ย้อนรอยการชิงอำนาจในยุคประชาธิปไตยคณะราษฎร
“รัฐประหาร เป็นการขัดขวางเส้นทางแห่งประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ให้กับประเทศชาติ”
นี่คือคำกล่าวอ้างของกลุ่มม็อบปลดแอก ในการชุมนุมประท้วงหลายครั้งหลายครา พ่วงด้วยการเชิดชูว่า คณะราษฎรนี่แหละคือผู้มีบุญคุณต่อประเทศ เป็นผู้อภิวัฒน์สยาม และเป็นผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ
แต่รู้ไหมว่า นับตั้งแต่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นยุคสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร ในช่วงเวลา 25 ปีนี้ มีเหตุการณ์ “รัฐประหาร” และ “กบฏ” เกิดขึ้นรวมกันถึง 14 ครั้ง ดูไปแล้วก็ช่างย้อนแย้งเหลือเกินกับคำว่า “บุญคุณคณะราษฎร” ที่กลุ่มม็อบปลดแอกพยายามยกมากล่าวอ้างในหลาย ๆ ครั้ง
เรามาดูไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ “รัฐประหาร” และ “กบฏ” ในช่วงนี้กัน เพื่อให้รู้ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้าง ในห้วงวันคืนแห่งอำนาจของคณะราษฎร ผู้แผ้วถางเส้นทางประชาธิปไตย
1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปฐมบทแห่งรัฐประหาร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้บทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ สาเหตุจากความขัดแย้งของกลุ่มขุนนาง และคณะราษฎร
20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 รัฐประหารครั้งที่สอง นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร ได้ยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยให้เหตุผลว่าคณะรัฐมนตรีบริหารราชการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง ถือเป็นรัฐประหารที่คณะราษฎรสายทหารแย่งอำนาจสายพลเรือน
11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังการปฏิวัติสยาม โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เกิดสงครามกลางเมือง ทหารและพลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก่อการไม่สำเร็จ จนพระองค์เจ้าบวรเดชต้องลี้ภัยไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส
3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เกิดเหตุการณ์ “กบฏนายสิบ” จากกลุ่มนายทหารชั้นประทวน ที่พยายามยึดอำนาจจากคณะราษฎร โดยหมายจับตายบุคคลสำคัญต่าง ๆ ของรัฐบาลและกองทัพบก สุดท้ายรัฐบาลไหวตัวทัน หลวงพิบูลสงครามมีคำสั่งให้จับตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมด ก่อนหน้าที่กลุ่มนายสิบจะลงมือยึดอำนาจ
29 มกราคม พ.ศ. 2482 เกิดเหตุการณ์ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” สาเหตุจากความขัดแย้งกันภายในกลุ่มคณะราษฎร คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพระยาทรงสุรเดช โดยมีการกล่าวหาว่าฝ่ายหลังได้ซ่องสุมกำลังเพื่อเตรียมการยึดอำนาจ จนกระทั่งพระยาทรงสุรเดชถูกบีบให้หนีไปอยู่ในต่างแดน และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏในที่สุด เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่มาของการตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง 18 คน จนมีชื่อเรียกกันว่า “กบฏ 18 ศพ” ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ความขัดแย้งกันเองของคณะราษฎร
8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดรัฐประหาร นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ คนสนิทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยใช้การสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินเป็นเกมการเมือง ซึ่งภายหลังยึดอำนาจ ได้มีการแต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ปรีดี พนมยงค์ จำต้องลี้ภัยทางการเมือง
6 เมษายน พ.ศ. 2491 เกิดรัฐประหาร นำโดยคณะนายทหารกลุ่มเดียวกันกับที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังก่อการสำเร็จ คณะรัฐประหารได้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นับเป็นการขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งของจอมพล ป.
1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 เกิดเหตุการณ์ “กบฏเสนาธิการ” มีหัวหน้าคือ พลตรีหลวงศรานุชิต และ พลตรีเนตร เขมะโยธิน ซึ่งเป็นนายทหารในเครือคณะราษฎรเช่นกัน โดยวางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้เสียก่อน
8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 เกิดเหตุการณ์ “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ได้มีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน ในข้อหาร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่การจับกุมและสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน ประกอบด้วย จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งทั้งหมดเป็นนักการเมืองในสังกัดของปรีดี พนมยงค์
26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เกิดเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” โดย “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ซึ่งเป็นกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ โดยผู้ก่อการสามารถยึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ได้หลายแห่ง ทว่าสุดท้ายกลับเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ เป็นเหตุให้ปรีดี พนมยงค์ หมดอำนาจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง และต้องลี้ภัยโดยไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้อีก
29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เกิดเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” โดยกลุ่มทหารเรือที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้ชาติ” ทำการจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิฐ โดยนำไปกักขังไว้ในเรือรบหลวงชื่อ “ศรีอยุธยา” ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา สุดท้ายฝ่ายผู้ก่อการและรัฐบาลเปิดการเจรจากัน โดยฝ่ายกบฏยอมปล่อยตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอันยุติเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เกิดเหตุการณ์ “กบฏสันติภาพ” โดยขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชนที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนการสันติภาพ” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ศรีบูรพา นักเขียนผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อนายปรีดีค่อนข้างมาก “ขบวนการสันติภาพ” ได้ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ มีผู้ถูกจับกุมนับร้อยคน ทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา และประชาชน
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เกิดรัฐประหาร โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนับเป็นการกระทำที่พิลึกพิลั่นที่สุดในโลก เพราะเป็นการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง โดยจอมพล ป. อ้างว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง ดังนั้นคณะรัฐประหารนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ทำการยึดอำนาจตัวเองและฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ทิ้ง พร้อมทั้งประกาศนำ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกกลับมาใช้
ในครั้งนี้ จอมพล ป. ได้แต่งตั้งตัวเองและคณะปฏิวัติ ขึ้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ โดย “ปราศจาก” พระปรมาภิไธยของในหลวง
16 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดรัฐประหาร โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าเพื่อโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สาเหตุเพราะความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจอมพล ป. เกิดการลุกฮือเดินขบวนต่อต้านของนักศึกษาและประชาชน กระทั่งสถานการณ์เริ่มบานปลาย ในที่สุดจอมพล สฤษดิ์ จึงได้นำกำลังเข้าทำการรัฐประหาร และยึดอำนาจการปกครองอย่างเด็ดขาด โดยได้รับฉันทามติจากมหาชน
เป็นการปิดฉากอำนาจของคณะราษฎรสายตรงคนสุดท้ายคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้หลบหนีไปทางกัมพูชาและขอลี้ภัยการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
25 ปี นับตั้งแต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจลง ประเทศไทยหยุดชะงักและหมุนอยู่ในวังวนของ “รัฐประหาร” กับ “เหตุการณ์กบฏ” มากมายหลายครั้ง ซึ่งฟังดูแล้วช่างย้อนแย้งเหลือเกิน ถ้าจะบอกว่านี่คือการแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า เป็นผู้ก่อร่างประชาธิปไตยให้แก่ประเทศ
ทั้งที่ความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474
ทำให้เกิดคำถามในใจต่อไปอีกว่า หากประวัติศาสตร์ทั้งหมดดำเนินไปบนอีกเส้นคู่ขนาน ที่ไม่เกิดการเปลี่ยนผ่านโดยคณะราษฎรในปี 2475 ประชาธิปไตยของประเทศไทยจะก้าวเดินไปถึงจุดไหน นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน.
ที่มา :
[1] แผ่นดินที่ ๙ The reign of King RAMA IX
[2] สถาบันพระปกเกล้า, ปกเกล้าธรรมราชา (2558 : กรุงเทพ) สำนักพิมพ์ สถาบันพระปกเกล้า