‘หัวคะแนนออนไลน์’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชนะเลือกตั้งเพราะการปั่น IO ของสายลับรัสเซีย

โดย : พ.ต.ท. หลวงอนุมานขจัดเภทภัย

เมื่อมีการกล่าวถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (2566) ในประเทศไทย โดยการใช้ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงและสร้างอิทธิพลแบบใหม่ หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ และเชื่ออย่างสนิทใจว่าการได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นของบางพรรคเป็นผลมาจากการหาเสียงที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจาก ‘กลโกง’ หรือการแทรกแซงที่ผิดศีลธรรมใด ๆ

ทั้งนี้ คนในเขตเมืองจำนวนมากก็กลับไปสู่วาทกรรมเดิม ๆ ว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นเป็นกลโกงสำคัญที่ทำให้พื้นที่ชนบทห่างไกลไม่เจริญ เพราะ ‘คนจน/ชาวบ้านสามารถใช้เงินซื้อได้’ มีแต่คนเมืองเท่านั้นที่ฉลาด รู้ทัน และไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของกลโกงทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง

กระนั้น การให้ความสนใจเพียงแต่เรื่องการซื้อเสียงอาจจะเป็นเรื่องเก่าไปเสียแล้ว ปัจจุบันชาวบ้านชนบทห่างไกลแม้จะมีการรับเงินมาบ้างจากบางพรรค แต่งานวิจัยที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านไม่จำเป็นจะต้องลงคะแนนเสียงให้กับพรรคที่ซื้อเสียงแต่อย่างใด เพราะพวกเขาสามารถตัดสินใจจากผลประโยชน์ระยะยาวจากนโยบายได้ ดังนั้น แม้อาจจะรับเงิน แต่ชาวบ้านอาจไปเลือกพรรคที่ให้ประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า [1] [2]

อย่างไรก็ดี การจ่อมจมอยู่แต่วาทกรรมซื้อเสียงย่อมทำให้บดบังนิเวศน์ทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งบางประการ เพราะนอกจากการสนใจแต่การซื้อเสียงจะเป็นการหา ‘เหยื่อ’ ที่จะรับเอาไว้เป็น ‘สนามอารมณ์’ สำหรับคนเมืองบางกลุ่มที่มักกล่าวโทษคนชนบทว่าโง่และซื้อได้ด้วยเงินจำนวนน้อยแล้ว กลับกัน คนเมืองเหล่านี้กลับหารู้ไม่ว่าตนเองก็ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของกลแห่งการเลือกตั้งโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างฉ้อฉลด้วยเช่นกัน

ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหม่ในประเทศไทย และเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะส่ายหน้าและเปรยว่า ‘จะเป็นไปได้อย่างไรกันที่เทคโนโลยีจะทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม’ (corrupt)แต่ที่ผ่านมา ‘การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม’ โดยการใช้เทคโนโลยีได้ปรากฏขึ้นเป็นกระแสสำคัญเกี่ยวเนื่องกับประเด็นความมั่นคงและความปลอดภัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยฝ่ายข่าวกรองของรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเทศรัสเซียในความพยายามที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในยุคก่อนโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016

รัสเซียมาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาได้อย่างไร ?

มีงานวิชาการจำนวนหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยถึงกลยุทธ์และวิธีในการแทรกแซงการเลือกตั้งของอเมริกาโดยรัสเซีย หนึ่งในนั้นคือ Rigged : America, Russia, and one hundred years of covert electional interfere โดย David Shimer (2020) ซึ่งได้กล่าวถึงการพยายามแทรกแซงทางการเมืองของสายลับรัสเซียในอเมริกาผ่านการเลือกตั้งแต่อดีตจนถึงสมัยนี้

Shimer ได้อาศัยหลักฐานมากมายจากทั้งการสัมภาษณ์ เอกสารที่เปิดเผยแล้ว เอกสารลับ รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการดังกล่าว เขาชี้ว่ารัสเซียเริ่มแทรกซึมแพลตฟอร์มออนไลน์ในอเมริกามาตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้งในปี 2016 ถึง 2 ปี นั่นก็คือในปี 2014 โดยรัสเซียได้ส่งสายลับ 2 คนได้แก่ Aleksandra Krylova และ Anna Bogacheva เข้ามาในสหรัฐในฐานะนักท่องเที่ยว พวกเขาได้เดินทางอย่างน้อย  9 รัฐ ตั้งแต่รัฐเท็กซัส แคลิฟอเนียร์ จนถึงนิวยอร์ก โดยภารกิจที่แท้จริงของพวกเขานั่นก็คือ ‘การวางรากฐานปฏิบัติการลับใต้ดินเพื่อโจมตีอเมริกาในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง’ [3]

ในความจริงแล้วสายลับทั้ง 2 ทำงานในหน่วยงานลับของรัสเซียที่เรียกว่า ‘Internet Research Agency’ หรือ IRA ซึ่งมีฐานบัญชาการในการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร (IO) อยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ค ประเทศรัสเซีย และเป็นหน่วนงานที่มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูตินมาก จุดประสงค์ของหน่วยงานนี้ก็คือการ ‘แพร่กระจายสิ่งชวนเชื่อในโซเชียลมีเดีย’ (to spread propaganda on social media) ปฏิบัติการของ IRA ประกอบไปด้วยการให้ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ สร้าง Fanpage ใน Facebook สร้างแอคเคาท์ใน Twitter รวมถึง Instragram ประหนึ่งว่าแอคเคาท์เหล่านั้นเป็นคนอเมริกาที่มีตัวตนจริง (ปัจจุบันภาษาไทยเรียกว่า ‘แอคเคาท์เถื่อน’) แม้หน่วยข่าวกรองสหรัฐจะพอรับทราบปฏิบัติการเหล่านี้ แต่พวกเขากลับทำอะไรได้ไม่มากนัก [4]

คาดการณ์กันว่าปฏิบัติการ IO ของรัสเซีย เฉพาะ Facebook อย่างเดียว สิ่งชวนเชื่อรวมถึงข้อมูลปั่นต่าง ๆ ของรัสเซียสามารถเข้าถึงแอคเคาท์ของอเมริกันชนได้ถึง 126 ล้านคน และในจำนวนนี้มีคนอเมริกัน 76.5 ล้านคนมีปฏิกิริยาร่วมต่อปฏิบัติการ IO ดังกล่าว สำหรับ Twitterมีชาวอเมริกัน 72 ล้านคนได้รับสารจากสื่อชวนเชื่อดังกล่าว นอกจากนั้นยังพบว่า IO ของรัสเซียได้เผยแพร่คลิปวิดีโอกว่า 100 คลิปผ่าน 17 ช่องใน YouTube [5]

กล่าวได้ว่าปฏิบัติการ IO ของรัสเซีย ได้พยายามสร้างอิทธิพล (influence) ต่อชาวอเมริกันก่อนการเลือกตั้งในปี 2016 เต็มที่ ปฏิบัติการ IO ของรัสเซียผ่าน IRA จบลงเมื่อทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี  ทั้งนี้ ทรัมป์คือผู้ที่ปูตินมองว่าเป็นศัตรูที่น่ากลัวน้อยกว่านางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต การได้ศัตรูที่น่ากลัวน้อยกว่าเป็นผู้นำประเทศศัตรูจึงเป็นสิ่งที่ปูตินพึงประสงค์ และการปั่นหัวประชาชนอเมริกันผ่าน IO ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงนับว่าประสบผลสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ Shimer จึงเห็นว่า ประการที่ 1. รัสเซียได้เปลี่ยนให้โซเชียลมีเดียเป็น ‘อาวุธ’ ในปฏิบัติการลับแทรกแซงการเลือกตั้งของอเมริกา หน่วยงาน IRA ได้บงการและสร้างอิทธิพลเหนือเมริกันชนทั่วไปที่เป็นผู้เลือกตั้งได้อย่าง ‘มีประสิทธิภาพและกว้างไกล’ กว่าที่ KGB (หน่วยข่าวกรองกลางของสหภาพโซเวียต) เคยกระทำในยุคสงครามเย็นเมื่อกว่าหลายสิบปีก่อนเสียอีก

ประการที่ 2. สิ่งที่รัสเซียกระทำนี้ เนื้อแท้แล้วไม่มีอะไรใหม่ เพราะยุทธวิธีในการดำเนินการยังเป็นแบบเดิมที่เคยใช้ในช่วงสงครามเย็น (หมายถึงปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อต่อพลเรือนฝ่ายตรงข้าม) หากแต่มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นมาผนวกกับ ‘เทคโนโลยีใหม่ ๆ ’ เท่านั้น ในประเด็นนี้ Porter Gross อดีตผู้อำนวยการ CIA (หน่วยข่าวกรองกลางอเมริกา) ได้กล่าวสั้น ๆ ว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปนั่นก็คือ แพลตฟอร์ม อุปกรณ์ วิธีการ และโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศ[6]

ฤาจะมาถึงยุคใหม่ : ใครมีอิทธิพลเหนือแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ผู้นั้นก็ย่อมชนะ (การเลือกตั้ง)

Shimer ได้ประเมินส่งท้ายไว้อีกด้วยว่าการที่ IO ของรัสเซียประสบผลสำเร็จนั้น ก็เนื่องด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ [7]

  1. เป็นปฏิบัติการลับไม่โจ่งแจ้งที่มีเป้าหมายในการแทรกแซงการเลือกตั้งโดยตรง
  2. กำหนดและใช้แพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลเป็นอาวุธในการแพร่กระจายข้อมูล
  3. การทำให้เกิดความบาดหมางและทำให้ผู้สมัครอีกพรรคมีความได้เปรียบเหนือผู้อื่น
  1. มีการใช้ ความกลัว’ (promote fear) เป็นเครื่องมือโดยทำให้คนอเมริกันที่ไม่ได้ฉลาด เกิดความรู้สึกต้องการความมั่นคงในตนเอง อีกทั้งยังบงการปฏิบัติการ IO ผ่านการเจาะจงสถานที่ เชื้อชาติ และความสนใจเฉพาะของบุคคลเหล่านั้น

จากทุกข้อ โดยเฉพาะจากข้อ 2 และ 3 จะเห็นได้ว่าหากผู้ใด (หรือพรรคใด) สามารถมีอิทธิพลเหนือแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโซเซียลมีเดียได้ ผู้นั้นก็ย่อมควบคุมและชี้ทิศทางความคิดของประชาชนจำนวนมากจนเกิดเป็นมติมหาชนที่ส่งผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกาต่อการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซีย ไม่แน่ว่าอาจเกี่ยวข้องอย่างไรต่อการเลือกตั้งหรือการเมืองไทยในปัจจุบันที่เข้มข้นพร้อม ๆ กันตั้งแต่ช่วงหลัง 2562 เป็นต้นมา ซึ่งก็ตรงกับช่วงที่สังคมอเมริกาตระหนักในเรื่องปฏิบัติการข่าวสารเหล่านี้

สำหรับสังคมไทยเราอาจยังไม่มีหลักฐานการแทรกแซงจากต่างชาติโดยตรง แต่เชื่อแน่ว่าการทำ ‘การตลาดการเมือง’ (political marketing) ในปัจจุบันย่อมหนีไม่พ้นปฏิบัติการ IO ที่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับการสร้างแอคเคาท์เถื่อน/หลุมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเผยแพร่สิ่งชวนเชื่อ ไม่ว่าจะทั้งข้อมูล ข่าวสาร วิดีโอ บทความ โพสต์ รวมถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์บางคนในการกล่อมเกลาและผลิตซ้ำวาทกรรมทางการเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการของพรรคการเมืองบางพรรค และเมื่อดอกผลของวามกรรมเหล่านี้สุกงอมเต็มที่ พรรคการเมืองเหล่านี้แทบจะไม่ต้องอาศัยเงินในการหาเสียงมากมายเลย เพราะพวกเขาได้ทุ่มเงินจำนวนมากในการสร้างกระแส คอนเทนต์ สร้างอินฟลูเอนซ์ต่อสังคมออนไลน์ (หรือโซเชียลมีเดีย) และเมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งได้ซึมซับเอาชุดข้อมูลวาทกรรมเหล่านั้นไป กระบวนการเผยแพร่ต่อไปยังสังคมชนิดปากต่อปากหรือในสังคมจริง กระแสเหล่านี้ถูกหล่อเลี้ยงด้วยสื่อและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ล้วนผลิตมาจากโลกออนไลน์มากกว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจนเกิดเป็น ‘กระแสทางการเมือง’ ขึ้นมา บรรดาหัวคะแนนธรรมชาติเหล่านี้แหละ คือกลไกสำคัญที่ต่อยอดมาจาก IO จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่บงการโดยพรรคการเมืองที่ฉลาดพอที่จะเรียนรู้ยุทธวิธีการใช้อาวุธชนิดใหม่ – ซึ่งก็คือ ‘การเปลี่ยนข้อมูลเป็นอาวุธ’ โดยเฉพาะการใช้ความจริงครึ่งเดียวและความกลัวในการขับเคลื่อนอุปทาน-อุปสงค์ของตลาดการเมืองที่พวกตนได้วางรากฐานและคาดการณ์ไว้

ในอนาคต หากพรรคใดต้องการชนะการเลือกตั้ง สมรภูมิแพลตฟอร์มออนไลน์ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่สำคัญในการช่วงชิงประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงกัน ผู้เขียนขอทำนายว่าในอนาคตอันใกล้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยย่อมจะเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่จะถูกช่วงชิงความหมายและประชันขันแข่งกันด้วย ‘ชุดวาทกรรม’ ที่เอามาหักล้างกัน ตัวชี้ขาดว่าใครจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดไป ก็คือ คนที่มีอินฟลูเอนซ์ที่สุดย่อมคือผู้ชนะ ไม่ว่าชุดข้อมูลเหล่านั้นจะถูกต้อง เป็นจริง หรือเป็นไปได้/ไม่ได้ก็ตามที เพราะทุกอย่างถูกให้ความหมายบน โลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจเสียก่อน แล้วคนทั่วไปจึงค่อยเอามาตัดสิน โลกจริงแทบทั้งสิ้น (ย้อนแย้งดีไหมล่ะ ? ตัดสินโลกที่เป็นจริงจากข้อมูลในโลกออนไลน์)

อ้างอิง :

[1] เบื้องหลังวาทกรรมซื้อเสียง…ทำไมคนชนบทถึงเป็นผู้ร้าย?, ศุภเดช ศักดิ์ดวง, 21 ธันวาคม 2556.
[2] ปิดฉากวาทกรรมซื้อเสียง ผลวิจัยฟันธง ซื้อเสียงจูงใจคนได้เพียง 4.5%
[3] David Shimer (2020). Rigged : America, Russia, and one hundred years of covert electional interfere. David Shimer (2020) pp. 209. และโปรดดูเพิ่มเติมใน James R. Clapper. (2019). Facts and fears : Hard truths from a life in Intelligence.
[4] David Shimer (2020). Rigged : America, Russia, and one hundred years of covert electional interfere. David Shimer (2020) pp. 209 – 210.
[5] David Shimer (2020). Rigged : America, Russia, and one hundred years of covert electional interfere. David Shimer (2020) pp. 211.
[6] David Shimer (2020). Rigged : America, Russia, and one hundred years of covert electional interfere. David Shimer (2020) pp. 212.
[7] David Shimer (2020). Rigged : America, Russia, and one hundred years of covert electional interfere. David Shimer (2020) pp. 223-224.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่