อังกฤษเคยล้มเหลวกับระบอบสาธารณรัฐ จนต้องรื้อฟื้นกลับสู่การมีสถาบันพระมหากษัตริย์

อังกฤษช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างปี ค.ศ. 1642-1649 ถือเป็นช่วงแห่งความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดย พระเจ้าชาลส์ที่ 1 กับฝ่ายรัฐสภา นำโดย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์

ฝ่ายรัฐสภาได้ยื่นข้อเสนอสิบเก้าประการให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระเจ้าชาลส์เห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการลดทอนพระราชอำนาจอย่างชัดเจน และมุ่งไปสู่การล้มล้างการปกครองของอังกฤษ พระองค์จึงประกาศสงครามกับฝ่ายรัฐสภา และเกิดการรบพุ่งกันเป็นเวลาเจ็ดปี โดยจบลงที่ความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ซึ่งถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา

นับแต่นั้น อังกฤษก็ได้เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยของระบอบ สาธารณรัฐ (Republic) โดยมีโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เป็นประมุขแห่งรัฐ

ทว่าอังกฤษกลับมีแต่ความวุ่นวายภายใต้ระบอบใหม่ และความเป็นประมุขแห่งรัฐของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ก็แทบจะไม่ต่างจากกษัตริย์เลย ซ้ำร้ายยังถือได้ว่าเป็นเผด็จการที่ชาวอังกฤษตระหนักได้ในภายหลังว่า ผู้นำและระบอบใหม่นี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาปรารถนา

แม้ว่าโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ จะถือเป็นผู้นำคนแรกที่สามารถรวบรวมอาณาจักรต่างๆ ในเกาะอังกฤษให้อยู่ใต้รัฐบาลเดียวได้อย่างสมบูรณ์ แต่การปกครองของเขานั้นกลับเป็นการใช้อำนาจในรูปแบบเผด็จการ จนทำให้มีความขัดแย้งกับรัฐสภาแห่งอังกฤษอยู่เนืองๆ

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์แสดงออกถึงความเป็นเผด็จการทหารอย่างเต็มตัวเพื่อควบคุมรัฐสภา ในเหตุการณ์การยุบสภา เมื่อปี ค.ศ. 1653 เพื่อไม่ให้รัฐสภาออกกฎหมายลงโทษหรือต่อต้านคณะนายทหารของเขาหรือผู้มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับเขา ซึ่งอันที่จริงชาวอังกฤษส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียกร้องหรือต้องการอุดมการณ์ในแบบของเขาแต่อย่างใด และกลุ่มทหารส่วนใหญ่ก็เริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขา

การปกครองระบอบสาธารณรัฐภายใต้การนำของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ จึงขัดแย้งกับพื้นฐานแนวคิดทางการเมืองและวัฒนธรรมของอังกฤษซึ่งปกครองในระบอบกษัตริย์มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และทำให้ชาวอังกฤษเริ่มเสื่อมศรัทธาลงทีละน้อย จนรัฐบาลของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เริ่มอ่อนแอและพร้อมล่มสลายลงได้ตลอดเวลา

กระทั่งต่อมาเมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เสียชีวิตลง ในปี ค.ศ. 1658 ริชาร์ด ครอมเวล บุตรชายได้ขึ้นมาปกครองอังกฤษแทน ทว่าเขากลับไม่มีบารมีในกองทัพเหมือนพ่อของเขา เมื่อกองทัพขาดความเชื่อมั่นในตัวเขา และเขาเองก็ไม่มีความไว้ใจในกองทัพ นี่จึงทำให้เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เขาไม่สามารถนำพาระบอบสาธารณรัฐให้เดินหน้าต่อไปได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการจับมือเป็นพันธมิตรกันขึ้นระหว่างขั้วอำนาจหลายกลุ่มในรัฐสภา ทั้งฝ่ายที่เคยเป็นปฏิปักษ์ และฝ่ายที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ รวมถึงฝ่ายแกนนำทางการเมืองของกรุงลอนดอน (the City of London) ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกองทัพ เพื่อสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา และจัดการความวุ่นวายของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในยุคระบอบสาธารณรัฐ ให้หวนสู่ความสงบเรียบร้อยภายใต้การนำของสถาบันพระมหากษัตริย์ และนี่เป็นที่มาของช่วงเวลาที่เรียกว่า “English Restoration”

ในที่สุด กองทัพภายใต้การนำของนายทหารที่ชื่อ จอร์จ มองค์ (George Monck) ได้ขับริชาร์ด ครอมเวล ให้พ้นจากตำแหน่ง และกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าชาลส์ที่ 2 พระโอรสของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ที่เสด็จไปลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส ให้กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1660 โดยขอให้พระองค์ทรงยอมรับเงื่อนไขที่จะให้มีการออกกฎหมายนิรโทษและอภัยโทษแก่ทุกคนที่กระทำผิดทางอาญาในช่วงสงครามกลางเมือง อันเป็นช่วงที่เรียกว่า “Interregnum” ในประวัติศาสตร์อังกฤษ ซึ่งพระองค์ก็ทรงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

พระราชบัญญัตินิรโทษและอภัยโทษฉบับนี้ (The Indemnity and Oblivion Act) ได้ถูกตราขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1660 ส่งผลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามกลางเมือง ทั้งจากฝ่ายรัฐสภาและฝ่ายพระมหากษัตริย์ต่างพ้นจากความผิด และไม่มีการรื้อฟื้นคดีใดๆ ย้อนหลังอีก หมายความว่า การกระทำผิดทางอาญาใดๆ ในช่วง “Interregnum” นี้ เป็นการกระทำที่ถือว่าไม่ได้เกิดขึ้นในทางกฎหมาย (legally forgotten)

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ครอบคลุมการกระทำผิดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทำสงคราม เช่น การปล้น หรือข่มขืน รวมทั้งไม่นิรโทษและอภัยโทษให้กับบรรดาคณะผู้พิพากษาที่ลงนามให้สำเร็จโทษพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในปี ค.ศ. 1649 ทำให้ผู้พิพากษาจำนวน 31 คน ต่างถูกตามล่าตัวมารับโทษ และผู้ที่หนีไม่รอดซึ่งรวมถึง จอห์น คุก (John Cooke) ผู้ทำหน้าที่อัยการแผ่นดินฟ้องร้องกล่าวโทษพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ต่างก็ถูกนำตัวมาสำเร็จโทษด้วยการประหารชีวิต

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ยังกำหนดให้คืนที่ดินและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และศาสนจักรที่ยึดไปเป็นสมบัติของแผ่นดิน กลับคืนแก่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 อีกด้วย

กล่าวให้ละเอียดคือ เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1649 และเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องตกเป็นของแผ่นดิน ภายใต้การดูแลของสภาความมั่นคงแห่งรัฐ ที่แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ภายใต้รัฐที่ฝ่ายรัฐสภาเรียกขานว่า “commonwealth”

นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินและที่ดินที่เคยเป็นของพระมหากษัตริย์ จะกลายเป็น “ทรัพย์สินและความมั่งคั่ง” ร่วมกัน (common) ของคนอังกฤษ ไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวอีกต่อไป

แต่เมื่อรัฐสภาและกองทัพสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมา ก็ย่อมต้องคืนทรัพย์สินที่ดินทั้งหมดที่ยึดไปเป็นสมบัติของแผ่นดิน คืนให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติข้างต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับทรัพย์สินทั้งหมดกลับคืนมา แต่พระราชอำนาจของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ไม่ได้กลับมาเป็นเหมือนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป หากแต่ได้มีการกำหนดการใช้พระราชอำนาจ และให้พระองค์ทรงบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันกับรัฐสภา ตามแนวทางการปกครองที่เรียกว่า “the King and Parliament” ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ของอังกฤษไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากแต่เป็นวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป

กรณีการคืนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่เคยถูกยึดไปเป็นสมบัติของแผ่นดินนั้น หากมองกลับมายังประเทศไทยซึ่งมีอังกฤษเป็นต้นแบบของระบอบการปกครอง จะเห็นว่า หากการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ แน่นอนว่าทรัพย์สมบัติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องตกเป็นของรัฐหรือแผ่นดินภายใต้การบริหารจัดการของคณะราษฎร ดังเช่นกรณีของอังกฤษในปี ค.ศ. 1649

แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระบอบการปกครองที่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์หรือราชาธิปไตยพระราชอำนาจจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ” การยึดหรือโอนถ่ายทรัพย์สินแบบ “ทั้งหมด” ของพระมหากษัตริย์ไปเป็นของแผ่นดินอย่างในกรณีสาธารณรัฐจึงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น หากถามว่าการกำหนดการถือครองทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ควรต้องเป็นอย่างไร ซึ่งหากเทียบกับกรณีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1660 คำตอบจะอยู่ที่การกำหนดร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐสภา ตามหลักการ “the King and Parliament” และตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัตินั่นเอง

แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าในกรณีของประเทศไทย จะไม่ได้พิจารณาจากแค่พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอิงกับกฎมณเฑียรบาลที่ได้กำหนดเงื่อนไขผู้ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สืบราชสันตติวงศ์ก็คือผู้สืบราชบัลลังก์ และผู้สืบทอดพระราชมรดกทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ต่อไปในอนาคตนั่นเอง

ที่มา :

[1] การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, 30 พ.ย. 2563, ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
[2] Charles II, 1660: An Act of Free and Generall Pardon Indempnity and Oblivion.
[3] “โอลิเวอร์ ครอมเวลล์” ลอร์ดผู้พิทักษ์แห่งอังกฤษ ช่วงเปลี่ยนระบอบเป็น “สาธารณรัฐ”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า