‘จรดพระนังคัล’ พิธีทำขวัญพันธุ์พืชก่อนนาแรก เป็นสัญลักษณ์สิริมงคลร้อยร่วมกันของสถาบันกษัตริย์และประชาชน

“การแรกนานั้นเป็นธุระของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนเมื่อสี่พันปีล่วงมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเหตุสยามเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ที่ปรากฎอยู่ ในการแรกนานี้ก็มีเสมอเป็นนิจ ไม่มีเว้นว่างด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเอง เช่นนี้ก็เพื่อจะเป็นตัวอย่างให้แก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนาเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง”

พระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคลแรกนาขวัญที่คนไทยล้วนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พระราชพิธีดังกล่าวนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมที่ปรากฎอย่างแพร่หลายในสังคมกสิกรรม ซึ่งชนชาติต่างๆ ในเอเชีย ต่างก็ปรากฎประเพณีของการที่ผู้ปกครองรัฐ จะต้องทำพิธีการบางอย่างเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นการกล่อมเกลาคนในสังคมเพื่อให้ตื่นตัวในการประกอบสัมมาอาชีพหาเลี้ยงตัว ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากนับอายุแล้วพิธีแรกนานี้นับว่ามีอายุความเป็นมานับพันๆ ปี และในสังคมไทยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้รับการให้ความสำคัญรวมไปถึงปรับเปลี่ยนมาตลอดยุคสมัยที่พิธีนี้ยังมีชีวิต

การปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดของพระราชพิธีนี้อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ซึ่งได้มีการนำแบบแผนแบบพราหมณ์ฮินดูกับพุทธเข้ามาผสมรวมไว้ด้วยกัน รวมไปถึงการนำองค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนการทำเกษตรกรรมทำให้พระราชพิธีนี้ยังคงดำรงอยู่ได้

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงเพิ่มพระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์เพิ่มเข้ามาซึ่งเป็นการทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น ข้าวฟ่าง งา เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนพระราชพิธีทางพราหมณ์ฮินดูนั้น เป็นพระราชพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเล็ดข้าวเพื่อเป็นสัญญาณว่าฤดูในการทำนาเริ่มขึ้นแล้ว ดังคำว่า “จรดพระนังคัล” ซึ่งแปลว่าไถนาครั้งแรก ซึ่งเป็นไปดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า ถ้าเป็นพิธีในทางธรรมปฏิบัติ ทำตามคติพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพิธีทางโลกทำคติไสยศาสตร์ของพราหมณ์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกเหนือจากการมีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว ในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์วัตถุ หรือที่เรียกว่า “แนชันนาลเอกษฮีบิชัน” (National Exhibition) เป็นเวลาถึง 52 วัน โดยเป็นการจัดแสดงสินค้าพื้นเมืองไทยและการจัดประกวดการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวด้วย ทำให้ในเวลาต่อมากิจกรรมสืบเนื่องของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นอกจากการพระราชพิธีตามประเพณีแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมสมัยใหม่อันส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้วยกสิกรรมเข้ามาด้วย

ทว่าในเวลาต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา บทบาทของพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนลง ทำให้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญลดความสำคัญลง เหลือแต่เพียงการจัดกิจกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับการเกษตรต่อไป

การปรับเปลี่ยนในพระราชพิธีที่มีความสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งน่าจะเป็นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 กล่าวคือก่อนหน้าในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะได้มีให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลขึ้นจากเดิมที่จัด 2 วันได้ลดเหลือให้จัด 1 วัน จนกระทั่งภายหลังในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เห็นสมควรที่จะจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นดังเดิมโดยให้จัดเป็น 2 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ซึ่งการจัดพระราชพิธีนั้นยังเป็นของเดิมที่เคยมีมา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2508 รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้เกิดการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีนี้บางประการ โดยทรงให้พิจารณาดังนี้

  1. งานพระราชพิธีต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่ามีคุณค่า และชาวต่างประเทศยังอยากชมอีกด้วย ดังนั้นควรจัดอวดชาวต่างประเทศได้ โดยทรงพระราชทานข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า…

    คนไทยบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับวิทยาการบางอย่าง เพราะการทำนายเกี่ยวกับเรื่องพระยาแรกนาหยิบผ้านุ่งก็ดี หรือเกี่ยวกับพระโคกินของอย่างนั้นอย่างนี้ ดูจะไม่มีหลักวิชาการแต่อย่างใด แต่อย่าลืมว่าเป็นประเพณีที่ทำมาในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นสมัยที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ ย่อมได้ผลทางจิตใจและบำรุงขวัญของประชาชนโดยเฉพาะแก่ชาวนาซึ่งเป็นคนหมู่มาก ที่เราจัดทำในสมัยนี้เพราะเป็นประเพณีที่ได้ผลดีในอดีตมาแล้ว เราจึงรักษาไว้จึงควรจะได้พิจารณาทำความเข้าใจแก่คนไทยและชาวต่างประเทศในข้อนี้ด้วย

  1. ให้ปรับรอบการไถและหว่านลงเพื่อให้มีความรวดเร็วและไม่ให้ผู้ทำพิธีต้องร้อน
  2. ปรับเสียงฆ้องที่ตีให้ดังขึ้น สมัยก่อนเสียงนี้จะกังวานเหมาะกับสมัย แต่ในปัจจุบันมีเสียงเครื่องยนต์เสียงผู้คนต่างๆ มาก จึงควรมีเครื่องดุริยางค์อย่างอื่นหรือเครื่องขยายเสียงด้วย
  3. ส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดพิธีทำขวัญข้าวและชักชวนประชาชนให้ทำด้วยเพื่อรักษาประเพณีเอาไว้

จากนั้นกระทรวงเกษตรได้จัดการปรับให้สอดคล้องกับพระราชกระแสและพิธีจึงได้ฟื้นฟูตามลำดับ โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา รัชกาลที่ 9 ทรงมาเป็นประธานในพระราชพิธีไม่เคยขาด แม้พระองค์มิอาจเสด็จได้ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและสิริมงคลแก่เกษตรกร เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการแจกจ่ายพันธุ์ข้าวพระราชทานแต่พระราชพิธีก็ยังมีคงเดิมนั่นเอง

การมีส่วนร่วมของประชาชนในพระราชพิธีนี้ หลังจากพระราชพิธีสิ้นสุดแล้วประชาชนจะนำเมล็ดข้าวในพิธีไปเจือพันธุ์ข้าวปลูกของตนเพื่อเป็นสิริมงคล ทำให้พระราชพิธีนี้เป็นประเพณีที่สำคัญที่เชื่อมร้อยพระมหากษัตริย์และประชาชนเข้าไว้ด้วยกัน บางครั้งยังมีการจัดประกวดพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีต่างๆ อีกด้วย ในแง่ของการปกครองแล้ว เมื่อประเทศไทยในสมัยก่อนเป็นประเทศเกษตรกรรม พระมหากษัตริย์จึงเป็นผู้พระราชทานกำลังใจและเผยแพร่ความรู้เข้ามาด้วยดังเช่นในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ฝนหลวงขึ้นหลังการเสด็จพื้นที่ที่แห้งแล้งทุรกันดาร พิธีที่ดูโบราณๆ นี้จึงกลับก่อให้เกิดประกายแห่งความหวังและวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นอย่างที่ผู้มองพิธีแบบตื้นเขินไม่อาจนึกถึง

อ้างอิง :

[1] สรุปจาก กรมศิลปากร, พระราชฺพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ : การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรม 2562).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า