‘โจรสลัดตะรุเตา’ หลักฐานแห่งความล้มเหลวของราชทัณฑ์ยุคคณะราษฎร ที่ต้องให้อังกฤษช่วยปราบ

เกาะตะรุเตา ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสตูลด้านฝั่งทะเลอันดามัน ถือเป็น ‘เกาะสวรรค์’ แห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนยังเกาะแห่งนี้ เพราะยังคงความเป็นธรรมชาติและแทบไม่ได้รับการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเท่าใดนักเมื่อเทียบกับเกาะอื่นๆ ในประเทศไทย

แต่หากย้อนเวลากลับไปหลายสิบปีก่อน ‘เกาะสวรรค์’ แห่งนี้ กลับเป็น ‘เกาะนรก’ ของคนในสมัยยุคต้นประชาธิปไตย ภาพจำของคนไทยสมัยนั้นเมื่อนึกถึงเกาะตะรุเตา คือ เกาะสำหรับดัดสันดานนักโทษคดีสำคัญๆ ซึ่งถูกรัฐบาลมองว่าเป็น ‘เดนมนุษย์’ เนื่องจากมีพฤติกรรมขัดต่อกฎหมายและระเบียบอันดีงามของสังคม

นอกจากเดนมนุษย์เหล่านี้แล้ว รัฐบาลประชาธิปไตยยังใช้เกาะแห่งนี้เป็นที่จองจำนักโทษทางการเมืองและผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลอีกด้วย โดยได้ส่งพวกเขามาอยู่ให้พ้นหูพ้นตาเสียที่นี่

เกาะตะรุเตาในเวลานั้นจึงเปรียบได้กับขุมนรกดีๆ นี่เอง เพราะเกาะแห่งนี้รายล้อมไปด้วยความตายอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้ป่ามาลาเรีย และสัตว์อันตรายต่างๆ เช่น ฝูงฉลามที่โบกครีบว่ายฉวัดเฉวียนอยู่รอบๆ เกาะ ฝูงจระเข้น้ำเค็มที่ออกหากินอยู่ในป่าโกงกางและริมฝั่ง ตลอดจนความลำบากแสนเข็ญและความตายที่มาจากการถูกลงโทษอย่างทุกข์ทรมานของผู้คุมที่หาได้คิดถึงหลักมนุษยธรรมไม่

กำเนิดนโยบายนิคมเกาะตะรุเตา

เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2480 รัฐบาลได้อนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ไปบุกเบิกเกาะตะรุเตา หลวงพิธานทัณฑภัย (พูน พงศ์ภักดี) พร้อมด้วยแรงงานนักโทษบางส่วนได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่และสร้างโรงเรือนเบื้องต้นจนแล้วเสร็จ ปีต่อมานักโทษรุ่นแรกจำนวน 500 คน ถูกส่งมาถึงเกาะตะรุเตาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2481 โดยเดินทางผ่านทางสถานีรถไฟอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา จนมาถึงจังหวัดสตูล และนักโทษรุ่นต่อมาถูกส่งมาเพิ่มเติมอีก 500 คน

ช่วงแรกที่ทำการนิคมฯ ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงแค่ ‘หน่วย’ ที่สังกัดกรมราชทัณฑ์เท่านั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า ‘ตะโละอุดัง’ ต่อมาได้ย้ายไปยัง ‘ตะโละวาว’ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอันมีพื้นที่กว้างขวาง และยังเป็นที่ราบซึ่งเหมาะกับการตั้งเป็นนิคมมากกว่า

ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 กรมราชทัณฑ์ได้ยกฐานะนิคมฯ ขึ้นเป็น ‘กอง’ โดยแต่งตั้งทองไท (กิมถ่อง) ทวีกาญจน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนิคมฯ คนแรก ต่อมาทองไทถูกย้ายไปรับราชการที่เรือนจำภาคธารโต จังหวัดยะลา ในราวกลางปี 2482 ตำแหน่งผู้อำนวยการนิคมฯ จึงตกเป็นของขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ (เนื่อง มาศะวิสุทธิ์) หัวหน้าแผนกเรื่องราว กองผลประโยชน์ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งขุนอภิพัฒฯ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการนิคมฯ มาอย่างยาวนานจนถึง พ.ศ.2489 ซึ่งเป็นช่วงปิดฉากชีวิตราชการของเขา หลังถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานกระทำตัวเป็นโจรสลัด

กำเนิดโจรสลัดตะรุเตา

ราว พ.ศ.2486 เป็นต้นมา (ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2) เริ่มมีหลักฐานพยานต่างๆ ปรากฏออกมาว่าบรรดาข้าราชการ ผู้อำนวยการนิคมฯ (ขุนอภิพัฒฯ) ผู้คุม ตำรวจ รวมถึงบรรดานักโทษทั้งหลายได้ผันตัวมาเป็นโจรสลัดกัน เหตุผลของการหันมาเป็นโจรสลัดนั้นหาได้ซับซ้อนแต่ประการใดไม่ มันเป็นเรื่อง ‘ปัญหาปากท้อง’ ของนักโทษและผู้คุมล้วนๆ

ความเป็นอยู่ของนักโทษบนเกาะแห่งนี้ไม่ได้สะดวกสบายนัก เพราะบรรดาโครงการผลิตเพื่อการยังชีพของกรมราชทัณฑ์ที่ได้พยายามดำเนินการมาตั้งแต่เปิดนิคมฯ ล้วนแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง การผลิตเกลือใช้เองในนิคมฯ การเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตนมและเนยก็ประสบปัญหาการคอรัปชั่นจนทำให้การลงทุนโดยงบหลวงต้องสูญเปล่า ข้าราชการบางคนยังกอบโกยผลประโยชน์จากการผลิตไม้แปรรูปเข้ากระเป๋าของตนเอง แม้แต่การทำนาเพื่อผลิตข้าวเลี้ยงนิคมฯ ที่หน่วยตะโละโป๊ะ สุดท้ายก็ยังล้มเหลวหลังจากปลูกข้าวได้เพียงแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น

ด้านความเป็นอยู่ของนักโทษ ในสมัยของทองไทซึ่งเป็นผู้อำนวยการนิคมฯ คนแรกนั้น ว่ากันว่านักโทษอยู่ดีกินดีพอประมาณ โดยทางนิคมฯ ยังจัดขนมหวานให้นักโทษได้รับประทานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มก็ไม่ได้ขาดแคลน เรียกว่าสภาพความเป็นอยู่ของข้าราชการและบรรดานักโทษบนเกาะตะรุเตาในช่วงแรกเริ่ม (2481-2484) นั้นค่อนข้างดี เพราะถึงแม้ว่าเกาะนี้จะตั้งอยู่ห่างไกลชายฝั่ง แต่ก็ไม่ได้มีอุปสรรคเรื่องการขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคแต่ประการใด

แต่เมื่อสงครามในทวีปยุโรปได้ขยายลามมาจนถึงฝั่งตะวันออกซึ่งเรียกกันว่า ‘สงครามหาเอเชียบูรพา’ อันมีญี่ปุ่นเป็นตัวละครสำคัญ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นผ่านประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 แม้จะไม่เต็มใจนักแต่ประเทศไทยจำต้องยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่าน ต่อมาความสัมพันธ์กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกลับแย่ลงไปอีก เมื่อประเทศไทยตัดสินใจประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485

การประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของนิคมฯ เกาะตะรุเตาที่อยู่ใกล้กับดินแดนมลายา ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สงครามมหาเอเชียบูรพาก่อให้เกิดความยากลำบากต่อการดำเนินการของนิคมฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคมนาคมขนส่งสินค้าและอาหารจากแผ่นดินใหญ่ผ่านจังหวัดชายฝั่ง เช่นสตูลและตรัง ทำได้ไม่สะดวกนักในภาวะสงคราม ส่งผลให้อาหาร หยูกยา และเครื่องใช้เริ่มขาดแคลน น้ำมันตะเกียงเริ่มหายาก ถึงขนาดว่านักโทษต้องจับหิ่งห้อยมาใส่ในขวดแก้วเพื่อใช้เป็นแสงไฟในยามค่ำคืนกันเลยทีเดียว

เมื่อสงครามทวีความรุนแรงขึ้น ทางนิคมฯ ไม่มีแม้แต่น้ำมันเรือที่จะใช้เดินทางไปรับสินค้าจากแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งเรือที่ส่งสินค้ามายังนิคมฯ ได้ยืดระยะเวลานานขึ้นและมาไม่ทันกำหนดอีก แถมเส้นทางรถไฟในประเทศไทยถูกตัดขาดบ่อยครั้งจากการทิ้งระเบิดทำลายตัดเส้นทางของฝ่ายตรงข้าม การถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่นี้เองส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของนิคมฯ โดยตรง โดยเฉพาะเรื่องปากท้องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับนักโทษกักกันที่ต้องถูกใช้แรงงาน ในปี พ.ศ.2486 เกาะตะรุเตาเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนข้าว จนทำให้นิคมฯ ตัดสินใจลดปริมาณอาหารของนักโทษลงเพราะข้าวสารมีไม่เพียงพอ

หลังจากนั้นปัญหาการขาดแคลนอาหารจากการโดนสงครามปิดกั้นเส้นทางได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น นักโทษบางคนถึงกับต้องหันมารับประทานเนื้อสุนัขที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปบนเกาะ เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์อื่นที่กำลังขาดแคลน เคราะห์ร้ายยังไม่หมดเพียงแค่นั้น ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียบนเกาะอย่างรุนแรง แต่ยารักษามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้นักโทษล้มป่วยและตายทุกวันจนต้องนำศพมาฝังรวมกันทีเดียวในหลุมขนาดใหญ่

เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว สัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ย่อมผลักดันให้เกิดการดิ้นรน เพื่อให้เอาชีวิตรอดจากสภาวะแร้นแค้นนี้ไปให้ได้ จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า สงครามเป็นปัจจัยสำคัญที่บังคับให้บรรดาข้าราชการและนักโทษบนเกาะแห่งนี้ต้องผันตัวเป็นโจรสลัดเพื่อการเอาตัวรอด จริงอยู่ว่าคณะราษฎรคงไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ซึ่งส่งผลให้การปฏิรูปประเทศอันเป็นความฝันของพวกเขาต้องถูกขัดจังหวะไป แต่การปล่อยปละละเลย และไม่ยี่หระที่จะแก้ปัญหาความอัตคัตของนิคมตะรุเตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปัญหาปากท้อง นี่เองที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ถึงขั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในนิคมฯ ยังต้องไปเป็นโจรสลัดกับเขาด้วย รัฐบาลคณะราษฎรจึงไม่สามารถปฏิเสธความจริงตรงนี้ได้เลยว่าตนเองก็มีส่วนในความผิดพลาดนี้เช่นกัน

จึงอาจกล่าวได้ว่า เดิมทีแม้รัฐบาลคณะราษฎรได้ริเริ่มนโยบายที่จะพัฒนานิคมแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ฝึกฝนอาชีพ แต่จากความบิดเบี้ยวในการดำเนินการนโยบาย ส่งผลให้นิคมฝึกฝนอาชีพในยุคต้นประชาธิปไตยแห่งนี้กลับกลายเป็นแหล่งซ่องสุม ‘โจรสลัด’ ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการระดับสูง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ตลอดจนนักโทษ ตำรวจ ชาวบ้าน/ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงสังกัดกรมราชทัณฑ์รู้เห็นเป็นใจด้วยในการก่อการ

ดังนั้น ‘โจรสลัดตะรุเตา’ ในภาพจำของคนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ (โดยเฉพาะมาเลเซีย) จึงเป็นพฤติการณ์ที่เลวทรามที่สุด เพราะเป็นการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการในพื้นที่และนักโทษที่ได้กระทำการเป็นผู้ร้ายฆ่าคนบริสุทธิ์ไปนับร้อย ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เรื่องราวของโจรสลัดตะรุเตาจบลงเมื่อทางการอังกฤษที่อยู่ในดินแดนอาณานิคมมลายาได้เข้ามาปราบปรามภายใต้การเห็นชอบของรัฐบาลไทย และยังได้ยินยอมให้เสียเอกราช ‘ชั่วคราว’ ในต้นปี พ.ศ.2489 ด้วย

อ้างอิง :

[1] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ.2475-2540). 
[2] ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. เมื่อผมถูกปล่อยเกาะตะรุเตา. (2522)
[3] บุญเสริม ฤทธาภิรมย์. ประวัติศาสตร์เมืองสตูล. (2548)
[4] จงกล ไกรฤกษ์. อยู่อย่างเสือ. (2546)
[5] พิมพวัลคุ์ เสถบุตร. ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร : การต่อสู้และผลงานพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ในคุก. (2548)
[6] จักราพิชญ์ อัตโน. ตำนานโจรสลัดแห่งสยาม. (2565)
[7] หลุย คีรีวัต. ประชาธิปไตย 17 ปี. (2493)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้