วาระสุดท้ายของ ‘อ่ำ บุญไทย’ ปัญญาชนอีสาน ผู้ตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างคนเห็นต่างของรัฐบาลคณะราษฎร

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในปีถัดมา คณะราษฎรก็เริ่มใช้นโยบายกดขี่ปราบปรามผู้คนที่พวกเขาเห็นว่ามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง อย่างอำมหิตและเลือดเย็นอย่างที่สุด และหนึ่งในบรรดา “เหยื่อทางการเมืองที่น่าเวทนาที่สุด” ในยุคของรัฐบาลคณะราษฎร คงไม่มีใครโชคร้ายไปกว่า “อ่ำ บุญไทย” ปัญญาชนชาวอีสาน จากที่ราบสูงจังหวัดอุดรธานี

อ่ำ บุญไทย เคยรับราชการเป็นครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ช่วงหนึ่งตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากราชการในเวลาต่อมา และเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนต่างๆ แถบอินโดจีน โดยเฉพาะประเทศลาว โดยในช่วงเวลานั้นเขาได้ศึกษาหาความรู้ในแขนงต่างๆ จนเพิ่มพูน กระทั่งแตกฉานในหลากหลายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฐศาสตร์และการปกครอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ปัญญาชนอีสาน” ผู้หาตัวจับได้ยากคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น

กระทั่งกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน อ่ำได้เขียนบทความวิชาการลงหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง ภายใต้นามปากกา “อุบล” และ “แม่น้ำโขง” ต่อมาเมื่อสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2475 ความใฝ่ฝันที่จะเห็นประเทศชาติพัฒนาไปข้างหน้า ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้อ่ำต้องการเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยในขณะนั้น ความคิดเห็นทางการเมืองของอ่ำมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง และปักหลักอยู่คนละฟากฝั่งกับแนวคิดของรัฐบาลคณะราษฎร

สิ่งเหล่านี้ทำให้คณะราษฎรมองว่า อ่ำคือก้างขวางคอชิ้นใหญ่ จนกระทั่ง “สร้างความไม่พอใจ” ให้แก่รัฐบาล เมื่อสบโอกาสเหมาะคณะราษฎรจึงใช้อำนาจที่พวกตนมีอยู่ “ใส่ความ” อ่ำ และจับเขาเข้าคุก รวมทั้งตั้งศาลพิเศษซึ่งเป็นศาลเถื่อนทางการเมืองขึ้นมากล่าวหาอ่ำ ด้วยข้อหาสนับสนุนกบฏบวรเดช ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันได้เลยว่า อ่ำ บุญไทย มีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายกบฏบวรเดช

จึงเป็นที่ชัดเจนว่าเขาได้ถูก “อำนาจมืด” เข้าเล่นงานและกดปราบ เพื่อให้ปัญญาชนอีสานผู้นี้ สยบยอมแก่รัฐบาลคณะราษฎร โดยสาเหตุหนึ่งที่อ่ำถูกเล่นงานนั้น เกิดจากการที่เขาได้วิจารณ์ “สมุดปกเหลือง” หรือเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ อย่างดุเดือดว่า “เป็นแนวคิดที่เพ้อฝัน และไม่มีทางใช้ได้จริงในประเทศไทย”

ด้วยเหตุที่เป็นคนจริง และกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่กลัวเกรงใครหน้าไหน ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรต่างผูกใจเจ็บแก่อ่ำ ชนิดที่ว่า “ขังแล้วต้องขังให้ลืม อย่าให้โงหัวขึ้น” ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้จากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะที่อ่ำถูกคุมขัง ตั้งแต่ในคุกบางขวาง, เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล จนถึงคุกนรกเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อ่ำเริ่มมีปัญหาทางจิตและป่วยเป็นโรคร้าย จนกระทั่งจบชีวิตอันน่าเวทนาลงที่นั่น ในปี พ.ศ. 2486

เป็นเวลาถึง 10 ปี ที่ อ่ำ บุญไทย ต้องเผชิญกับความโหดร้ายของรัฐบาลคณะราษฎร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 – 2486 โดยบทความ “นิมิตรมงคลกับอ่ำ” ได้บรรยายความทุกข์ทนของเขาเอาไว้ว่า …

“ขณะติดคุก อ่ำ บุญไทย โดน ขุนศรีสรากร ผบ.เรือนจำบางขวางผู้โหดเหี้ยม สั่งให้นักโทษรุมทำร้าย ซ้อม และให้ใช้ท่อนไม้รุมกันตีอย่างทารุณ โดยไม่ทราบเหตุผล และสั่งห้ามเขียนหนังสือเผยแพร่ความคิดใดๆ ลูกเมียไม่กล้ามาเยี่ยม และถูกรัฐบาลคุกคามจนต้องเผาหนังสือตำราและของหวงต่างๆ ทิ้งเสียหมด เอกสารล้ำค่าซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองสูญหายไปสิ้น ครูอ่ำเจาะท้องตัวเอง และเสียชีวิตที่เกาะเต่า ไม่เห็นหน้าลูกเมียรักเลย นับแต่ติดคุกตั้งแต่ปี 2476”

การถูกรุมซ้อมในเรือนจำบางขวาง นับว่าเป็นเรื่องโหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง แต่ทว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่เลวร้ายและน่าเศร้าไปกว่าวาระสุดท้ายในชีวิตของเขา ณ คุกนรกเกาะเต่า

หลังจากที่อ่ำถูกส่งไปอยู่ที่เกาะเต่าเป็นเวลา 3 ปี เขาเริ่มมีอาการทางจิต และป่วยเป็นโรคท้องมาน ซึ่งท้องของเขาโตขึ้นเรื่อยๆ จนทางการต้องส่งแพทย์ไปเจาะท้องให้ครั้งหนึ่ง แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนต่อมาอ่ำต้องใช้ตะปูแหลมๆ เจาะท้องตนเองให้น้ำออกมา เพื่อให้อาการเจ็บปวดทุเลาลง

โดยก่อนที่จะเสียชีวิต อ่ำได้เกิดอาการทางจิตและโรคท้องมานกำเริบจนต้องเตลิดหนีเข้าป่า เหล่าผู้คุมและนักโทษบนเกาะได้ออกติดตามค้นหา จนพบว่าอ่ำนอนเอาทรายถมตัวอยู่ริมชายหาด โดยเหลือแค่ใบหน้าเท่านั้นที่ไม่ได้ถมทราย เข้าใจว่าเขาคงต้องการให้ความเจ็บปวดจากการเจาะช่องท้องด้วยตะปูทุเลาลง ด้วยการเอาทรายมาปิดไว้ และยังเป็นการป้องกันแมลงตอมแผลด้วย

แต่ทว่าเหล่าผู้คุมกลับเกิดอาการหมั่นไส้อ่ำขึ้นมา เลยใช้กำลังรุมซ้อมเขาทั้งๆ ที่ยังป่วยและมีอาการหนักมาก ก่อนจะพากลับเข้าที่พักในวันนั้น

รุ่งเช้าวันต่อมา อ่ำ บุญไทย อดีตปัญญาชนอีสานผู้อาภัพก็ได้เสียชีวิตลง ด้วยอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงจากบาดแผลที่เกิดจากการเจาะช่องท้อง โดยสภาพศพที่พบนั้น ได้ถูกบรรยายไว้ว่า …

“ครูอ่ำ บุญไทย ก็ได้อำลาชีวิตลง ณ ค่ายมฤตยูนั้นด้วยโรคท้องมาน โดยลงไปนอนตายใต้เตียงในลักษณะเอามือกุมท้องตรงบริเวณที่เอาตะปูเจาะไว้”

นี่คือเรื่องราวอันน่าเศร้าและเป็นจุดจบที่น่าเวทนาอย่างยิ่งของ อ่ำ บุญไทย ปัญญาชนอีสาน ผู้ตกเป็นเหยื่อการปรักปรำกวาดล้างคนเห็นต่างทางการเมืองอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายที่สุด ในยุคของรัฐบาลคณะราษฎร

อ้างอิง :

[1] รำลึก อ่ำ บุญไทย “กฤดาการบนที่ราบสูง” ใน ทางอีศาน ฉบับที่ 14 ประจำเดือนมิถุนายน 2556.
[2] เมื่อผมถูกปล่อยเกาะตรุเตา, ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. (กรุงเทพฯ : 2522). สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า