‘อำเภอสะเดา’ ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี (ปตานี) เปิดข้อมูลสำคัญที่ย้ำชัดถึงการปรุงแต่งประวัติศาสตร์ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

เขียนโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
อดีตข้าราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ทราบมาว่ามีความพยายามในการสร้าง “ความเป็นปาตานี” (Patanisation) ผ่านการควบรวมหรือ “เคลม” (claim) พื้นที่อื่นๆ ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่เคยปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาณาจักรปัตตานี (ปตานี) เลย

พื้นที่ที่อยู่ดีๆ ก็ถูกพวกกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน “เคลม” ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี อันเป็นพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา อีกทั้งยังมีความพยายามควบรวมจังหวัดสตูลทั้งจังหวัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “อาณาจักรปัตตานี” ด้วย

โดยรูปแบบการ “เคลม” นั้น ฝ่ายวิชาการของขบวนการฯ (กลุ่ม BRN) มักจะกระทำอย่างมักง่าย ผ่านการแสดงออกทางแผนที่อาณาจักรปัตตานีที่ทำขึ้นอย่างลวกๆ โดยใช้การระบายสีพื้นที่ดังกล่าวให้เห็นว่ามีภูมิกายา (geo-body) ร่วมกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรปัตตานีจริงๆ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)

ทั้งที่จริงๆ แล้วพื้นที่ข้างต้น เช่น จังหวัดสตูล กลับมีความเชื่อมโยงกับไทรบุรีมากกว่า (รัฐเคดาห์ – Kedah ในมาเลเซียปัจจุบัน) ส่วน 4 อำเภอของสงขลา เป็นที่ประจักษ์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีความสัมพันธ์กับเมืองซิงกอรา (Singora – เมืองสงขลาโบราณ) และพัทลุง หาใช่เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี (ปตานี) ตามที่นักชาตินิยมนายู (ชาวมลายู 3 จังหวัด) กล่าวลอยๆ โดยไร้การอ้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุนแต่อย่างใด

และสำหรับกรณี 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (ยกเว้นอำเภอสะเดา) ที่ผู้เขียนได้อภิปรายข้างต้นแล้วว่า “ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี” ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน บทความ “ปา-ตา-นี : ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง” ซึ่งได้เผยแพร่ตีพิมพ์ใน “ฟ้าเดียวกัน” ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2563

แต่สำหรับประเด็นสดๆ ร้อนๆ เรื่องการผนวกหรือ “เคลม” อำเภอสะเดาของจังหวัดสงขลาให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ต้องการปลดปล่อยให้ได้รับ “เอกราช” โดยถูกหมายรวมจากนักวิชาการของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีนั้น

การสมอ้างเช่นนี้ย่อมเป็น “ความเท็จ” ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “ปรุงแต่งประวัติศาสตร์” (fabrication) ก็ว่าได้

เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ผู้เขียนได้ใช้ทั้งเอกสารฝั่งไทยและมลายู (ทั้งจากฝั่งไทรบุรีและปัตตานี) ในการสืบค้นทางประวัติศาสตร์เพื่อล้มล้างการ “แอบอ้าง” ประวัติศาสตร์เท็จดังกล่าวของพวกชาตินิยมนายูบางคน

โดยเริ่มต้นจากเอกสารที่จัดว่าเขียนขึ้นจากราชสำนักปัตตานีเอง ก็คือ ฮิกายัตปัตตานี (Hikayat Patani) หรือ “พงศาวดารเมืองปัตตานี” ซึ่งจัดเป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเก่าแก่จริง เอกสารดังกล่าวในทุกๆ หน้า ไม่มีข้อความใดตลอดทั้งฉบับกล่าวถึงพื้นที่ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาเลยว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีโบราณ

อีกทั้งเมื่อผู้เขียนค้นไปยัง เซอญาระห์ เกอราจาอาน มลายู ปตานี (Sejarah Kerajaan Melayu Patani) ที่เขียนขึ้นโดยอับราฮิม ชุกรี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุกรีเองในฐานะนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมนายู ก็มิได้กล่าวถึงพื้นที่อำเภอสะเดาว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีแต่อย่างใดด้วย ทั้งๆ ที่ตำราเล่มดังกล่าวถือว่าเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่มีการเขียนประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดขึ้นมาเพื่อปลุกความเป็นชาตินิยมนายู (มลายู 3 จังหวัด) ในการต่อต้านรัฐไทย

นี่ย่อมแสดงว่า จิตสำนักของราชสำนักปัตตานีโบราณ จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมนายูหลังสงครามโลกต่างก็มิได้ตระหนักถึงพื้นที่อื่นๆ เลย ว่าเป็น “อาณาจักรปัตตานี” อันจริงแท้ นอกจากพื้นที่ใน 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ผู้เขียนได้ใช้เอกสารจากฝั่งมลายูไทรบุรี (รัฐเคดาห์) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องข้างต้น พบว่า ในเอกสาร Sejarah Kedah (1980) เขียนโดย Haji Buyong Adil ระบุว่า

ในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น เมืองอาเจะห์ (เมืองหนึ่งทางตอนเหนือของสุมาตรา ในอินโดนีเซียปัจจุบัน) ได้ทำการแผ่อิทธิพลมาถึงคาบสมุทรมลายู โดยเมื่อมาถึงเมืองไทรบุรี (เคดาห์) นั้น …

“เจ้าเมืองอาเจะห์รู้สึกประทับใจในการต้อนรับที่อบอุ่นจากสุลต่านเคดาห์ ขณะที่ประทับที่เคดาห์ พระองค์มักจะหาความสำราญที่ Padang Jangam ทางตอนเหนือของเคดาห์”

ซึ่งพื้นที่ที่เอกสารเรียกว่า Padang Jangam หรือ ปาดังยางงาม แปลเป็นไทยได้ว่า “ทุ่งยางงาม” ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว คือ ปาดังเบซาห์ อำเภอสะเดา อันเป็นชายแดนจังหวัดสงขลากับรัฐปะลิส (Perlis) ของมาเลเซียในปัจจุบัน

จากข้อความข้างต้นจึงมิพักต้องสงสัยว่า พื้นที่ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ย่อมเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี (เคดาห์) อย่างแน่แท้ (รัฐปะลิสแยกตัวจากไทรบุรีในช่วงรัชกาลที่ 3) หาใช่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีแต่อย่างใด และถึงแม้ว่าทั้งไทรบุรีและปัตตานี ต่างก็เป็นเมืองมลายูเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลายๆ เรื่อง เช่น คติความเชื่อ เสื้อผ้า ประเพณี ประวัติศาสตร์

และที่สำคัญที่สุดก็คือ สำเนียงอย่างมลายูไทรบุรี ซึ่งมีความคล้ายถึงกับภาษามลายูมาตรฐานที่ใช้กันในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มากกว่า ซึ่งปัจจุบันชาวไทยมุสลิมในพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาจำนวนมาก ยังพูดและใช้ภาษามลายูแบบไทรบุรี หาใช่สำเนียงแบบปัตตานี-กลันตัน ที่ใช้กันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และรัฐกลันตัน (Kelantan) ในมาเลเซียแต่อย่างใด ซึ่งนี่ทำให้จิตสำนึกของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่สะเดาไม่มีความผูกพันกับพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนเลย อันมีประจักษ์หลักฐานสำคัญคือ การก่อเหตุในพื้นที่สะเดามีน้อยมาก และภายหลังมีการสืบทราบประวัติของผู้ก่อเหตุ พบว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนในพื้นที่สะเดา หากแต่เป็น “ญูแว” หรือ “กองกำลังติดอาวุธ” ที่ถูก “นำเข้า” มาจาก 3 จังหวัด เพื่อจุดประสงค์ในการก่อเหตุนอกพื้นที่โดยตรง

จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การ “เคลม” อำเภอสะเดาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “อาณาจักรปัตตานี” ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน (นำโดยกลุ่ม BRN) ทั้งที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน พยายาม “กุและโกหก” ประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจับอาวุธเพื่อก่อเหตุฆ่าคนบริสุทธิ์

การรู้เท่าทันประวัติศาสตร์จะเป็นทางออกทางหนึ่งในการเอาชนะกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่สังหารชีวิตผู้คนบริสุทธิ์อย่างไร้ค่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการชำระประวัติศาสตร์เท็จของพวกขบวนการฯ และต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการ “ปรุงแต่งประวัติศาสตร์” ของกลุ่มขบวนการฯ ด้วย

อ้างอิง :

[1] ฮิกายัตปัตตานี (Hikayat Patani).
[2] Haji Buyong Adil. Sejarah Kedah (1980).
[3] จีรวุฒิ บุญรัศมี. “ปา-ตา-นี : ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง” ใน “ฟ้าเดียวกัน” ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2563.
[4] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีสมัยกรุงธนบุรีและราชาธิปไตยรัตนโกสินทร์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า