ตีแผ่เรื่องเท็จ รัชกาลที่ 5 ชิงหมั้นเจ้าดารารัศมี ‘แก้เกม’ ควีนวิคตอเรีย

มีบทความจากเพจศูนย์มรดกเมืองเชียงใหม่ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ พระราชินีวิคตอเรียขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม โดยอ้างอิงมาจากบทความของ โรม บุนนาค ซึ่งเขียนเรื่อง “ควีนวิกตอเรียคิดฮุบล้านนา ขอเจ้าดาราเป็นลูก! ร.5 ทรงแก้เกมหมั้นเลย!! ลงในเมเนเจอร์ออนไลน์

โดยเป็นเรื่องราว ในปี พ.ศ. 2426 ที่เกิดกระแสข่าวลือว่า พระราชินีวิคตอเรียขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม จนพระยาราชเสนา (เสือ พยัฆคนันท์) ข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ ถึงกับต้องเข้าเฝ้าถามพระเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้ครองนครเชียงใหม่ว่าความจริงเป็นเช่นไร ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังนั้นมาจากการปล่อยข่าวให้ชาวเชียงใหม่พากันกระด้างกระเดื่องกับสยาม และหวังให้สยามกระวนกระวายใจและระแวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อที่อังกฤษจะได้เตรียมเข้ายึดดินแดนเชียงใหม่ไปจากสยาม

จนกระทั่งนำไปสู่การ “แก้เกม” ของสยาม ซึ่งบทความของ โรม บุนนาค ได้อ้างว่า การที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานตุ้มหูเพชรแก่เจ้าดารารัศมีเป็นของหมั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมของพระราชินีวิคตอเรีย

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ “ไม่มีมูลความจริง”

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อันดับแรก ในปี พ.ศ. 2426 ข้าหลวงสามหัวเมือง คือ พระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันน์) ไม่ใช่พระยาราชเสนา (เสือ พยัฆคนันท์) ตามที่บทความของ โรม บุนนาค กล่าวอ้าง

และจากหลักฐานในท้องตราพระราชสีห์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5 ไปถึงพระยาราชสัมภารากร ณ ศาลต่างประเทศเมืองนครเชียงใหม่ เมื่อวันอังคาร เดือน 12 แรม 13 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 (วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426) มีความตอนหนึ่งว่า …

“… เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้านครเชียงใหม่ และเจ้าทิพเกสร (พระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์) ลงมา ณ กรุงเทพฯ ได้พาเจ้าดารารัศมีผู้บุตรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กราบถวายบังคมลาขึ้นไปถึงบ้านเมืองแล้ว จะได้ทำการมงคลตัดจุกเจ้าดารารัศมี …”

จากข้อความดังกล่าวหมายความได้ว่า เจ้าดารารัศมีได้ไว้จุกแบบเด็กตามประเพณีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นคนแรกของเชียงใหม่ มาตั้งแต่พระชันษาได้เพียงหนึ่งเดือน

ส่วนหลักฐานที่เกี่ยวกับตุ้มหูเพชร ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่เจ้าดารารัศมีนั้น ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาลงวันศุกร์ เดือน 12 แรม 9 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 (วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426) พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากร ให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร ว่า …

“… ถึงพระยาราชสัมภารากร ข้าหลวงสามหัวเมือง ด้วยมีหนังสือฉบับที่ 4 ลงวันที่ 3 เดือน 11 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก บอกด้วยการซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่คิดจะโกนจุกบุตร แลมีใบบอกทางราชการแลใบบอกไปรเวต ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเป็นหลายฉบับ ได้ทราบความตลอดแล้ว

บอกทางราชการและบอกทางไปรเวตถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอนั้น ได้ถวายความเห็นไปให้ท่านทรงตอบตลอดแล้ว แต่เรื่องโกนจุกนั้น เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอยู่กรุงเทพฯ ทิพเกสรก็ได้บอกให้รู้ เรารับไว้ว่าจะทำขวัญ จึ่งได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา ให้พระยาราชสัมภารากรนำไปทำขวัญ แต่ต้องชี้แจงให้ทราบว่าธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน ทำขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี เป็นแต่เมื่อบุตรข้าราชการที่ถวายตัวทำราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก ก็พระราชทานเงินพระคลังในที่ทำขวัญบ้าง แต่บุตรข้าราชการที่ไม่ได้ทำราชการนั้น ต่อทรงพระกรุณาบิดามาก จึงได้พระราชทานบ้างมีน้อยราย แต่ก็เป็นของพระคลังข้างที่ทั้งนั้น ไม่นับว่าเป็นราชการแผ่นดิน จึงไม่ได้มีศุภอักษรส่งของขึ้นมาตามทางราชการ

การซึ่งพระยาราชสัมภารากรได้ตริตรองโยกย้ายเหนี่ยวรั้ง เพื่อไม่ให้พระเจ้านครเชียงใหม่รีบทำการโกนจุก เพราะเกรงจะเป็นธรรมเนียมกรุงเทพฯ ก็เป็นอัธยาไศรยตริตรองรอบคอบดีอยู่ แต่การโกนจุกนี้เป็นน้ำท่วมทุ่ง บางคนก็ทำมาก บางคนก็ทำน้อยตามอัธยาไศรย ไม่สู้เป็นการสลักสำคัญอันใดนัก ถึงจะทำการก็คงไม่เหมือนกรุงเทพฯ ทีเดียว ซึ่งผ่อนผันไปไม่ให้เป็นการขัดอกขัดใจกันในการไม่พอ เรื่องดังนี้เป็นการชอบแล้ว อย่าได้มีความหวาดหวั่นอันใดเลย”

จากพระราชหัตถเลขาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ความต้องการที่จะให้เจ้าดารารัศมีไว้จุกตามประเพณีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบเดียวกับเด็กในกรุงเทพฯ จนกระทั่งมาถึงพิธีโสกันต์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานของรับขวัญนั้น มาจากความต้องการของพระเจ้าเชียงใหม่และเจ้าแม่ทิพเกสร ที่ได้เตรียมการมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว เพื่อสานสัมพันธ์กับราชสำนักสยาม

และข้าหลวงจากส่วนกลางไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับพระเจ้าเชียงใหม่ ทั้งไม่เพียงจะพยายามแสดงความขัดข้องต่างๆ เพื่อลดความปรารถนาของพระเจ้าเชียงใหม่ในการจัดพิธีโกนจุก อีกทั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนว่า การพระราชทานตุ้มหูเพชรเพื่อเป็นการทำขวัญแก่เจ้าดารารัศมีนั้น เนื่องจากเจ้าแม่ทิพเกสรเคยกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ และทรงรับปากว่าจะทำขวัญให้ แต่การพระราชทานของรับขวัญนั้น ไม่มีแบบแผนในทางราชการมาก่อน จึงถือเป็นการพระราชทานส่วนพระองค์

และด้วยเพราะเป็นการพระราชทานส่วนพระองค์ จึงไม่ได้มีหนังสือศุภอักษรแบบทางการมา ดังนั้น จึงต้องทรงชี้แจงให้พระเจ้าเชียงใหม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าเป็นการส่วนพระองค์ และรายละเอียดที่ทรงชี้แจงแก่พระเจ้าเชียงใหม่นี้เองที่ได้ตอกย้ำว่า ทรงไม่มีนัยแฝงใดๆ เลย และการที่เจ้าดารารัศมีจะตัดจุก ก็เป็นความต้องการของพระเจ้าเชียงใหม่และเจ้าแม่ทิพเกสรเพียงฝ่ายเดียว

เจ้าแม่ทิพเกสรได้มีโอกาสติดตามพระเจ้าเชียงใหม่เดินทางมาเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2426 และได้กราบทูลเรื่องจะให้เจ้าดารารัศมีได้โกนจุก ต่อมาเจ้าแม่ทิพเกสรก็สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2427 หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ในการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จเข้ามาร่วมพระราชพิธีด้วย และได้ถือโอกาสนำเจ้าดารารัศมีเดินทางมาด้วย แล้วถวายตัวทำราชการฝ่ายใน ในราชสำนักรัชกาลที่ 5 ทำให้แผนการสานความสัมพันธ์กับราชสำนักสยามของเจ้าแม่ทิพเกสรที่ได้ตระเตรียมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2417 ประสบความสำเร็จในที่สุด

เมื่อพูดถึงในแง่ความสัมพันธ์ระหว่าง อังกฤษ สยาม และเชียงใหม่ รัฐบาลสยามเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติที่มีนโยบายโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของชาติมหาอำนาจ และเป็นเพียงชาติเดียวที่ยอมเปิดเสรีทางการค้ากับมหาอำนาจยุโรปโดยไม่มีการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหาร โดยในปี พ.ศ. 2398 ในหลวงรัชกาลที่ 4 ได้ยินยอมข้อตกลงในสนธิสัญญาเบาว์ริง จากนั้นมาชาติมหาอำนาจในยุโรปก็ทยอยเข้ามาขอทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันอีกหลายสิบชาติ ทำให้รัฐบาลสยามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกลางของประเทศมหาอำนาจในยุโรป

เมื่ออังกฤษเป็นฝ่ายชนะในสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2395 รัฐบาลอาณานิคมอินเดียของอังกฤษก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนพม่าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงดินแดนพม่าที่อังกฤษยังไม่ได้เข้าผนวกอย่างเป็นทางการด้วย ในระยะเวลาดังกล่าวนี้เอง อังกฤษได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจป่าไม้ในเชียงใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ อันสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทในการทำสัมปทานป่าไม้

แต่เนื่องจากอังกฤษยังไม่สามารถผนวกดินแดนพม่าได้ทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์กับสยามเอาไว้ ประกอบกับรัฐบาลสยามมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางของอังกฤษโดยตรง ทำให้อังกฤษ (รัฐบาลอาณานิคมอินเดีย) ต้องมีความระมัดระวังต่อการจัดการปัญหาในเชียงใหม่

ดังนั้น อังกฤษจึงพยายามเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อบีบให้รัฐบาลสยามเข้ามาใช้อำนาจจัดการกับเชียงใหม่แทน โดยจุดประสงค์ของอังกฤษคือ ต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือเชียงใหม่ โดยที่ไม่กระทบกระทั่งกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสยามและรัฐบาลกลางของอังกฤษ

โดยในปี พ.ศ. 2416 มีคดีความที่ชาวอังกฤษฟ้องร้องเจ้านายและขุนนางเมืองเชียงใหม่อยู่ 42 คดี และรัฐบาลอาณานิคมอินเดียของอังกฤษได้บีบให้รัฐบาลสยามเข้ามาจัดการแทน โดยรัฐบาลสยามได้ส่งพระยาจ่าแสนยบดี และพระยาราชวรานุกูล เข้ามาทำหน้าที่เป็นตุลาการชำระความ และอังกฤษได้ส่งนายนิวแมน (Newman) เข้ามาช่วยชำระความ ปรากฏว่า ใน 42 คดี ยกฟ้องไปเสีย 31 คดี แต่อีก 11 คดี มีมูลความผิด ซึ่งเจ้านายและขุนนางเชียงใหม่เป็นฝ่ายแพ้คดีไป

แม้ว่ารัฐบาลสยามจะพยายามช่วยเชียงใหม่อย่างมากแล้ว แต่ก็ยังมีช่องทางที่อังกฤษเอาผิดได้อยู่บ้าง โดยพระเจ้าเชียงใหม่ต้องจ่ายเงินชำระค่าสินไหมจากการที่แพ้คดีถึง 466,015 รูปี ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับเชียงใหม่จึงค่อนข้างอยู่ในขั้นที่ย่ำแย่ และขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เชียงใหม่มีความโน้มเอียงเข้าหารัฐบาลสยามมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลสยามยื่นมือเข้าช่วยพระเจ้าเชียงใหม่ชำระค่าปรับให้แทนก่อน

จากข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การสานสัมพันธ์ของเมืองเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ในอดีตนั้น เป็นความตั้งใจแต่เดิมของพระเจ้าเชียงใหม่และเจ้าแม่ทิพเกสรอยู่แล้ว ซึ่งได้ตระเตรียมการมาเป็นสิบๆ ปี เมื่อบวกรวมเข้ากับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันย่ำแย่ของอังกฤษกับเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น ก็ยิ่งชี้ชัดได้ว่า การขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมของพระราชินีวิคตอเรีย เป็นเพียงเรื่องปั้นแต่งที่ไม่มีมูลความจริง

อ้างอิง :

[1] ศูนย์มรดกเมืองเชียงใหม่ – Chiang Mai City Heritage Centre
[2] ควีนวิกตอเรียคิดฮุบล้านนา ขอเจ้าดารารัศมีเป็นลูก! ร.๕ ทรงแก้เกม หมั้นเลย!!
[3] แก้วนวรัฐฯ ผู้ครองนครเชียงใหม่, เจ้า. พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. (พิมพ์ในงานถวายพระเพลิง ปีจอ พ.ศ.2477). พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2477
[4] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 รล. – พ.ศ. เล่ม 26. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ชุดสมุดพิเศษ เล่มที่ 26 จ.ศ.1245-1246.
[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 รล. – พ.ศ. เล่ม 10. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ชุดสมุดพิเศษ เล่มที่ 10 จ.ศ.1245.
[6] วรชาติ มีชูบท. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ศรีแห่งนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า