูมิภาคนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว เราก็จะเห็นการตีความประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพื่อเน้นและเชิดชูความเป็นภูมิภาคนิยมขึ้น[3]

การเกิดขึ้นของปราฏการณ์เหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยเฉพาะหากบริบทในสังคมนั้นๆ มีเรื่องของความไม่ลงรอยทางการเมืองอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การพยายามช่วงชิงในการให้ความหมายกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นง่ายมากขึ้น ซึ่งในทางวิชาการเรียกกันว่าเป็นการศึกษาเรื่องเล่า (narratives) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเปลี่ยนไปได้อย่างไร [4] ซึ่งบางครั้งการที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้ถูกพยายามให้ความหมายนี้ทำให้เรารู้ว่า “ผู้ชนะไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์” เพราะต่างคนต่างก็มีความสามารถในการตีความประวัติศาสตร์ และบางครั้งการตีความนี้ก็ทำให้สิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่เสนอออกมาผ่านเรื่องเล่าห่างไกลกันออกไปจนเราหาความจริงจากเรื่องเล่านั้นได้ยากมากขึ้น

หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสยามที่ถูกพยายามให้ความหมายกันมากที่สุดคือเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ซึ่งฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าเหตุการณ์นี้คือความพยายามของ “พวกเจ้า” ในการยึดอำนาจรัฐบาลและหวนกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเราก็จะพบว่าคือความพยายามในการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ต่างหาก เมื่อความพยายามในการอธิบายมีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้ จึงน่าจะเข้าใจได้ว่า เหตุการณ์กบฏบวรเดชถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองโดยนักวิชาการ มากกว่าที่จะศึกษาเหตุการณ์ในตัวมันเอง เพื่อเป็นการสำรวจลงไปยังการแย่งชิงความหมายและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มักจะถูกดึงเข้าไปในเกือบทุกเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้น การศึกษาเหตุการณ์กบฏบวรเดชในแง่มุมที่ละเอียด จึงเป็นสิ่งที่สมควรยิ่ง แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นก็ตาม

กบฏบวรเดชอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แต่กลับมีการศึกษาโดยละเอียดน้อยมาก งานที่พยายามศึกษา (ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี) จนตีพิมพ์เป็นหนังสือก็มีอยู่ ที่เด่นชัดคืองานของณัฐพล ใจจริง ซึ่งพิมพ์มาถึง 4 ครั้งแล้วในปัจจุบัน [5] นั่นหมายความว่า ผู้คนให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้ แต่กลับมีงานที่สามารถหาอ่านและเข้าถึงได้น้อย ดังนั้นคำอธิบายของเหตุการณ์กบฏบวรเดชจึงได้ประทับลงในใจของผู้คนโดยไม่กี่คำอธิบายเท่านั้น กล่าวคือหากไม่ใช่ความพยายามของระบอบเก่าในการโค่นล้มคณะราษฎร ก็เป็นความพยายามในการทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ดังคำอธิบายของชัยอนันต์ สมุทวณิช [6] ซึ่งคำอธิบายของชัยอนันต์ก็ย้อนกลับไปถึงเมื่อ พ.ศ. 2517 แต่เหตุการณ์ที่ถูกศึกษาน้อยนี้กลับถูกใช้เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองในยุคปัจจุบันอย่างบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการเมืองกลับมาพุ่งอย่างรุนแรง

ความจริงแล้วในระหว่างการต่อสู้ รัฐบาลไม่เคยเรียกกบฏบวรเดชว่า “คณะเจ้า” เลย [7] และการกล่าวว่าเป็นแผนการที่ฟื้นคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะจะฟื้นระบอบเก่ากลับมาทำไมในเมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชนั้น พระยาศราภัยพิพัฒได้กล่าวว่า ได้ก่อหวอดประชาธิปไตยกับพระยาพหลพลพยุหาเสนามานานแล้ว[8] และต้องไม่ลืมว่าพระองค์บวรเดชมีปัญหาในเรื่องงบประมาณกระทรวงกลาโหมจนลาออกไปอีกด้วย หากฟื้นระบอบเดิมกลับมาพระองค์ก็จะทรงเจอกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่เคยมีปัญหากับพระองค์ การฟื้นกลับมาจึงเป็นไปได้น้อยมาก หรือถ้าหากจะเปลี่ยนการปกครองก็อาจจะเป็นการปกครองในแบบอื่นๆ มากกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเราต้องไม่ลืมว่าระบอบการปกครองมีอยู่มากมายโดยไม่จำเป็นต้องมองว่า “ประชาธิปไตย” คือการเดินหน้าหรือ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คือการถอยหลังแบบคู่ตรงกันข้าม

เมื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้อง 6 ประการของกบฏบวรเดชมีอยู่ว่า

  1. ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
  2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาล ต้องเป็นไปตามเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำด้วยการจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ต้องยอมให้มีคณะการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งทหารและพลเรือน ต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ในการเมืองโดยตรง แต่ความข้างต้นนั้นไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำการจะนิยมยึดถือลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยม หรือเพื่อบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้คนอื่นถือตามลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาด ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารเรือลงไป ต้องไม่มีหน้าที่ในการเมือง
  4. การตั้งแต่งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิ ความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุหรือเลื่อนตำแหน่ง
  5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือก
  6. การปกครองกองทัพบก จักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกัน ไม่ประจำตามท้องถิ่น มิให้มีกำลังเป็นส่วนใหญ่เฉพาะในแห่งใดแห่งหนึ่ง

ข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้เราไม่อาจเห็นส่วนไหนที่จะกล่าวได้เลยว่าจะย้อนกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือการมุ่งหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะบางข้อก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการ (ข้อ 3, ข้อ 4 และ ข้อ 6) บางข้อเป็นเรื่องการเมือง (ข้อ 1, ข้อ 2, และ ข้อ 5) ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับกฎหมายและการมีรัฐธรรมนูญ และบางข้ออาจจะขัดแย้งในตัว เช่น ข้อ 2 ซึ่งก็กลายเป็นว่าเป็นการด่าขบวนการของตัวเองด้วย หรือข้อ 3 นั้นก็หมายความว่า คณะราษฎรจะต้องยุบสลายไปในขณะที่ฝ่ายบวรเดชหรือคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ประโยชน์เพราะคนที่เข้าร่วมเป็นข้าราชการบำนาญอยู่เป็นจำนวนมาก [9] แต่ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่า มีหลักการที่แตกต่างกันกล่าวคือ มีจุดเน้นทางการเมืองในบางองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกันระหว่างคณะราษฎรกับกบฏบวรเดช คือ ในข้อ 5 พวกเขาต้องการจะให้พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทในระบอบใหม่ แต่ในทางปฏิบัติของระบอบใหม่นั้นเราจะพบว่า สภานั้นจะมีอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์

ดังนั้นในข้อที่ 5 นี้ได้แสดงเป็นนัยถึงปัญหาของระบอบใหม่ในขณะนั้นที่สภาจะมีปัญหากระทบกระทั่งกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวางเหตุการณ์นี้ลงในบริบทประวัติศาสตร์เช่นนี้เราก็จะเห็นได้ว่าความไม่พอใจของคนที่เห็นการกระทบกระทั่งนี้ โดยเฉพาะผู้ที่จงรักภักดีก็ประเด็นหนึ่ง เรื่องผลประโยชน์ก็เรื่องหนึ่ง เช่น การถูกปลดออกของพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือความไม่พอใจที่ไม่อาจเข้าถึงอำนาจได้ การแตกต่างในหลักคิดก็เรื่องหนึ่ง และเรื่องการกู้เกียรติยศก็เรื่องหนึ่ง ดังนั้นเหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้จึงมีความซับซ้อนและไม่อาจถูกตีตราเพียงว่าจะกลับสู่ระบอบเก่าหรือจะมุ่งหน้าสู่การเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบง่ายๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบอบการปกครองแบบใหม่ยังไม่ลงตัวจึงต้องผ่านการถกเถียงอีกมาก

แผนการของขบวนการที่ว่าเป็นการล้อมเพื่อขู่ให้รัฐบาลลาออกนั้น ความจริงแล้วสามารถเชื่อถือได้  เพราะกองทหารที่ยกมานั้นไม่เคยทำการรบจริงๆ และยังต้องเผชิญกับอาวุธสมัยใหม่ของรัฐบาล ผู้นำของขวบนการเองก็กลัวการแทรกแซงของต่างชาติอย่างมาก [10] แต่ผลที่ไม่ได้ตั้งใจของเหตุการณ์นั้นมีมากกว่าที่ขบวนการได้ประเมินเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าฝ่ายกบฏเบิกจ่ายเงินจากทุกแห่งรวมกันแล้วเป็นเงิน 59,834.03 บาท ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับการเคลื่อนที่ของหน่วยทหารมากมาย [11] แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทางกบฏจะได้รับเช็ค 2 แสนบาทจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะนั่นเป็นคำพูดของศาลพิเศษ และเราอาจจะพิจารณาได้จากเมื่อปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็ไม่ได้ใช้ทุนรอนมากมายแต่ต้องมีการวางแผนที่ดี และพระองค์เจ้าบวรเดชเองก็ไม่ได้ต้องการจะเข้าร่วมตั้งแต่ทีแรก การที่ทหารเข้าร่วมนั้นพวกเขาไม่ได้คิดว่าพระองค์บวรเดชจะเป็นผู้นำ ประเด็นนี้จึงน่าหยิบมาพิจารณาด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการแย่งชิงอำนาจหรือแสวงหาผลประโยน์ แต่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วยซึ่งเป็นปกติของระบอบใหม่ที่กำลังก่อตัวและกำลังหาที่หาทาง การตกลงในหลักการใหม่นั้น จึงต้องแยกให้ชัดและไม่ควรแปะป้ายเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และลดทอนความหมายของเหตุการณ์ลงไป เพราะเหตุการณ์ในตัวมันเองอาจไม่ได้ต้องการจะย้อนกลับหรือเดินหน้า เพียงแต่มีมุมมองในปัจจุบันอีกแบบ การยินดีใช้อดีตเพื่อปัจจุบันนั้นได้ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องแปดเปื้อน สิ่งนี้เองที่ทำให้สังคมต่างต้องแตกแยก เพราะต่างคนต่างก็บอกว่าความจริงของฉันถูกต้องโดยที่อาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าความจริงที่เชื่อนั้นจริงแท้แค่ไหน และการใช้ประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ นี้ได้นำไปสู่การมอบบทผู้ร้ายและพระเอกให้กับคนบางคน ในกรณีนี้คือฝ่ายเจ้านั้นคือผู้ร้าย ส่วนคณะราษฎรคือผู้ดี หรือกลับกัน

การมองเพียงแค่ใครดีใครร้ายในเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ผู้อ่านคงน่าจะพอมีภาพในใจบ้างแล้ว และน่าจะถึงเวลาที่เราต้องลดการเมืองในประวัติศาสตร์ลง ไม่เช่นนั้นเราคงมองใครด้วยสายตาที่เป็นธรรมไม่ได้เลย เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ละครที่ผู้ร้ายและพระเอกจะชัดเจนเสมอและตีตราได้อย่างง่ายๆ

อ้างอิง :

[1] ศึกษาใน Mark J. C. Crescenzi, “Violence and Uncertainty in Transitions,” Journal of Conflict Resolution Volume 43, Issue 2 (1999): 192-212.
[2] J.S. Morrill, Revolt in the Provinces: The People of England and the Tragedies of War 1634-1648, 2nd edition (London and New York: Routledge, 1999).
[3] ดูการศึกษาใน กิตติพงษ์ ประพันธ์ บรรณาธิการ, ภูมิภาคนิยมและท้องถิ่นนิยมสมัยใหม่ในโลกไร้พรมแดน: รวมบทความจากการประชุมวิชาการระดับชาติฯ ครั้งที่ 13 (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2565).
[4] Stefan Groth, “Political Narratives / Narrations of the Political: An Introduction,” Narrative Culture Vol. 6, No. 1, Political Narratives (Spring 2019): 1-18.
[5] ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565).
[6] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 14 ตุลา คณะราษฎร์กับกบฏบวรเดช (กรุงเทพฯ: ชมรมประวัติศาสตร์ ชุมนุมวิชาการอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, 2517).
[7] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 3 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2560), หน้า 201.
[8] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, หน้า 198.
[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, หน้า 209.
[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, หน้า 219-220.
[11] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, หน้า 224

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า