‘การธำรงรักษารัฐ’ ด้วยการไม่ละเมิดกฎหมาย และการสำนึกในบุญคุณของประเทศในสังคมกรีกโบราณ

บทความโดย : ไกอุส

โสเครตีส (Socrates) นักปราชญ์แห่งนคร (รัฐ) เอเธนส์ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเขาเป็นผู้ที่มีทัศนคติคติในแง่ลบต่อรัฐในทุกๆ ประเด็น เพราะเขามักชอบตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงความชอบธรรมของเทพเจ้าและอำนาจรัฐ

แต่อย่างไรก็ดีในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต โสเครตีสกลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ เขาได้เรียกร้องให้ผู้คนต้องสำนึกต่อบุญคุณของรัฐ กล่าวคือจะต้องไม่ฝ่าฝืน ละเมิด หรือทรยศหักหลังต่อระเบียบกติกาของสังคม ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทั้งสิ้น สรุปง่ายๆ คือทุกคนในสังคมต้องนับถือและเชื่อฟังระเบียบของสังคม ไม่ว่าระเบียบนั้นจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ในสายตาของตนก็ตาม สิ่งนี้จึงนำไปสู่คำถามว่า เหตุใดโสเครตีสถึงตัดสินใจทำในสิ่งที่สวนทางกับพฤติกรรมที่เคยทำมาตลอดชีวิตเช่นนี้ ? 

เพลโต (Plato) ศิษย์เอกของโสเครตีสได้เขียนบทสนทนา ‘ไครโต’ (Crito) ขึ้น ซึ่งเป็นบทสนทนาในช่วงวาระสุดท้ายของโสเครตีสขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในคุก เพื่อเตรียมตัวรอการประหารชีวิตในข้อหาทำให้เด็กหนุ่มเสียคนและหมิ่นต่อพระเจ้าของนคร โดยในขณะนั้น ไครโต สหายผู้หนึ่งของโสเครตีสได้วางแผนรวบรวมเงินจากคนที่ศรัทธาในโสเครตีส เพื่อนำมาติดสินบนเจ้าหน้าที่ แลกกับการพาโสเครตีสหนีออกจากคุกแล้วไปตั้งตัวที่นครอื่น 

แต่โสเครตีสกลับปฏิเสธแผนการนี้ ทั้งๆ ที่ทราบแก่ใจดีว่าการตัดสินประหารชีวิตเขาโดยสภาประชาชนนั้นเป็นไปอย่าง ‘อยุติธรรม’ เพราะแม้ว่าโสเครตีสจะแก้ตัวและปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดไว้อย่างครบครันแล้ว ดังที่ปรากฏในบทสนทนาอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ คือ ‘คำแก้ต่างของโสเครตีส’ (Apology) แต่ปรากฏว่าคะแนนที่ออกมากลับเหลื่อมล้ำกันอย่างฉิวเฉียด

แม้จะรู้ดีว่าเขากำลังถูกสังคมลงโทษด้วย ‘การสั่งให้ไปตาย’ อย่างไม่ถูกต้องจากสิ่งที่เขาได้กระทำมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาลบหลู่ดูหมิ่นหรือศรัทธาเทพองค์อื่นซึ่งไม่ใช่เทพประจำนคร หรือการที่เขาเป็นสาเหตุทำให้เด็กหนุ่มเสียคนหลังจากที่เด็กเหล่านั้นได้เข้ามาฟังเขาพูดคุยถกเถียงในเรื่องต่างๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันเรื่องเหล่านี้ได้

ในขณะที่การให้ปากคำในศาลของ เมเตลัส (Metelus) ฝ่ายโจทก์ผู้กล่าวหาเขาก็ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใด แต่ในเมื่อ ‘เสียงส่วนใหญ่’ ของสภาได้ลงมติให้โสเครตีสต้องโทษประหารชีวิตด้วยการรับประทานยาพิษเฮมล็อคจนถึงแก่ความตายแล้ว โสเครตีสก็จำต้องทำตามมติของมหาชนโดยไม่ลังเล โดยเขาได้ประกาศเจตจำนงอย่างชัดเจนในศาลว่า

ตัวเขาไม่กลัวความตายแต่อย่างใด เพราะถือเป็นความไม่ฉลาดที่จะกลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้จัก (Apology 29b) และหากมีใครก็ตามขอร้องให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมที่ชอบตั้งคำถามและถกเถียงปรัชญากับผู้อื่น (อันเป็นสาเหตุที่ทำให้บางคนคิดว่าเขาทำให้เด็กหนุ่มกระด้างกระเดื่อง) โสเครตีสเห็นว่าเขายอมตายเสียดีกว่าที่จะให้หยุดการกระทำเช่นนั้น  (Apology 30c , 32a)

ดังนั้น หลังจากศาลพิพากษาแล้ว โสเครตีสจึงถูกนำมาคุมขังไว้ในคุก จนกระทั่งวันที่ไครโตลอบเข้ามาติดต่อเพื่อหาทางช่วยแหกคุกดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไคโตรเห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตโสเครตีสโดยมติของคนส่วนใหญ่นั้น ‘เป็นเรื่องเลวร้ายอย่างที่สุด’ (Crito 44d) แต่อย่างไรก็ดี หลังจากได้ฟังแผนการแล้ว โสเครตีสกลับตอบไครโตไปว่า เขาขอบใจในความพยายามดังกล่าว แต่ไม่ขอรับข้อเสนอนี้ไว้ เพราะการแหกคุกเป็นการละเมิดกฎหมาย และการละเมิดกฎหมายถือเป็น ‘การกระทำที่ทำลายรัฐ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่โสเครตีสรับไม่ได้อย่างที่สุด !

สำหรับเหตุผลที่ว่าเหตุใดโสเครตีสจึงมองว่าการละเมิดกฎหมายเป็นอันตรายต่อรัฐนั้น ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าในสมัยกรีกโบราณ นครรัฐหรือรัฐที่เรียกกันในภาษากรีกว่า ‘Polis’ นั้น จัดเป็นแหล่งสมาคม (association) ประเภทหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเราอนุมานได้ว่า ประเทศหรือรัฐสามารถนำมาใช้แทนที่หน่วยทางการเมืองดังกล่าวได้ (แม้ว่าอาจมีมิติแห่งบริบทที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม) 

ปรัชญาทางการเมืองของกรีกไม่ว่าจะเป็นของโสเครตีส เพลโต และอาริสโตเติ้ล (Aristotle) ต่างเห็นว่ามนุษย์จะเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมนุษย์เหล่านั้นดำรงชีวิตอยู่ใน Polis หรือรัฐ เพราะการอยู่ในสังคมจะช่วยให้มนุษย์รู้จักภาษา การมีภาษาจะทำให้เกิดการพูดคุยกันจนพัฒนาไปสู่การรู้จักใช้เหตุผล (logos) ดังนั้น มนุษย์ที่สมบูรณ์ในทรรศนะของปรัชญากรีก คือมนุษย์ที่รู้จักเหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว ยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่ถือกำเนิดมาจนถึงช่วงเจริญวัย รัฐได้มอบ ‘สิทธิ’ ให้แก่ทารกผู้นั้น รวมถึงได้มอบทักษะและความจำเป็นต่างๆ ให้แก่พวกเขามาโดยตลอดจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องธำรงรักษาเอาไว้ การทำลายรัฐถือเป็นการทำลายชีวิตที่ดีของมนุษย์ในสังคมนั้น และสิ่งที่โสเครตีสท้าทายสังคมเอเธนส์มาตลอดหาใช่การท้าทายต่อความชอบธรรมของรัฐโดยตรง หากแต่เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลหรือความเชื่อของผู้คนในสังคมเท่านั้น กล่าวได้ว่า ชีวิตแห่งปรัชญาของโสเครตีสจึงเต็มไปด้วยการทดสอบเหตุผลและความรู้ของผู้คน หาใช่ความต้องการที่จะทำลายรัฐ หรือทำให้เด็กหนุ่มเสียคนจนทำให้นครเอเธนส์ต้องสั่นคลอนแต่อย่างใด 

ดังนั้น คำตอบของโสเครตีสที่มีต่อความหวังดีของไครโตจึงแจ่มแจ้ง เขาเห็นว่ารัฐและกฎหมายแห่งรัฐนั้นมี ‘บุญคุณ’ ต่อประชาชน (รวมถึงตัวโสเครตีสเองด้วย) อย่างไม่ต้องสงสัย อาทิ กฎหมายแห่งรัฐได้บังคับให้พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตร โดยในมุมมองของโสเครตีสเห็นว่า ประชาชนและบรรพบุรุษของพวกเขาย่อมต้องเป็นลูกและทาสของรัฐ (Crito 50d – 50e) การที่รัฐมีบุญคุณเช่นนี้ การต่อต้านใดๆ ต่อรัฐถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

หากจะมองเรื่องนี้ด้วยมุมมองในยุคปัจจุบัน เยาวชนรุ่นใหม่อาจมีคำถามขึ้นว่า “การที่โสเครตีสกล่าวเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเขากำลังกระทำตัวเป็นพวกที่สยบยอมอำนาจที่ไม่เป็นธรรมและกดขี่ หากเห็นว่ากฎหมายแห่งรัฐอันใดไม่ยุติธรรมธรรมหรือไม่ดี โสเครตีสก็ควรจะต่อสู้หรือแก้ไขสิ ทำไมถึงต้องยอมสยบแทบเท้าต่อกฎหมายเฮงซวยเหล่านี้ด้วย” 

คำถามนี้ดูเหมือนจะดี แต่แม้โสเครตีสจะไม่ได้ถูกไครโตถามคำถามแบบนี้ในบทสนทนา แต่เขากลับตอบอย่างชัดเจนประหนึ่งมีญาณทิพย์รู้ล่วงหน้าว่าในอนาคตอาจจะมีคนเห็นแย้ง ดังที่เขาเห็นว่า ถ้าใครไม่พอใจในกฎแห่งรัฐหรือมุมมองของรัฐ ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องชักจูงให้รัฐเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเลวหรือไม่ถูกต้องอย่างไร (Crito 51c) นอกจากนั้น รัฐยังได้เปิดโอกาสให้คนที่ไม่พอใจรัฐสามารถ ‘เลือกได้อย่างเสรี’ ว่าหากเขาไม่พอใจรัฐแล้ว เขาก็สามารถใช้เสรีภาพ ‘ย้าย’ ไปอยู่รัฐอื่นได้ หากแต่ผู้ใดตกลงปลงใจที่จะอยู่ นั่นหมายความว่าเขายอมรับที่จะทำตามข้อตกลงหรือกฎหมายแห่งรัฐนี้ (Crito 51d)

ดังนั้น คำตอบของโสเครตีสจึงชัดเจนอยู่แล้ว เพราะถึงแม้เขาจะมีเวลาย้ายไปจากนครเอเธนส์ตั้งนาน แต่เขากลับตัดสินใจลงหลักปักฐาน ทำสัมมาอาชีพ มีลูก และใช้ชีวิตอยู่ในนครแห่งนี้ยาวนานถึง 70 ปี ด้วยเหตุนี้ คำตอบเดียวของโสเครตีส คือ การต้องยอมรับในคำตัดสินอันเป็นกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐ โสเครตีสจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้แก่รัฐ มิฉะนั้นแล้วเขาจะกลายเป็นคนเลวเพราะละทิ้งต่อสัญญา 

ในท้ายที่สุด เขายังเห็นว่าการตอบแทนสิ่งที่เลว (หากเชื่อว่าการลงโทษประหารชีวิตเขาไม่ยุติธรรม) ด้วยสิ่งที่เลว (การแหกคุก) เป็นการกระทำที่เรียกว่า ‘ตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว’ ถือเป็นความน่าละอายใจยิ่ง (Crito 54c) 

นอกจากนี้ โสเครตีสยังมักตั้งคำถามกับผู้อื่นว่า ‘ความยุติธรรมคืออะไร ?’ โดยเขากล่าวว่าการกระทำความชั่วตอบแทนความชั่วย่อมเป็นการแสดงออกถึง ‘การเป็นคนไม่มีคุณธรรม’ เพราะความยุติธรรม (justice) ถือเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรม (arete) ดังนั้น การแหกคุกจึงเป็นการแสดงออกถึงความไม่มีคุณธรรม และจะต้องถูกสังคมตราหน้าไปตลอดชีวิตว่าเป็น ‘คนไม่มีคุณธรรม’ ซึ่งเป็นสิ่งที่โสเครตีสไม่ปรารถนา เพราะเขามองว่าคนที่มีคุณธรรมจะต้องทำแต่สิ่งที่ดีเสมอในทุกกรณี แม้ว่าจะมีคนกระทำชั่วใส่เขาก็ตาม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดโสเครตีสจึงยอมตายเสียดีกว่าที่จะเลือกรักษาชีวิตของตนเองเอาไว้

หากนำประเด็นนี้มาพิจารณาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน หากมีใครสักคนกล่าวว่าประเทศชาติไม่มีบุญคุณต่อเขา หรือทำไมเขาต้องทำตามกฎหมายของรัฐด้วย (แม้ตามความเห็นของตนจะเห็นว่าไม่ยุติธรรม) คนเหล่านั้นควรกลับมาพิจารณาตนเองก่อนว่า ตั้งแต่เกิดและเติบโตมาจนถึงบัดนี้ หากมิใช่ว่ามาจากครอบครัวที่เสียภาษีเกินกว่าจำนวนที่รัฐต้องจัดสรรมาให้แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนเหล่านี้ ‘ติดหนี้บุญคุณรัฐ’ 

จริงอยู่ที่ว่าบุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ใช่คนไทยทุกคนที่เสียภาษีในจำนวนเกินกว่าเม็ดเงินที่รัฐเลี้ยงดูได้ คนเหล่านี้บางคนก่นด่าสาปแช่งกฎหมายที่ตนไม่ชอบ แต่กลับอาศัยกฎหมายในลักษณะเดียวกันประกอบสัมมาอาชีพ คนพวกนี้อาจจะต้องศึกษาเหตุผลของโสเครตีสในบทสนทนานี้ แล้วตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘ประเทศชาติมีบุญคุณหรือไม่?’ หรือจริงๆ แล้วปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดแก่ตัวเราทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะเราเองนั่นแหละที่ไม่เหมาะสมกับสังคมนี้? ไม่ใช่กฎหมายแห่งรัฐแต่อย่างใด

อ้างอิง :

[1] Plato’s Crito
[2] Plato’s Apology

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด