หยุดเกมล่าอาณานิคมด้วย ‘การทูตสาธารณะ’ ยุทธศาสตร์อันแยบคายของสยาม ที่ถูกยกเป็นต้นแบบให้กับญี่ปุ่น

ประเทศไทยหรือสยามนั้น เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมใดๆ (แม้ภายหลังจะมีนักวิชาการตีความว่าตกเป็น “กึ่งอาณานิคม” ก็ตาม) ความพิเศษนี้ได้รับการกล่าวขานถึงทั่วไปทั้งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติจริง ดังเช่นชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้รัฐบาลไทยได้กล่าวว่า ทูตอังกฤษประจำญี่ปุ่นได้แนะนำพระจักรพรรดิเมอิจิว่า ญี่ปุ่นน่าจะศึกษาความก้าวหน้าของสยามเป็นตัวอย่าง หรือ เหลียง ฉี่ เชา นักวิจารณ์ชาวจีนได้กล่าวถึงสยามว่า “แม้ถูกรุกเร้า สยามก็ยังยืนหยัดอย่างภาคภูมิ” [1] ซึ่งไม่มีใครสักคนเดียวที่กล่าวว่าสยามเป็นกึ่งอาณานิคม แต่กลับมองด้วยความชื่นชม

หลักในการอยู่รอดของสยามนั้นได้ถูกศึกษาอย่างหลากหลายว่าผ่านพ้นมาได้ด้วยปัจจัยใด เช่น การถ่วงดุลเชิงกลยุทธ์ [2] อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าสำคัญนั่นคือ การทำให้อารยประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตกนั้นยอมรับสยามในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความเจริญ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ข้ออ้างความล้าหลังของประเทศเพื่อแทรกแซง โดยเราจะเห็นได้ว่ามีความพยายามตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ได้เค้นความรู้ที่สะสมมาตลอดช่วงระยะเวลาที่พระองค์ผนวช เพื่อการปกครองประเทศให้เจริญขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้แนะนำสยามในฐานะประเทศอารยะต่อเวทีสากลโลกด้วย ดังนั้นแล้วการทำ “การทูตสาธารณะ” จึงเป็นประเด็นสำคัญของการอยู่รอดของสยามอย่างยิ่ง

การทูตสาธารณะนั้นคือการกระทำของรัฐบาลหรือการกระทำของภาคส่วนอื่นๆ ที่ทางราชการให้การสนับสนุนในการสื่อสาร เพื่อทำให้เกิดอิทธิพลหรือการเกิดการรับรู้ในเชิงบวกขึ้นแก่ผู้ที่เป็นเป้าหมายของการสื่อสาร หรือเราอาจเรียกด้วยคำติดปากเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าเป็นซอฟต์เพาเวอร์ [3] กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ เป็นความพยายามในการสื่อสารทางบวก และสร้างความประทับใจโดยไม่ได้รู้สึกว่าเกิดการบังคับหรือยัดเยียด และยังสามารถถูกใช้เพื่อการสร้างความกลมเกลียวก็ได้เช่นกัน

วิธีการดังกล่าวนี้ถูกใช้ผ่านการประชาสัมพันธ์ โดยปกติแล้วการประชาสัมพันธ์จะถูกใช้เพื่อแจ้งข่าวสารหรือสื่อสารต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดช่วงระยะเวลาแห่งวิกฤตขึ้น การสื่อสารนั้นก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อเป็นเพียงการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังสามารถถูกใช้เพื่อความอยู่รอดได้ โดยในที่นี้คือการดำรงความเป็นเอกราชเอาไว้ [4]

ร่องรอยแรกๆ ของการพยายามแสดงตนว่าสยามเป็นประเทศอารยะนั้นคือพระราชสาส์นและพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 รวมไปถึงการใช้พระบรมสาทิสลักษณ์และพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกส่งไปให้ผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งมีนัยเชิงการสื่อสารถึงความเป็นอารยะของสยาม ขณะที่สยามและหลายประเทศในเอเชียได้เผชิญกับวิกฤตการล่าอาณานิคมนั้น การใช้พระราชสาส์นดังกล่าวนี้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลและผู้นำเอเชียคนอื่นๆ ที่เก็บตัวและหวาดระแวงตะวันตก ซึ่งนี่เป็นการใช้การทูตสาธารณะเพื่อโน้มน้าวทั้งผู้นำประเทศและประชาชนที่อาจจะได้เห็นข่าวว่าสยามซึ่งเป็นประเทศอันไกลลิบนั้นก็มีความเจริญเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การพยายามเอาตัวรอดจากการล่าอาณานิคมนั้นยังไม่จบในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้น แต่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเฉกเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์ รัชกาลที่ 5 ทรงใช้การทูตสาธารณะเพื่อปกป้องเอกราชของสยามไว้เช่นเดียวกัน แต่วิธีการของพระองค์นั้นได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่บีบคั้นมากขึ้นผ่านการเสด็จประพาสยุโรป

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2440) นั้น พระองค์มีจุดประสงค์ดังปรากฏในพระราชหัตเลขถาถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ป้องกันประเทศไม่ให้มีภัยอันตรายจากทั้งภายนอกและภายใน ด้วยการให้สยามเป็นที่รู้จักของประเทศยุโรปและส่งเสริมสัมพันธไมตรี รวมไปถึงการดูการบริหารประเทศในยุโรปเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสยามด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การพยายามยกสถานะของประเทศผ่านการทำการทูตสาธารณะนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ เราเห็นได้จากรายละเอียดทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษมากมายที่ถูกกำหนดขึ้นในการเสด็จประพาสครั้งนั้น เช่น การแต่งพระองค์อย่างละเอียด การปฏิบัติตามธรรมเนียมของยุโรป

การเสด็จครั้งแรกของพระองค์นั้นได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนอย่างล้นหลาม และปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น L’Illustration ของฝรั่งเศสที่บรรยายบุคลิกของพระองค์ในทางบวก การเสด็จครั้งนี้ได้ส่งผลอย่างสูงต่อการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พระองค์เสด็จไปยังรัสเซียก่อนประเทศอื่นๆ และฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกันกับซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ทั่วยุโรปและทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปจัดการต้อนรับรัชกาลที่ 5 อย่างสมพระเกียรติตามไปด้วย และการที่บิสมาร์กผู้นำคนสำคัญของเยอรมนีและยุโรปขณะนั้นได้เชิญเสด็จด้วย ทำให้สถานะของสยามได้รับการยอมรับอย่างสูงเด่น

ต่อมาในการเดส็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) ก็ยังคงได้รับความสนใจเหมือนการเสด็จประพาสในครั้งแรก เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงใช้การทูตสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพโดยพระองค์เอง ทำให้ประชาชนได้สัมผัสพระจริยาวัตรอย่างใกล้ชิด หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของสื่อต่อความสนใจในรัชกาลที่ 5 นั้น เราเห็นได้จากการที่พระองค์ถูกจัดเป็น 1 ใน 25 ผู้นำประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกโดยหนังสือพิมพ์ The Portland Oregonian โดยยังไม่รวมถึงการเผยแพร่ถึงการเสด็จประพาสยุโรปในหนังสือพิมพ์อื่นๆ อีกมาก ทำให้ทรงเป็นจุดสนใจของชาวยุโรปจนได้ขึ้นปกหนังสือพิมพ์และเป็นเนื้อหาข่าวสำคัญในหลายประเทศ เช่น การขึ้นปกหนังสือพิมพ์ La Vie Illustre’ ของฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนสามารถจดจำพระองค์ได้ และบริบททางการทูตก็มีความชัดเจนมากขึ้นในสายตาชาวโลกอีกด้วย

ดังนั้นแล้วรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จึงทรงเป็นผู้ใช้การทูตสาธารณะได้อย่างดีเยี่ยม พลังจากการทูตสาธารณะของทั้งสองพระองค์นี้เองที่ทำให้สยามมีเอกราชอย่างยืนยงได้ ในขณะเดียวกันก็ได้เป็นแบบอย่างให้กับหลายๆ ประเทศได้เรียนรู้ ซึ่งรวมถึงผู้นำของสยามในอนาคตด้วย

อ้างอิง :

[1] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า 16-17.
[2] ดูใน Gustavo A. Mendiolaza, Ben Rich, and Alexey D. Muraviev, “Strategic hedging: a case study of nineteenth-century Siam,” South East Asia Research Volume 30, 4 (2022): 434-451.
[3] Britannica, “Public diplomacy”.
[4] ต่อไปเป็นการสรุปจาก นภวรรณ ตันติเวชกุล, พัฒนาการของการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2394 – 2475) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า