ทัศนะของปิยบุตร ต่อความรักในกฎหมาย ที่เคลือบแฝงด้วยยาพิษของ Robespierre

จากโพสต์ของ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ได้นำสุนทรพจน์ของ Robespierre นักปฏิวัติชาวฝรั่งเศส มาพูดถึงเนื่องในวันแห่งความรัก โดยอ้างอิงคำว่า “amour des lois” หรือ “ความรักในกฎหมาย” พร้อมกับยกย่องว่า Robespierre คือนักปราศรัยตัวฉกาจ และเป็นผู้ขับเคลื่อนประชาชนให้ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม

แต่ ดร.ปิยบุตร คงลืมไปแล้วกระมังว่า อีกด้านหนึ่งของ Robespierre นั้น เขาได้สร้างความน่าสะพรึงไว้ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสอย่างไร

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นที่ทราบกันดีว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 ได้นำมาซึ่งความรุนแรง ความหวาดกลัว อำนาจเถื่อน และกลิ่นคาวเลือด จนถูกเรียกขานว่า “ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว” (Reign of Terror)

และบทบาทของนักปราศรัยอย่าง Robespierre ในประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศสนั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เขาคือผู้สังหารคนที่เห็นต่างทางการเมืองไปเป็นจำนวนมาก

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตกว่า 17,000 คน หรืออาจจะมากกว่า และมีผู้ถูกจับกุมตัวกว่า 200,000 คน โดยคณะปฏิวัติได้ใช้ “กฎแห่งความหวาดกลัว” (Rule of Terror) เพื่อข่มขู่และกวาดล้างผู้ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการปฏิวัติ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มนักปฏิวัติด้วยกันเอง ที่มีแนวคิดไม่เหมือนกับกลุ่ม Montagne ก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังต่อต้านการปฏิวัติไปด้วย

มีการตั้ง “คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ” (Committee of Public Safety) เพื่อพิทักษ์รักษาเจตนารมณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส และจัดการกับกลุ่มคนที่พยายามต่อต้านและล้มล้างการปฏิวัติ รวมไปถึงการสังหารบุคคลที่คณะปฏิวัติคิดว่าพยายามต่อต้านพวกตน

อีกทั้งยังมีการตั้งข้อหาที่สุดแสนอำมหิต แก่พระนาง Marie Antoinette ว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับบุตรชายตนเอง เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการสั่งประหารชีวิตด้วยกีโยติน ซึ่งถือเป็นการพิจารณาคดีที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีแม้แต่ทนายความที่จะมาแก้ต่างคดีให้ตนเอง

ความน่าสะพรึงเหล่านี้เองที่ ดร.ปิยบุตรฯ ไม่ได้นำมาพูดถึง แต่กลับมีทัศนะและท่าทียกย่อง Robespierre ว่าเป็นผู้ที่มีความรักในกฎหมาย คุณธรรมทางการเมือง และสิทธิในการลุกขึ้นสู้

แม้ Robespierre จะมีสุนทรพจน์ที่ฟังแล้วอบอวลไปด้วยหลักการ แต่หลักการดังกล่าวกลับเคลือบแฝงไว้ด้วยยาพิษ การยุยงปลุกปั่น การสร้างวาทกรรมทางกฎหมาย การเผยแพร่ข้อเท็จจริงครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างไปจากการบิดเบือนความจริง สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงของนักกฎหมาย ที่ตั้งใจปลุกระดมมวลชนผู้โง่เขลาให้ออกมาสร้างความรุนแรง และเหยียบย่ำภราดรภาพของสังคม

“amour des lois” หรือ “ความรักในกฎหมาย” ของ Robespierre คงเป็นเรื่องดีงาม หาก Robespierre จะมอบความรักเหล่านี้แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น เพราะการเคารพสิทธิในความคิด ในร่างกาย และความมีชีวิตอยู่ของเพื่อนมนุษย์ คือคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด

แต่ “ความรักในกฎหมาย” ของ Robespierre กลับกลายเป็นอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ที่ให้ความชอบธรรมแก่ประชาชนในการลุกขึ้นสู้ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการปลุกระดมให้มวลชนคล้อยตาม และเชื่อในกฎหมายของคณะปฏิวัติที่พร้อมนำคอประชาชนที่เห็นต่างพาดลงเครื่องกีโยติน

ทีมงาน ฤา เชื่อว่า ดร.ปิยบุตรฯ ยังมีความเชื่อมั่นต่อเสรีภาพในการมีชีวิตอยู่ของเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม แต่คงเพราะด้วย “พันธกิจพิเศษ” ของ ดร.ปิยบุตร ที่ต้องการเร่งเร้าให้เกิดการปฏิวัติขึ้น เลยทำให้หลง (หรือแกล้ง) ลืมไปว่า Robespierre เคยมอบความน่าสะพรึงเอาไว้บนโลกใบนี้อย่างไร