‘สมรภูมิเลือด’ ณ หาดใหญ่ มหาสงครามปราบกบฏไทรบุรี ที่แม้แต่คนหาดใหญ่ก็แทบ ‘ไม่เคยรู้’

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากสยามจะมีมหาสงครามอันที่เป็นที่รู้จักคือ ‘อันนาม-สยามยุทธ์’ระหว่างเวียดนามแล้ว ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ทางใต้ของสยามก็หาได้ว่างเว้นจากสงครามแต่อย่างใด ราชสำนักกรุงเทพจำต้องใช้ความสามารถอย่างถึงที่สุดที่จะประคับประคองสถานการณ์ความมั่นคงของราชอาณาจักรสยามให้จงดี การบริหารทรัพยากรในยามศึกสงครามรวมทั้งการวางยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะฝ่ายศัตรูจึงเป็นเสมือน ‘เดิมพัน’ ที่ทางราชสำนักสยามหลีกเลี่ยงมิได้

ปฐมเหตุแห่งสงครามนี้เกิดขึ้นจากการที่ทางนครศรีธรรมราชในฐานะผู้ดูแลหัวเมืองมลายูตะวันตก ได้สืบทราบมาว่าทางราชสำนักไทรบุรี ตนกูปะแงรัน (สุลต่านทาจุดดินชาห์) ได้มีใจออกห่างสยามไปเข้ากับราชสำนักพม่า เมื่อความเป็นดังนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จึงได้มีพระบรมราชโองการให้พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) บุกเข้าตีเมืองไทรบุรีในปี พ.ศ. 2364 และปกครองเมืองมลายูแห่งนี้โดยตรง (direct rule) โดยให้บุตรของเจ้าเมืองนครเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีแทนเชื้อสายมลายูเดิมซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่อื่นนอกเขตอิทธิพลสยาม

แม้นครศรีธรรมราชได้ปกครองไทรบุรีโดยตรงถึง 10 ปี แต่ในปี พ.ศ. 2374 ตนกูกูเด็น พระญาติของตนกูปะแงรัน ได้ยกทัพเข้ามาทวงเมืองไทรบุรีจากราชสำนักนครฯ ได้สำเร็จ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจาก7 หัวเมืองปัตตานีบางเมืองรวมถึงตรังกานู กลันตัน รวมทั้งสิ้น 9 เมือง ในช่วงแรกแม้ฝ่ายสยามจะไม่สามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้ แต่เมื่อกองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ นำโดยพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกทัพมาถึง กองทัพสยามทั้งนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ได้ร่วมกันรุกรบและขับไล่กองทัพมลายูได้สำเร็จ อีก 1 ปีต่อมา (พ.ศ.2375) ทางสยามได้เมืองไทรบุรีกลับมา อีกทั้งบรรดาผู้นำของฝ่ายมลายูที่เป็นกบฏก็ต้องโทษประหารจากอาญาสงครามเสียชีวิตไปหลายคน เช่น เจ้าเมืองปัตตานี (ที่สยามแต่งตั้งขึ้นมา) ส่วนตนกูกูเด็นนั้นเสียชีวิตในสนามรบ นับว่าเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงสำหรับฝ่ายมลายูที่แม้ตอนแรกจะรวบรวมพันธมิตรมลายูได้ถึง 9 เมือง แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อสยามภายในเวลาอันรวดเร็ว

แม้เหตุการณ์นี้จะทำให้หัวเมืองปัตตานีไม่กล้าก่อการกบฏกับสยามไปอีกพักใหญ่ แต่สำหรับฝ่ายไทรบุรีแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ชนชั้นนำไทรบุรียังพยายามรวบรวมกองกำลังเพื่อ ‘ทวงคืน’ มาตุภูมิของพวกเขาคืนอยู่ตลอดเวลาแม้จะมีเจ้าชายคนหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป และในอีกไม่กี่ปีต่อมา (พ.ศ.2381) ตนกูหมัดซาอัด (หลานของตนกูปะแงรันอีกคน) ได้ร่วมมือกับหวันหมาดหลี (โจรสลัดมลายูเชื้อสายเจ้า) ตัดสินใจโจมตีเมืองไทรบุรีภายใต้การปกครองของสยามอีกครั้ง คราวนี้นอกจากจะบุกยึดไทรบุรีกลับคืนมาได้แล้ว กองกำลังโจรสลัดของหวันหมาดหลีได้บุกไปยึดเมืองสตูลและตรังของสยาม อีกทั้งกองทัพไทรบุรี (มลายู) ยังเตรียมตัวจะไปยึดเมืองสงขลาที่ฝั่งบ่อยางอีกด้วย

เหตุที่กองทัพไทรบุรีและโจรสลัดสามารถบุกโจมตีสยามได้ง่ายได้เพียงนี้ เป็นเพราะอาศัยจังหวะที่ทางราชสำนักกรุงเทพได้เชิญให้เจ้าเมืองคนสำคัญ ๆ ทางใต้ เช่น เจ้าเมืองนครฯ เจ้าเมืองสงขลา เข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมศพของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้ายู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ การบุกโจมตีโดยอาศัยจังหวะ ‘เผลอ’ จากการที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กำลังเข้าร่วม ‘งานศพ’ บุคคลสำคัญเช่นนี้ นับว่าเป็นการดูถูกสยามอย่างรุนแรง

ในขณะที่กองทัพไทรบุรีบุกยึดเมืองคืน เจ้าเมืองไทรบุรี (พระยาอภัยธิเบศร์ – บุตรของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) ได้หลบหนีพร้อมครอบครัวและข้าราชการชาวไทยมายังพัทลุงราวปลายเดือนกรกฎาคม – ต้นสิงหาคม พ.ศ. 2381 เอกสารฝั่งสยามบันทึกไว้ว่า หลังจากนั้นพระยาอภัยธิเบศร์ ได้จัดแจงให้พระณรงค์ชลธี ปลัดเมืองไทรบุรี รวบรวมคนจากนคร พัทลุง มาไว้ ณ หาดใหญ่ แขวงเมืองสงขลา เพื่อเตรียมการรบยึดไทรบุรีคืน เป็นจำนวน 1,194 คน

ต่อมาเมื่อทัพจากสงขลากลับมาจากงานพระบรมศพ พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลา ได้ช่วยฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชและพระยาอภัยธิเบศร์ยึดเมืองไทรบุรีคืน โดยมีบัญชาให้จัดทัพตั้งขึ้นที่หาดใหญ่เช่นเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่าในช่วงปลายปี พ.ศ.2381 หาดใหญ่ได้เป็นสถานที่สำหรับจัดตั้งทัพและพื้นที่สะสมเสบียงเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าตีไทรบุรีต่อไปจนกระทั่งกองทัพสยามกระทำสำเร็จอีกครั้งในปีถัดมา

การรบนองเลือดที่หาดใหญ่

ในช่วงกบฏไทรบุรีนี้ฝั่งไทยระบุว่า ฝ่ายกองทัพไทรบุรี (มลายู) ได้บุกเข้าเผาทำลายวัดและพระพุทธรูปในวัดดั้งเดิมแห่งหนึ่งพื้นที่หาดใหญ่จนพระพุทธรูปนั้นเหลือเพียงแต่ศีรษะ (ปัจจุบันเรียกว่า ‘พระผุด’ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนช่างกลภาคใต้เทคโนโลยี) อย่างไรก็ดี ที่หาดใหญ่นี้เองก็เป็นสถานที่ที่กองทัพไทรบุรี (มลายู) ประสบกับความพินาศย่อยยับจนต้องเสียแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งไป นั่นคือ เชคอับดุลซอมัด อัล-ปาเล็มบังนี  ดังปรากฏในเอกสารมลายู ‘Al- Tarik Salsilah Negeri Kedah’ ว่า

‘…การปะทะสู้รบที่หาดใหญ่… ทั้งสองฝ่ายที่หาดใหญ่ล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต่วนเชคอับดุลซอมัด…’

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องที่ปรากฏในหนังสือ ‘Sejarah Kedah’ ที่ระบุว่าได้เกิดการปะทะระหว่างทัพสยามกับไทรบุรีที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นการกล่าวยืนยันตรงกันทั้งเอกสารของไทยและมลายู ปัจจุบันสุสานของ เชคอับดุลซอมัด อัล-ปาเล็มบังนี อดีตแม่ทัพคนสำคัญของไทรบุรีตั้งอยู่ที่บ้านตรับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าในอดีตก่อนที่หาดใหญ่จะกลายมาเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสมรภูมิอันนองเลือดที่แม้แต่คนหาดใหญ่หลาย ๆ คนก็ไม่เคยรับรู้หรือหลงลืมไปแล้ว

อ้างอิง :

[1] ศรีสุพร ปิยรัตนวงศ์ และ สุชาย อัศวพันธุ์ธนกุล. แลอดีตมองอนาคตหาดใหญ่วิชาการ : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองหาดใหญ่. 2555.
[2] เถกิงศักดิ์ พัฒโน และคณะ. ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ ชุด 3 ยุคปรากฏชื่อบ้านในประวัติศาสตร์ ตอน 2 เกิดรากเหง้าชาวบ้านพื้นถิ่นเชื้อสายนักรบ : โครงการรวบรวมประวัติเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่.
[3] เถกิงศักดิ์ พัฒโน และคณะ. ย้อนอดีตนครหาดใหญ่ ชุด 3 ยุคปรากฏชื่อบ้านในประวัติศาสตร์ ตอน 1 เกิดสมรูมิทุ่ง (ท่า) หาดใหญ่ : โครงการรวบรวมประวัติเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า