พระเกี้ยว คือสัญลักษณ์ของความเสมอภาค และเท่าเทียมกันของทุกคน แม้จะเกิดมาในฐานะใดก็ตาม

พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา

หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ พระเกี้ยวคือสัญลักษณ์ของความเสมอภาคที่บ่งชี้ว่า ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แม้จะเกิดมาในฐานะใดก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้ริเริ่มปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนส่งผลให้สยามพัฒนาขึ้นตามลำดับ หนึ่งในการปฏิรูปสยามของพระองค์คือการปฏิรูปโครงสร้างสังคม โดยมุ่งเน้นให้การศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันแก่ราษฎรทุกชนชั้น

ซึ่งหากเราเปรียบเทียบโครงสร้างสังคมของสยาม ทั้งก่อนและหลังการปฏิรูปประเทศ จะเห็นภาพความแตกต่างและการพัฒนาที่ชัดเจน โดยโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาของสยามในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2396 – 2453) ก่อนการปฏิรูปประเทศ จะมีลักษณะดังนี้

  1. โครงสร้างทางสังคมมีการแบ่งชนชั้นเป็น เจ้า ขุนนาง พระ ไพร่และทาส
  2. มีการแบ่งขุนนางออกเป็นชนชั้นตามการรับใช้ราชการแผ่น เช่น เจ้าพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น และพัน
  3. สิทธิของสตรีและเด็ก จะอยู่ต่ำกว่าบุรุษและบิดามารดา สามีสามารถมีภรรยาได้หลายคน
  4. มีการควบคุมการหลบหนีหรือเคลื่อนย้ายของไพร่ ด้วยการสักชื่อมูลนายและชื่อของเมืองบนข้อมือของไพร่ หากมีการหลบหนีก็จะสามารถจับตัวมาส่งมูลนายได้ถูกต้อง
  5. การศึกษาเน้นในกลุ่มของผู้ชาย เพราะต้องบวชเรียน หากเป็นเจ้านายก็จะมีอาจารย์พิเศษที่เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ มาสอน

ส่วนโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม ของสยามในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2396 – 2453) หลังการปฏิรูปประเทศ มีลักษณะดังนี้

  1. มีการยกเลิกระบบศักดินาในสยาม โดยทรงริเริ่มการยกเลิกระบบไพร่และทาส เพื่อยกฐานะของชาวสยามให้มีความทัดเทียมกัน
  2. มีมาตรการการเกณฑ์ทหาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีของการยกเลิกไพร่และทาสในสยาม ที่เข้ามารับราชการเป็นทหารอาสาสมัคร
  3. ยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลาน เปลี่ยนจากการถวายบังคมและการกราบไหว้เป็นการก้มศีรษะถวายคำนับแบบตะวันตก
  4. เปลี่ยนแปลงการแต่งกายชาวสยาม โดยผู้ชายที่เคยสวมใส่โจงกระเบนให้เปลี่ยนไปสวมกางเกง ใส่เสื้อเชิ้ต สวมถุงเท้า รองเท้า หมวก และยกเลิกประเพณีการไว้ทรงผมมหาดไทย โดยให้ตัดผมเกรียนทั้งศีรษะหรือไม่ก็ไว้ยาวเล็กน้อยให้เป็นรองทรง

และหากมองให้ละเอียดลงไป จะเห็นถึงการพัฒนาของโครงสร้างทางการศึกษาของสยามในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2396 – 2453) หลังการปฏิรูปประเทศ ดังนี้

  1. มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้น โดยใช้วัดเป็นสถานที่ในการเรียนการสอน
  2. ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์เป็นสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ โดยเปิดสอน 8 สาขา คือ ครู การแพทย์ การปกครอง กฎหมาย การทูต การค้าขาย การเพาะปลูก และการช่าง และได้มีการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่ 6
  3. มีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายและโรงเรียนทหารขึ้น คือ โรงเรียนนายร้อย และโรงเรียนนายสิบ
  4. มีทุน King Scholarship เพื่อส่งเสริมนักเรียน ให้ไปเรียนต่างประเทศปีละ 2 ทุน
  5. เกิดโรงเรียนของสตรีขึ้นตามจังหวัดต่าง ๆ
  6. เกิดโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมราชวัง เพื่อให้ความรู้แก่บรรดามหาดเล็กหลวง ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

และในช่วงเวลานี้เองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งโรงเรียนและสถาบันการศึกษาขึ้นมากมาย ตามนโยบายมุ่งเน้นให้การศึกษาแก่ราษฎรทั่วไปให้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ ตลอดจนส่งเสริมบุคคลที่มีความสามารถ ให้ไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสยามให้ก้าวหน้า และรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

โดยพระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนและสถาบันการศึกษาขึ้นในหลายสาขาอาชีพ และมุ่งเน้นให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเท่าเทียม ดังนี้

พ.ศ. 2414 จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อฝึกคนให้เข้ารับราชการ โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากแรงผลักดันทางการเมืองที่ส่งผลให้ไทยต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้เจรจากับมหาอำนาจตะวันตก ทั้งนี้ยังได้มีการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาครูที่ประเทศอังกฤษอีกด้วย

พ.ศ. 2423 จัดตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยในพระบรมมหาราชวังเป็นโรงเรียนสตรี

พ.ศ. 2424 ปรับปรุงโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ให้เป็นโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในปี พ.ศ. 2453 และต่อมาในปี พ.ศ. 2459 จึงได้ตั้งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2427 จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้น ตามวัดในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง โดยแห่งแรกคือ โรงเรียนมหรรณพาราม เพื่อให้การศึกษาแก่ทาสที่ได้รับความเป็นไท ให้มีวิชาความรู้นำไปประกอบอาชีพได้ โดยไม่ต้องกลับมาเป็นทาสอีก

พ.ศ. 2432 จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น เรียกว่า โรงเรียนแพทยากร ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช ใช้เป็นที่สอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน

พ.ศ. 2435 จัดตั้งโรงเรียนมูลศึกษาขึ้นในวัดทั่วไป ทั้งในกรุงเทพมหานครและหัวเมือง โดยวัตถุประสงค์เพื่อขยายการศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยให้แพร่หลายเป็นแบบแผนยิ่งขึ้น และตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นแห่งแรกที่ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส

พ.ศ. 2437 นักเรียนฝึกหัดครูชุดแรก 3 คนสำเร็จการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรเป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

พ.ศ. 2449 ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส ไปรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก (บ้านสมเด็จเจ้าพระยา) พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรให้สูงขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สอนหลักสูตร 2 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จในระดับชั้นมัธยมศึกษา

พ.ศ. 2456 ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย

พ.ศ. 2461 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์

พ.ศ. 2464 ปรับปรุงโครงการศึกษาชาติ โดยวางโครงการศึกษาขึ้นใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีการทำมาหาเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากการรับราชการ

พ.ศ. 2464 ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา บังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์หรือย่างเข้าปีที่ 8 ให้เรียนอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปีบริบูรณ์ หรือย่างเข้าปีที่ 15 โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการเรียกเก็บเงินศึกษาพลี จากประชาชนคนละ 1- 3 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายและบำรุงการศึกษาในระดับประถมศึกษา

จากการปฏิรูปประเทศในสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า การที่ประเทศจะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนภายในประเทศจะต้องมีความรู้ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการปฏิรูปประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 5 คือการวางรากฐานที่สำคัญทางด้านการศึกษาของสยาม

อีกทั้งในขณะนั้น การเผชิญกับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่สุดต่อการปฏิรูปของสยาม ซึ่งชาติอื่น ๆ มองว่าสยามยังคงมีประเพณีที่ล้าสมัย เช่น ระบบไพร่ ระบบทาส ทำให้ประชาชนขาดอิสระภาพ ขาดสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิต มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน

การยกเลิกระบบไพร่ทาส และการมุ่งให้การศึกษาแก่ประชาชนในทุกระดับชั้น จึงถือเป็นการยกฐานะของชาวสยามให้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

ดังนั้น พระเกี้ยว และ การอัญเชิญพระเกี้ยว จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม ไม่ใช่สัญลักษณ์ของคนไม่เท่ากัน หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคที่บ่งชี้ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แม้จะเกิดมาในฐานะใดก็ตาม

ที่มา :

[1] อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย พระเกี้ยว สัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ
[2] สกุลรัตน์ วุฒิชัย, การศึกษาเปรียบเทียบการนำเข้าความเป็นตะวันตกเข้ามาปฏิรูปประเทศระหว่างพระเจ้าปีเตอร์มหาราชของจักรวรรดิรัสเซีย (ค.ศ. 1672-1725) กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยาม (ค.ศ. 1853-1910) กรณีศึกษาด้านสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า