‘ซาลัง’ การแทงกริชทะลุหัวใจ วิธีประหารตามจารีตโบราณของชาวมลายู

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

สำหรับคอประวัติศาสตร์ไทยคงทราบกันดีว่า การลงโทษประหารชีวิตของไทยสมัยโบราณ คงไม่มีวิธีใดที่จะสร้างความรู้สึกจดจำและสยดสยองมากไปกว่า “การตัดหัวเสียบประจาน” ซึ่งเป็นการลงโทษประหารด้วยการฟันคอมนุษย์ด้วยดาบให้ขาดออกจากส่วนตัว วิธีการเช่นนี้ปรากฏอยู่ในประเพณีการลงโทษของไทยสมัยโบราณ อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกการประหารชีวิตด้วยการตัดหัวภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา แล้วเปลี่ยนมาเป็นการยิงเป้าประหารตามหลักสากลแทน

อย่างไรก็ดี วิธีการลงโทษแบบจารีตในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็มีความน่าสนใจมิใช่น้อย ซึ่งในวันนี้ ฤา ขอนำเสนอวิธีการลงโทษด้วยการใช้ “กริช” (มีดสองคมแบบชวา-มลายูชนิดหนึ่ง มีทั้งแบบใบคดและใบตรง) ซึ่งเป็นวิธีการประหารชีวิตตามจารีตโบราณของประเทศมาเลเซีย รวมถึงดินแดนบางส่วนของไทยที่เคยปกครองด้วยระบบสุลต่านมลายูในอดีต อาทิ ปัตตานี เป็นต้น โดยชาวมลายูเรียกการประหารชีวิตแบบนี้ว่า “ซาลัง” (Salang)

มาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะเริ่มนึกออกกันแล้วว่า การประหารชีวิตด้วยกริชนั้น มีความเกี่ยวพันกับตำนานเล่าขานของไทยอยู่เรื่อง นั่นคือเรื่องราวของ “เจ้าหญิงมะสุหรี” หรือพระนางเลือดขาวแห่งเกาะลังกาวี

ว่ากันว่า เจ้าหญิงมะสุหรี เดิมท่านมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดภูเก็ต แล้วได้ทำการอภิเษกกับ หวันดารุส (Wan Darus) บุตรชายเจ้าเมืองลังกาวี (Raja of Langkawi) ซึ่งปัจจุบันเกาะนี้ตั้งอยู่ในรัฐไทรบุรี มาเลเซีย ต่อมาเจ้าหญิงมะสุหรีถูกใส่ร้ายว่าได้ลักลอบกระทำชู้กับผู้อื่น ทำให้เจ้าเมืองลังกาวีสั่งลงโทษประหารชีวิต ก่อนจะถูกประหารพระนางได้อธิษฐานว่า หากตนไม่ได้ทำอะไรผิดก็ขอให้เลือดออกมาเป็นสีขาว และขอให้เมืองลังกาวีประสบกับความวิบัติไปจน 7 ชั่วชีวิตมนุษย์ หลังจากนั้นนางก็ถูกประหารชีวิตด้วย “กริช” ที่ว่ากันว่าเป็นของตกทอดมาจากตระกูลของพระนางเอง

อย่างไรก็ดี กริชที่ทางมิวเซียมของลังกาวีจัดแสดงว่าเป็นกริชที่ใช้ประหารชีวิตเจ้าหญิงมะสุหรีนั้น กลับเป็นกริชขนาดเล็กและสั้นมาก ผิดธรรมเนียมของกริชที่ใช้ประหารตามรูปแบบ “ซาลัง” ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องเป็นกริชขนาดยาว ใบตรง ส่วนของใบจะมีความหนาและแข็งแรง นักวิชาการมาเลย์เรียกกริชแบบนี้ว่า “กริชปันจาง” (Keris Panjang – แปลตรงตัวว่ากริชยาว) หรือในอีกชื่อหนึ่ง คือ “กริชบาฮารี” (Keris Bahari) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในแถบเกาะสุมาตรา และใช้กันแพร่หลายในราชสำนักมลายู โดยเฉพาะในแวดวงชนชั้นสูง

กริชปันจาง ที่ถูกทำขึ้นโดยคำสั่งของพระราชา สุลต่าน หรือเจ้าเมือง ในฐานะ “กริชอาญาสิทธิ์” เพื่อใช้ในการประหารชีวิตเป็นการเฉพาะ จะถูกเรียกในอีกชื่อว่า “กริชฮูกุ่ม” (Hukuman salang) ดังนั้น ไม่ใช่ว่ากริชทุกเล่มจะใช้เป็นกริชประหารได้ แต่จะต้องเป็นกริชขนาดยาวและถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษเท่านั้น จึงจะถูกเรียกว่า “กริชประหาร” ตามประเพณีการประหารแบบ “ซาลัง”

ด้วยเหตุที่การประหารชีวิตแบบซาลัง จะต้องอาศัยการแทงกริชลงไปให้ตรงจุด ณ บริเวณด้านบนของไหปลาร้า ให้ใบกริชทะลุตรงไปยังหัวใจ ไม่ใช่การแทงกริชเข้าไปตรงๆ ที่หัวใจจากบริเวณหน้าอก หรือทิ่มแทงลงไปบริเวณคอแบบที่คนส่วนมากมักเข้าใจผิดกัน ด้วยวิธีการแทงแบบถูกต้องดังกล่าว ผู้ถูกประหารจะขาดใจตายในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นการแทงลงไปยังหัวใจโดยตรง

ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานกันว่า การประหารชีวิตด้วยกริชน่าจะถูกสงวนไว้สำหรับการประหารเชื้อพระวงศ์หรือชนชั้นสูงมากกว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา เนื่องจากกริชฮูกุ่มเป็นกริชชั้นสูงที่ถูกพระราชทานลงมาจากพระหัตถ์ของพระราชา นอกจากนี้ ยังมีการพบภาพวาดของคนผิวขาวในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประหารชีวิตในรัฐไทรบุรี (เคดาห์) ด้วยวิธีการแทงบริเวณไหปลาร้า แต่แทนที่เพชฌฆาตจะใช้กริชยาวหรือกริชฮูกุ่มในการแทง ภาพวาดกลับแสดงการประหารชีวิตโดยการใช้หอกแทงทะลุหัวใจลงไปแทน

อย่างไรก็ดี จากรูปแบบการจัดท่าให้นักโทษนั่งคุกเข่า เอามือผูกไขว้หลัง แล้วมีการวางผ้าซับเลือดบริเวณไหปลาร้าเพื่อป้องกันเลือดพุ่งออกมาจากบาดแผล ทำให้สิ้นสงสัยว่ารูปแบบการจัดท่าทางของนักโทษเช่นนี้ คือรูปแบบเดียวกับการประหารด้วยกริช หากแต่นักโทษผู้นี้น่าจะไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง จึงไม่ได้รับสิทธิ์การประหารด้วยกริช และเปลี่ยนไปเป็นการใช้หอกแทน

นอกจากภาพวาดแล้ว นักเดินทางชาวผิวขาวที่ได้เข้ามาสำรวจคาบสมุทรมลายูในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ยังได้พบหรือได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการประหารด้วยกริช หรือ “ซาลัง” เช่นกัน อาทิ บันทึกของ Ambrose B. Rathborne ในปี ค.ศ. 1898 ได้เขียนบอกเล่าเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดว่า …

… รูปแบบการประหารชีวิตนักโทษแบบมาเลย์ดั้งเดิม นับว่าเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจมาก โดยปอยนุ่นจะถูกวางลงบนไหล่ของเหยื่อที่กำลังคุกเข่าอยู่ และทันใดนั้น เพชฌฆาตจะใช้กริชใบตรงขนาดยาวแทงเข้าไปในร่างกาย (ผ่านไหปลาร้า) กระทั่งทะลุถึงหัวใจ หลังจากนั้นกริชก็จะค่อยๆ ถูกชักออกอย่างช้าๆ ปอยนุ่นนั่นมีประโยชน์ตรงที่ไม่ทำให้เลือดพุ่งจนเปรอะ อีกทั้งยังช่วยทำความสะอาดใบกริชนั้นด้วยในขณะที่กำลังชักใบออก …”

จะเห็นได้ว่า การประหารชีวิตตามจารีตโบราณของทางมลายูนั้น นอกจากจะดูแปลกประหลาดและน่าหวาดเสียวแล้ว ยังเป็นการลงโทษที่มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนพอสมควรด้วย และนี่ก็คือเรื่องราวประวัติศาสตร์น่ารู้ในอดีตเรื่องหนึ่ง ที่น่าจะทำให้เราเห็นว่า การลงโทษในสมัยโบราณตามจารีตนั้นมีความน่ากลัวมากน้อยเพียงใด

อ้างอิง :

[1] Ambrose B. Rathborne. Camping and Trampling in Malaya. (1898).