‘เพียรพัฒนาเพื่อส่วนรวม’ วิถีแห่งรัชกาลที่ 9 ที่ถอดแบบจาก ‘พระบรมราชชนก’

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรนั้นได้มอบบทเรียนที่สำคัญแก่ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และคณะราษฎรเองว่าการผดุงระบอบใหม่ไว้ด้วยกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายอย่างที่คิด และการจะรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจจนไปตลอดรอดฝั่งนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนไม่กี่คน แต่ยังรวมไปถึงองคาพยพทั้งหมดที่ทำให้ระบอบใหม่เป็นระบอบใหม่ได้ ความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ได้เพียงแต่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และคณะราษฎรจะต้องแตกกันเท่านั้น แต่ภายในคณะราษฎรเองก็ย่อมส่งรอยร้าวไปด้วยเช่นกัน

หลังจากการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ทำให้คู่ขัดแย้งต่างขั้วหายไป เหลือเพียงแต่คณะราษฎรและกลุ่มทหารและการเมืองอื่นๆ ภายในเท่านั้นที่ต้องผลัดกันแย่งชิงไหวพริบในพื้นที่ที่ถูกเปิดอยู่ และเป็นพื้นที่ที่พระมหากษัตริย์มีเพียงโครงเท่านั้น เพราะบัดนี้ยุวกษัตริย์ที่ได้รับสืบทอดพระราชบัลลังก์นั้นกำลังมองการเมืองอยู่ที่ต่างประเทศ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จอมพล ป. เถลิงอำนาจ และเป็นช่วงที่สงครามได้เข้ามาใกล้ชิดกับประเทศไทยที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ยุวกษัตริย์ที่ทรงอยู่ต่างประเทศน่าจะเห็นความเป็นไปนี้ และคงจะมองหารูปแบบการเติมเต็มโครงให้สมบูรณ์สักวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะทำให้พระองค์ครองราชย์ท่ามกลางความผันผวนที่เกือบจะทำให้แผ่นดินแตกเป็นเสี่ยงนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีแนวทางการดำเนินภารกิจและการวางพระองค์ที่แตกต่างไปจากพระมหากษัตริย์ก่อนหน้า กล่าวคือ ทั้งสองพระองค์ต้องหาทางวางพระองค์ในระบอบใหม่ที่ในอดีตเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีการทำงานที่จะทำให้หน้าที่ของพระองค์สมบูรณ์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนถึงระดับที่จะต้องสละราชบัลลังก์อีก เราจะเริ่มเห็นบทบาทใหม่นี้จากการที่พระองค์เสด็จเยาวราช หรือการแสด็จไปยังสมาคมต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจเชิงสังคมทั้งสิ้นในการประสานคนในแผ่นดินเข้าไว้ด้วยกัน และบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้นก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า A good King นั้นมีรูปธรรมอย่างไร

อย่างไรก็ดีเรามักไม่ทราบกันนักว่าการวางพระองค์และวางบทบาทใหม่ๆ นั้นพระองค์ได้แนวทางนี้มาจากที่ไหน หรือพระองค์เรียนรู้มาจากใคร เพราะทุกสิ่งไม่ได้เกิดมาจากความว่างเปล่าแต่สิ่งที่มาก่อนหน้านั้นทำให้เราเห็นอะไรได้ชัดเจน เปรียบเสมือนคนแคระที่ขี่บนบ่ายักษ์ (Standing on the shoulders of giants) ที่มรดกของเหล่าคนที่มาก่อนหน้าคือหลักที่เรายึดเพื่อเดินไปในอนาคต ดังนั้นแล้วเมื่อสอดส่องดูก็จะพบว่าผู้ที่แผ้วถางแนวทางไว้ให้พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่ใครนอกจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ “กรมหลวงสงขลานครินทร์” ผู้ย้ำเตือนว่าการเป็นชนชั้นสูงนั้นมีหน้าที่ที่ต้องทำ และเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

เรื่องราวของสมเด็จพระบรมราชชนก [1] นั้นถูกบันทึกไว้โดยนายแพทย์เอลลิสที่สามารถชี้ให้เราเห็นได้ว่าวิธีการทำงานของพระองค์นั้นทำให้เราพอจะเห็นบทบาทสำหรับที่จะนำมาปรับใช้โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ กล่าวคือ การทรงงานของพระองค์นั้นได้เริ่มตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยซึ่งพระองค์มีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก หากประเด็นใดเกิดความขัดแย้งขึ้นแต่ความเห็นของอีกฝ่ายเป็นไปโดยสุจริตใจ พระองค์จะประทานพระวินิจฉัยเป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นเพื่อการอื่นอย่างการแสวงหาประโยชน์แล้วพระองค์จะไม่ยอมลดละให้เลย แต่หากความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องหลักการ พระองค์จะรักษาความเป็นตัวเองไว้โดยไม่ขัดขวางนโยบายนั้น แต่เลือกที่จะลาออกแทนและไปทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างอื่น เช่น การที่เปลี่ยนจากเส้นทางทหารเรือไปสู่ด้านสาธารณสุขของพระองค์ ซึ่งการ “ลาออก” นั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เลือกวิธีนี้ด้วย

จุดสำคัญของสมเด็จพระบรมราชชนนกนั้นอยู่ที่พระองค์จะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่กระทบต่อศูนย์กลางของระบอบและทำการสนับสนุนภารกิจเพื่อส่วนรวมเท่าที่พระองค์จะทำได้ แต่พระองค์ก็มีแนวทางเฉพาะดังที่นายแพทย์เอลลิสบันทึกว่า พระองค์ท่านไม่ทรงดำเนินตามหลักและตามทางปฏิบัติที่ทรงรู้สึกว่าดีถ่ายเดียว แต่ได้ทรงระลึกทรงคิดถึงความคิดเห็นและการกระทำของผู้อื่นที่แรงและทัดทานพระองค์… ทรงรำพึงถึงเรื่องนั้นและเอาคำกล่าวติชมที่ทรงได้รับในเวลาและนอกเวลาประชุมไปไตร่ตรองนานๆ

ข้อจำกัดประการหนึ่งในการทำงานของพระองค์คือพระสถานะของพระองค์ที่ทำให้พระองค์ไม่สามารถเข้าถึงสภาพปัญหาตามความจริงได้เพราะมีการจัดเตรียมต่างๆ ไว้เสมอทำให้พระองค์ไม่ได้ข้อมูลที่ต้องการ เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์การแพทย์รู้สึกยำเกรงพระองค์จนไม่พูดเหมือนปกติ แต่ในขณะเดียวกันที่มีข้อจำกัดหลายๆ ประการ พระองค์ก็มองเห็นโอกาสในการทำงานเพื่อผู้อื่นได้ด้วย เช่น พระองค์ได้เข้าไปรับบทบาทในหลายส่วนโดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยการระดมทรัพยาการมาสนับสนุนเพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ดังปรากฏว่าในกระทรวงธรรมการเคยตั้งตำแหน่งเฉพาะให้พระองค์เป็นข้าหลวงสำรวจการศึกษาและเมื่อพระองค์พ้นจากตำแหน่งก็จะไม่มีใครขึ้นมาแทนโดยงานของพระองค์ในหน้าที่นี้จะทรงแนะนำเรื่องต่างๆ ได้อย่างกว้างๆ

หัวใจการทำงานของพระองค์นั้นอยู่ที่การพัฒนาสมรรถนะของระบบราชการและตระหนักถึงความสำคัญในการทำเพื่อคนหมู่มาก ในระยะเวลาไม่กี่ปีพระองค์ได้เข้าพัฒนาการแพทย์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ครั้งหนึ่งพระองค์มีลายพระหัตถ์ถึงนายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่างว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์ แนวทางการทำงานของพระองค์จึงเป็นการวางบทบาทในการสนับสนุนงานที่จำเป็นหรือเติมเต็มสิ่งที่ขาดแคลนที่ถูกมองข้ามไปซึ่งปรากฏในลายพระหัตถ์ของพระองค์ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

ตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมา เมื่อยังเป็นเด็กไม่รู้ความก็ชอบแต่เล่นหัวสนุกสนานไปตามประสาเด็ก… ครั้นโตขึ้น [ก็เห็นว่า] สมเด็จแม่ทรงทุกข์โศกไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่นพระราชหฤทัยเสียเลย สงสารสมเด็จแม่ จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉันคนเดียว ควรจะสนองพระคุณ [ให้] สมเด็จแม่ทรงยินดีด้วยเห็นลูกสามารถทำความดีให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง… จึงคิดว่าการช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเป็นการสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัวเพราะทรัพย์สินส่วนตัวพอจะมีเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทานในส่วนที่เป็นเจ้าฟ้า เอามาใช้เป็นทุนทำการตามความคิดให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง

แนวทางการทำงานของพระองค์จึงเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากโดยหลีกเลี่ยงการปะทะกับอำนาจทางการเมืองให้มากที่สุด สิ่งนี้เราเรียกว่าเป็น Noblese Oblige (พันธะของผู้สูงส่ง) ในการทำงานเพื่อคนหมู่มาก มิใช่กินทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว พระองค์จะยึดแนวทางนี้ตลอดมา สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าถึงช่วงสุดท้ายในชีวิตของสมเด็จพระบรมราชชนกว่า

ไม่มีใครเข้าใจว่าเพราะเหตุใด สมเด็จพระราชบิดาจึงจะเสด็จไปเรียนวิชาแพทย์… จนได้ทั้งตรัสชี้แจงให้ทราบเมื่อใกล้จะเสด็จทิวงคต จึงรู้ชัดว่าเพราะท่านทรงมุ่งหมายอยู่ในพระเจตนาเดิมที่จะสนองพระคุณสมเด็จพระชนนี ด้วยพยายามทำการช่วยชีวิตไพร่บ้านพลเมืองเป็นสำคัญอยู่มั่นคงเป็นนิจ

บทบาทของพระองค์นี้ได้ส่งทอดมาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอย่างเด่นชัด ดังที่พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงเล่าถึงวันที่รัชกาลที่ 9 ทรงรับราชสมบัติดังนี้

เมื่อ 25 ปีโพ้นต่อหน้ามหาสมาคม… พระราชาพระองค์หนึ่งตรัสมีความสังเขปว่า ข้าพเจ้าขอขอบใจที่มอบราชสมบัติให้ ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติและเพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ขอให้ท่านจงช่วยร่วมกันทำดังกล่าวแล้วก็เสด็จก้าวไปจากมหาสมาคมนั้น ครั้นแล้วก็ทรงหันกลับมาใหม่ แล้วตรัสอย่างหนักหน่วงว่า และด้วยใจสุจริต… พระราชกระแสรับสั่งและสีพระพักตร์ตอนที่รับสั่งนั้น เป็นที่ซาบซึ้งจับจิตและตื้นตันใจผู้ที่มีวาสนาได้เห็นได้ฟังอย่างยิ่งที่จะพรรณนาให้ถูกต้องได้ เพราะว่า ประการแรกขณะนั้นทรงมีชนม์เพียง 18 พรรษา อีกทั้งขณะนั้นเป็นยามที่ตื่นตระหนก และยามเศร้าหมองเจ็บปวดหัวใจอย่างสุดที่พระมหากษัตริย์หรือที่บุคคลใดจะพึงกำลังเผชิญในชีวิต อีกทั้งเป็นกาลเวลาที่บ้านเมืองกำลังปั่นป่วน มิอาจจะทรงทราบหรือทรงเดาได้ว่าเหตุการณ์ภายในประเทศต่อไป แม้เพียงชั่วโมงข้างหน้า วันหน้า จะเป็นอย่างไร

ในพระนิพนธ์ เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ยกกวีของ อัลเฟรด เดอ วินยี่ ซึ่งเป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศสว่า

ไม่ช้ายอดเขาก็โผล่พ้นเมฆโดยไม่มีโมเสส ฝูงชนต่างซึมเซา โศกสลด โยชวาเดินสู่ดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คำมั่นว่าจะเป็นที่พำนักของชาวยิว ด้วยใบหน้าเคร่งขรึมและซีดหมอง เพราะเป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเลือกไว้แล้วตามคัมภีร์คริสต์ศาสนา พระเจ้าได้ทรงสั่งให้โมเสสเป็นผู้นำชาวยิวออกจากประเทศอียิปต์ไปสู่อิสราเอล เพราะชาวอียิปต์ไม่ยินดีให้อยู่ในประเทศของเขา เวลาโมเสสจะสนทนากับพระเจ้าจะต้องขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งจะมีเมฆปกคลุม จะมีฟ้าแลบฟ้าร้องเพื่อมิให้ใครกล้ามอง พระเจ้าได้ตรัสด้วยว่า โมเสสจะนำชาวยิวไปถึงอิสราเอล แต่จะไม่สามารถเข้าไปได้ โยชวาจึงเป็นผู้ที่ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบนำชาวยิวเข้าอิสราเอล ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป

และการเดินทางนี้จะผูกพันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับประชาชนตราบจนวันสวรรคตด้วยพันธะสัญญาที่พระองค์มีตั้งแต่วันแรกที่ครองราชสมบัติ

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงาก ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 159-170 และ 194-195.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า