เปิดบันทึกสุดจัดระดับตำนาน! ยกโขลงเข้าสงขลา ‘ขี่ช้างตะลุยป่า’ เฟ้นหาทหารเกณฑ์

เราทุกคนคงคุ้นชินกับสุภาษิตสำนวนไทยที่ว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ซึ่งหมายถึง การกระทำใดๆ ที่ลงมือลงแรงเสียใหญ่โตแต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่า (ลงทุนมากแต่ได้กำไรเพียงน้อยนิด) อันจัดเป็นสุภาษิตสำนวนในเชิงลบ

อย่างไรก็ดี เคยทราบไหมว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทางรัฐบาลเคยมีการยกขบวนกองทัพช้างเพื่อไปเกณฑ์ทหาร ณ สถานที่ไกลโพ้นและสุดแสนจะกันดาร โดยได้ทหารเกณฑ์กลับมาจากพื้นที่นี้เพียงแค่ 18 คนเท่านั้น

เหตุการณ์อันแสนพิลึกพิลั่นครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา เมื่อต้นปี พ.ศ. 2484 ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อุบัติขึ้นแล้วในทวีปยุโรป มีแนวโน้มจะลุกลามเข้ามาในดินแดนตะวันออกไกล (Far East) รวมถึงประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งตอนนั้นสถานการณ์ทางใต้นับว่าเป็นภาคที่เปราะบางที่สุด เพราะมีเขตแดนตั้งอยู่ติดกับรัฐมลายาของอังกฤษ (British Malaya) โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการทำสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ในปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) ตามสัญญาดังกล่าว ไม่อนุญาตให้ประเทศสยามในขณะนั้นมีกองกำลังทหารตั้งแต่พื้นที่คอคอดกระลงมา (ประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) และจนกว่าสยามจะได้รับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างสมบูรณ์จากชาติมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งจะทำให้สยามสามารถมีกองกำลังทหารประจำการในพื้นที่ภาคใต้ได้

กล่าวกันว่าการทำสนธิสัญญากับอังกฤษครั้งนั้น ทำให้สถานภาพของดินแดนทางใต้ของสยามล่อแหลมมาก เพราะหากมีการกบฏหรือเกิดการลุกขึ้นสู้ของดินแดนเหล่านี้ รัฐบาลสยามจะไม่สามารถใช้กองกำลังทหารเข้าระงับจัดการปัญหาได้เลย เว้นเสียแต่กองกำลังตำรวจที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในมณฑล รวมถึงกองกำลังพลเรือนพิเศษที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างชาญฉลาด นั่นก็คือ “กองกำลังเสือป่า” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือระงับเหตุการณ์ “กบฏผู้วิเศษหัวเมืองใต้” ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6

หลังจากที่สยามหรือประเทศไทยในเวลาต่อมา ได้รับการยกเลิกสิทธิภาพนอกอาณาเขตอย่างสมบูรณ์ จากการผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2482 ประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยที่ 1) ก็สามารถตั้งกองกำลังทหารในพื้นที่ภาคใต้ได้

จังหวัดสงขลาในสมัยนั้นจึงเป็นพื้นที่เร่งด่วนที่สุดที่จะต้องสถาปนากองทหารเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมได้ตั้งขึ้นแล้วในอำเภอหาดใหญ่ (ค่ายคอหงส์ในปัจจุบัน) เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าสงขลามีพื้นที่ชายแดนติดกับรัฐมลายาของอังกฤษในบริเวณกว้าง อีกทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง ทั้งตลาดยางพาราและดีบุก ซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ประเทศ

การวางกำลังเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของชาติจึงถือเป็นพันธกิจอันดับ 1 ของรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งมีลักษณะทหารนิยมมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงมีคำสั่งให้เพิ่มกองพันทหารในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นอีก 2 กองพัน ได้แก่ กองพันทหารราบที่ 42 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 ซึ่งกำหนดให้มีที่ตั้งอยู่ในตำบลสวนตูล อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ในการนี้ พันตรีเดช ตุลวรรธนะ ซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 ประจำกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 จึงได้รับคำสั่งให้ออกไปเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น จากอำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ ตลอดถึงอำเภอที่ติดกับจังหวัดที่มีชาวไทยมลายูเป็นส่วนมาก ได้แก่ อำเภอสะบ้าย้อยและเทพา ซึ่งมีชายแดนติดกับจังหวัดยะลาและปัตตานีตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สภาพหนทางในการเข้าถึงพื้นที่อำเภอทั้ง 2 นี้ นับว่าทั้งไกลและกันดารมาก เพราะไม่มีการทำถนน มีเพียงแต่ทางเกวียนและทางช้างเดินเท่านั้น โดยเฉพาะหลังจากการเกณฑ์ทหารเสร็จสิ้นจากอำเภอเทพา ทางคณะกรรมการเกณฑ์ทหารต้องเดินทางต่อไปยังอำเภอสะบ้าย้อยด้วยขบวนช้าง เพราะหากคณะตัดสินใจเดินทางไปทางน้ำจะใช้เวลาถึง 2 วัน แต่ถ้าหากใช้ช้างจะย่นระยะเวลาเหลือแค่ 1 วันเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงความตื่นเต้นแปลกใหม่ของการเดินทางด้วยช้างนี้ พลตรีเดชเล่าว่า ช้างเหล่านี้มีขนาดเล็กกว่าช้างทางเหนือ และถูกควบคุมด้วยควาญช้างแขกมลายู โชคดีที่มีคณะกรรมการสยามบางคนฟังและพูดภาษามลายูได้คล่อง จึงพอทำให้พลตรีเดชเข้าใจธรรมเนียมต่างๆ ได้บ้าง และถึงแม้ว่าช้างเหล่านี้จะมีควาญช้างเป็นชาวมลายูก็จริง แต่หลวงสุขเวช คณะกรรมการฯ ผู้พูดมลายูได้คล่องได้เตือนไว้ว่า ห้ามดุด่าหรือว่าช้างแรงๆ เพราะช้างจะน้อยใจได้ ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมช้างที่ถูกเลี้ยงด้วยควาญช้างคนแขกจึงฟังภาษาไทยออก หลวงสุขเวชได้เฉลยว่า เพราะช้างเหล่านี้ถูกเลี้ยงอยู่ในหมู่บ้านที่มีทั้งคนไทยและคนแขกอาศัยอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง ช้างเหล่านี้จึงฟังภาษาไทยรู้เรื่อง

การเดินทางครั้งนี้ยังมีเหตุการณ์ที่น่าลุ้นระทึก ซึ่งพลตรีเดชได้บันทึกต่อไปว่า เมื่อเดินทางโดยนั่งอยู่บนหลังช้างนั้น ช้างบางเชือกมีนิสัยเกเรแย่งทางเชือกอื่น แย่งกันไปแย่งกันมา ผลสุดท้ายก็แย่งทางกันทั้งขบวนจนเกิดการวิ่งแข่งกันขึ้นอย่างน่าหวาดเสียว ดังที่พลตรีเดชบรรยายไว้ว่า …

… รู้แต่กำลังถูกเหวี่ยงไปตามจังหวะช้างวิ่ง จึงต้องเอาสองมือยึดกูบไว้ตัวเกร็งจนเจ็บเส้นท้อง รู้สึกว่าช้างวิ่งเร็วพอๆ กับม้า แต่ไม่รู้สึกสนุกไปด้วย ไม่เหมือนการขี่ม้าซึ่งใช้สองขาหนีบตัวม้าและวางเท้าอยู่บนโกลนกระชับมั่นคง แต่การนั่งบนกูบช้างมันโหวงเหวง ใช้สองมือจับกูบได้อย่างเดียว พอรู้จังหวะที่ช้างวิ่งแล้วผ่อนตัวตามไป จึงจะเริ่มรู้สึกสบายขึ้น …

ต่อมาเมื่อขบวนช้างวิ่งไปจนถึงทุ่งโล่ง ควาญช้างจึงสับขอบนหัวช้างเป็นหมายว่าให้ช้างค่อยๆ ผ่อนแรงวิ่งลงจนสงบในที่สุด และเมื่อมีการสำรวจความเสียหายจากการที่ช้างวิ่งแข่งกันจนวุ่นวาย ก็ไม่พบว่ามีใครบาดเจ็บหรือมีสิ่งชำรุดแตกหักแต่อย่างใด

ท้ายที่สุด เมื่อมาถึงอำเภอสะบ้าย้อย ปรากฏว่าทางคณะกรรมการเกณฑ์ทหาร สามารถเกณฑ์ทหารได้เพียงแค่ 18 คนเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม พลตรีเดชก็มองว่านี่เป็นเพียงการทดลองเกณฑ์ทหารครั้งแรกในพื้นที่แถบนี้เท่านั้น ซึ่งต่างกับทางภาคอื่นๆ ของไทย ที่เริ่มมีการเกณฑ์ทหารขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

ทั้งหมดนี้คือการขี่ช้างไปเกณฑ์ทหารในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเรื่องราวดูจะละม้ายคล้ายสำนวนสุภาษิตที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในอดีต ที่ซุกซ่อนร่องรอยและเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ไว้อย่างน่าสนใจ

อ้างอิง :

[1] พลตรีเดช ตุลวรรธนะ. เรื่องเล่าจากมหาดเล็ก. (กรุงเทพ : 2542) สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์.
[2] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. (2552) ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีสมัยกรุงธนบุรีและราชาธิปไตยรัตนโกสินทร์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า