เปิดเบื้องหลังที่แท้จริงของ ‘กบฏบวรเดช’ สงครามกลางเมืองครั้งแรกของประเทศไทยสมัยใหม่

ในหลายๆ บทความที่ผ่านมา ฤๅ ได้นำเสนอเรื่องราวสาเหตุการเกิด “กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นการพยายามก่อการยึดอำนาจรัฐบาลโดย “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่นักวิชาการบางคนกำลังบิดเบือน รวมถึงนำเสนอเหตุการณ์บางช่วงในการปราบปรามกบฏว่ามีตัวแสดงใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนั้น

อย่างไรก็ดี ความสำคัญอีกประการหนึ่งของกบฏบวรเดชที่มักไม่มีใครกล่าวถึง นั่นคือ เหตุการณ์ในครั้งนั้นถือเป็น “สงครามกลางเมือง” (Civil War) ครั้งแรกและเต็มรูปแบบของประเทศไทยสมัยใหม่ นับตั้งแต่สถาปนาเป็นรัฐชาติ (Nation-State) ขึ้นมาในช่วงรัชกาลที่ 5

กบฏบวรเดช (ชื่อที่รัฐบาลคณะราษฎรเรียกขาน) หรือ คณะกู้บ้านกู้เมือง (ตามที่คณะผู้ก่อการนิยามตนเอง) ที่อุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2476 นับได้ว่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เพราะหากนับอายุรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญนี้เพิ่งจะมีอายุแค่ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงให้แก่โฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยในเวลาต่อมา

เพราะเดิมทีรัฐบาลคณะราษฎรเคยมีท่าทีที่ “ประนีประนอม” ต่อบรรดาเจ้านายและรอยัลลิสต์ผู้ภักดี แต่หลังจากเหตุการณ์กบฏในครั้งนั้น ท่าทีของรัฐบาลกลับแข็งกร้าวและเป็นไปในทางที่รุนแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น ทั้งๆ ที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่สามารถ “ระงับได้” หากต่างฝ่ายต่างใช้เหตุผลเข้าคุยกัน

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เกิดในช่วงก่อนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีคนแรกที่คณะราษฎรได้แต่งตั้งขึ้น) จะประกาศยุบสภา ซึ่งสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นเริ่มคุกรุ่นรุนแรงขึ้นทุกที จนเกิดเหตุการณ์ “หวาดเสียว” ในพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งใช้เป็นรัฐสภาในเวลานั้น โดยสมาชิกคณะราษฎรฝ่ายนิยมปรีดีฯ บางคน ได้ทำการ “พกปืนเข้ารัฐสภา” ในช่วงเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพที่ย่อมจะทำได้ เหตุการณ์พกปืนเข้าสภานี้ ได้ปรากฏในรายงานของสถานทูตอังกฤษประจำสยาม เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2476 ด้วย

นอกจากเหตุการณ์ที่นักการเมืองฝ่ายปรีดีฯ พกปืนเข้ามาในรัฐสภาหน้าตาเฉยแล้ว ยังมีการดันทุรังเสนอ “สมุดปกเหลือง” ของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ซึ่งทำให้ชนชั้นนำหรือแม้แต่ผู้ก่อการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ด้วยกันเองยังมองด้วยความระแวงสงสัยว่า ปรีดีฯ ได้ลอกเอาแผนเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัสเซียมาใช้ (ซึ่งหากพิจารณาตามความจริง จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีส่วนคล้ายอยู่มาก)

จากมูลเหตุข้างต้นจะเห็นได้ว่า สงครามครั้งนั้นล้วนมีที่มาจากความขัดแย้งกันเองระหว่างชนชั้นนำในรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำคณะราษฎรบางคน ที่พยายามผลักดันในสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของสังคม อีกทั้งยังมีพฤติกรรมใช้อำนาจข่มขู่ฝ่ายเห็นต่างด้วย

จากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอ่อนข้อแก่กันนี้ รวมถึงความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการข่มขู่ด้วยอาวุธปืน ทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาตัดสินใจ “ปิดสภา” และ “งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” ในวันปีใหม่ของไทย 1 เมษายน พ.ศ. 2476

การปิดสภาและกีดกันคณะราษฎรบางส่วนออกจากเวทีทางการเมืองนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่คณะราษฎรเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่ “การใช้กำลังรัฐประหารครั้งแรก” ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ที่นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการฝ่ายทหารบกคนสำคัญของคณะราษฎร

การตัดสินใจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในครั้งนั้น ทำให้คณะราษฎรบางคนฝังใจว่า เป็นการพยายาม “โต้ระบอบใหม่” (counter-revolution) ของฝ่ายนิยมเจ้ารวมถึงเจ้านายบางพระองค์ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส คณะราษฎรจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะกดปราบและปกปิดเสียงของฝ่ายรอยัลลิสต์ มิให้มีสิทธิ์ทางการเมืองเสมอเท่าบรรดาคณะราษฎรผู้ก่อการ และความขัดแย้งนี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้นลง ทำให้ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำกำลังจากหัวเมืองเข้ากรุงเทพฯ เพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

เห็นได้ชัดว่าการอุบัติขึ้นของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ล้วนมีที่มาจากความไม่พอใจที่รัฐบาลคณะราษฎรบริหารประเทศอย่าง “คณาธิปไตย” หาใช่ “ประชาธิปไตย” แบบที่สมอ้างต่อประชาชน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใดเลย

และแกนนำที่ต่อต้านรัฐบาลในครั้งนั้นก็หาใช่คนอื่นไกล แต่กลับเป็น “คนสนิท” ของบรรดาคณะราษฎรแทบทั้งสิ้น แม้แต่พระองค์เจ้าบวรเดชเองก็ทรงเป็น “ต้นคิด” แผนการจับตัวเจ้านายเป็นองค์ประกันในช่วงปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เพียงแต่ทรงไม่ได้ร่วมรัฐบาลเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นเจ้าจะเล่นการเมืองไม่ได้

และแกนนำแม่ทัพคนสำคัญของคณะกู้บ้านกู้เมืองอีกผู้หนึ่งคือ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ก็เป็นผู้ล่วงรู้แผนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จากพระยาพหลฯ ซึ่งทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทสนมกันมาตั้งแต่สมัยเรียนนายร้อยที่เยอรมัน แม้พระยาศรีสิทธิสงครามจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ได้เก็บแผนการไว้เป็นความลับและไม่ยอมขายเพื่อนรัก จนกระทั่งการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 บรรลุผลสำเร็จ แต่ด้วยพฤติกรรมของรัฐบาลคณะราษฎรที่ไม่ถวายพระเกียรติยศแก่พระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังปล่อยให้มีการหมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 7 อย่างหน้าตาเฉย เช่น กรณีการฟ้องร้องในหลวงโดยนายถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรไทยผู้มีฝีปากโอหัง ทำให้บรรดาผู้ที่แอบมองสถานการณ์อยู่ห่างๆ เกิดความไม่สบายใจขึ้น แม้แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้เป็นต้นคิดแผนการปฏิวัติเองก็ทรงทนดูอยู่นิ่งๆ ไม่ได้

จากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งถือเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกและครั้งสำคัญของประเทศไทยสมัยใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศและประวัติศาสตร์การเมืองไทยในเวลาต่อมา นั่นก็คือพฤติกรรมของรัฐบาลพระยาพหลฯ ที่มีแนวโน้มแข็งกร้าวต่อพระราชประสงค์และพระวินิจฉัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ น่าจะมีส่วนรู้เห็นกับการกบฏครั้งนั้น

แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราได้รับทราบกันในปัจจุบันต่างคลี่คลายแล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงวางพระองค์เป็นกลางตลอดทั้งเหตุการณ์ ทรงไม่นำพระองค์เองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่อาจนำพระองค์ไปเป็น “องค์ประกัน” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ดังนั้น คำกล่าวหาว่าพระองค์ทรงอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์กบฏ จึงเป็นคำบิดเบือนที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง

อ้างอิง :

[1] สรศัลย์ แพ่งสภา. นักเรียนนายร้อยไทย ในเยอรมันยุคไกเซอร์. กรุงเทพ : 2549. สำนักพิมพ์สารคดี
[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติ พ.ศ. 2475. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
[3] เอกสารสถานทูตอังกฤษ รหัส F. 3109/42/40 (3 April 1933)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า