พรบ.การเลือกตั้ง 2475 ประชาชนพร้อมจริงหรือไม่ กับระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แม้จะเป็นผลผลิตของอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วยหลายบุคคล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่รับภาระในการร่างกฎหมายฉบับนี้คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎร

ซึ่งถ้าเราพิจารณาหลักเกณฑ์การกลั่นกรองกฎหมายฉบับนี้ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดูดีดีจะพบว่า มันเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญในสังคมสยามขณะนั้น ที่หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ทราบดีว่า คือ “ปัญหาความไม่พร้อมของประชาชน” ในการที่จะพลิกประเทศเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร

ความไม่พร้อมนี้เห็นได้ชัดถึงขนาดที่ว่า ต้องมีการใช้กุศโลบาย เพื่อจูงใจราษฎรให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2475 มีหลักฐานการอภิปรายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเวลาการเปิดและปิดหีบลงคะแนน ที่มีการผูกโยงเข้ากับบริบทของสังคมสยามสมัยนั้น ว่าชาวบ้านใช้ชีวิตแต่ละวันกันอย่างไร และทางการจะใช้ “กุศโลบาย” แบบใดเพื่อจูงใจคนให้ออกมาใช้สิทธิ โดยหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อภิปรายไว้ว่า …

“เวลานี้ (9:00–15:00 น.) เหมาะ เพราะชาวบ้านจะได้รับประทานอาหารเช้าเสียก่อน และทั้งได้คิดไว้ว่า จะให้กรมการอำเภอจัดทำดังนี้ ตำบลใดมีการเลือกตั้งในวันนั้น จัดให้มีการเลี้ยงพระเพลที่วัดอันเป็นสาธารณสถาน จะมีสลากภัทร์อะไรด้วยก็ตาม กับทั้งให้มีการรื่นเริง เช่น มีเพลงมีลิเก ช่วงชัย ฯลฯ เผื่อว่าพวกผู้ใหญ่จะได้มาทำบุญ หนุ่มๆ สาวๆ มารื่นเริงที่วัดแล้วขึ้นไปบนศาลาเพื่อออกเสียง เมื่อทำเช่นนี้ การออกเสียงในเมืองไทยจะไม่เหงา ราษฎรจะครึกครื้น รู้สึกตื่นเต้น และเพาะให้เกิดความนิยมการปกครองแบบรัฐธรรมนูญได้อย่างดีทีเดียว”

ในด้านของหลักเกณฑ์การรับสมัครบุคคลผู้เข้ารับการเลือกตั้งนั้น ก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ยากเย็นแสนเข็ญ โดยกฎหมายกำหนดว่า ในกรณีผู้แทนตำบล ผู้สมัครต้องส่งรูปถ่ายขนาด 6 นิ้วจำนวน 4 รูป พร้อมกับชำระเงิน 4 บาท (มาตรา 12) ส่วนในกรณีผู้แทนราษฎร จะต้องชำระเงิน 50 บาท (มาตรา 26) ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ทั้งแพงและยากจะปฏิบัติ โดยเฉพาะสำหรับราษฎรในชนบท

และต่อมา ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ชี้แจงร่างกฎหมายต่อสภาฯ เกี่ยวกับวิธีการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่า …

“ขอชี้แจงว่า วิธีออกเสียงนี้เป็นวิธีที่คิดขึ้นใช้ในเมืองไทยเรา แม้ในต่างประเทศเขาจะใช้วิธีอื่นก็สะดวกสู้ของเราไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะในเมืองไทยเราคนไม่รู้หนังสือมีส่วนมาก ถ้าจะให้เขียนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัตรออกเสียงแล้ว คนที่ไม่รู้หนังสือก็ต้องวานคนอื่นเขียน ซึ่งอาจโกงกันได้ จะใช้วิธีการอย่างในอินเดียคือมีเครื่องหมายแทนชื่อคน ผู้ออกเสียงอาจจำเครื่องหมายผิด ทำให้ไขว้กันได้ ด้วยวิธีของเรานี้ผิดแทบไม่ได้ เพราะที่หีบออกเสียง 1 หีบ จะปิดรูปถ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ออกเสียงก็ดูรูปถ่ายนั้น เมื่อเห็นรูปถ่ายก็จำได้ทันทีว่าเป็นผู้สมัครที่ตนประสงค์รับเลือกตั้งแล้ว ก็ใส่บัตรออกเสียงในหีบนั้น”

โดยหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อธิบายเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจใช้ระบบเลือกตั้งในลักษณะแบบทางอ้อมนี้แต่เพียงสั้นๆ ว่า การเลือกตั้งทางตรงนี้ เวลานี้เรายังทำไม่ได้ เพราะเกี่ยวแก่การศึกษาและเหตุอื่น

ทั้งวิธีการและคำอธิบายนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาความไม่พร้อมของประชาชน ที่หลวงประดิษฐ์ฯ เองก็รู้อยู่แก่ใจ

นอกจากนั้น ในมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 ได้ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้อง มีความรู้ตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ ซึ่งจากหลักเกณฑ์ความรู้ขั้นต่ำที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้นั้น ผู้สมัครเป็นผู้แทนตำบล ต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ก็ต้องเรียนจบชั้นปริญญาตรีขึ้นไป หรือเทียบเท่า มิฉะนั้นต้องผ่านการทดสอบ “พื้นความเข้าใจในการเมือง” จนเป็นที่พอใจของกรรมการก่อน

แม้ร่างพระราชกฤษฎีกาของหลวงประดิษฐ์ฯ จะไม่ได้ขยายความถึงการทดสอบความรู้ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเอาไว้ แต่อย่างไรก็ดี พบว่ามีร่าง “ประกาศ” สำหรับกรรมการผู้รับผิดชอบการจัดทดสอบ ที่กระทรวงธรรมการเรียบเรียงขึ้นช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบครบถ้วน

และจากเอกสารจัดการทดสอบนี้ ทำให้เราทราบถึงความคาดหวังขั้นต่ำ ของผู้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่าควรจะต้องมีความรู้ในระดับใดบ้าง

โดยเอกสารฉบับนี้กำหนดว่า สำหรับตำแหน่งผู้แทนตำบลนั้น บุคคลที่ “พอมีความเข้าใจในการเมืองที่จะเป็นผู้แทนตำบล” จะต้องผ่านการทดสอบรวม 4 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1-2 การอ่านออกเสียงตัวบทรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการเลือกตั้งอย่างละมาตรา หรือมากกว่านั้น โดยต้องตอบคำถามเกี่ยวกับบทบัญญัติที่เพิ่งอ่านจบไปได้
  • ส่วนที่ 3 การบรรยายระเบียบการปกครองหมู่บ้านและตำบลของตนโดยย่อ
  • และส่วนสุดท้าย การยกร่างหนังสือร้องทุกข์ถึงกรมการอำเภอไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ โดยใช้โจทย์สมมติว่า มีราษฎรรายหนึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน

ส่วนตำแหน่งผู้แทนราษฎร หลังจากให้กรรมการวัดความเข้าใจจากการอ่านตัวบทรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งบางมาตราแล้ว ผู้สมัครที่มีวุฒิการศึกษาไม่ถึงเกณฑ์ จะต้องเจอการทดสอบอีก 6 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1-4 การอ่านตำราทางด้านกฎหมายปกครองตั้งแต่ 1 บทขึ้นไป หนังสือประวัติศาสตร์สยาม (อ่านออกเสียง) หนังสือเศรษฐศาสตร์ (อ่านออกเสียง) และหนังสือที่อธิบายเรื่องลัทธิเศรษฐกิจ (อ่านออกเสียง) ต่อจากนั้น จะเป็นการตอบคำถามให้กรรมการฟัง
  • ส่วนที่ 5 การเขียนเรียงความหัวข้อลัทธิเศรษฐกิจความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ
  • และส่วนที่ 6 การแต่งคำแถลงการณ์เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โดยสมมติว่าจะต้องเอาไปเสนอสภา เพื่อขอรับความช่วยเหลือ

และเมื่อดูจากข้อเท็จจริงที่ว่า สยามในปี พ.ศ. 2475 ยังมีประชากรไม่ถึงครึ่งที่เรียนจบชั้นประถมศึกษา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับบุคคลที่อยากจะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร หากมีการวางระบบคัดกรองผู้สมัครตามเงื่อนไขที่ได้อธิบายไปข้างต้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า นี่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติเพื่อการเตรียมสอบ หรือเป็นการสมัครเข้ารับเลือกตั้งกันแน่

ทั้งหมดนี้คือที่มาและเบื้องหลังของพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 กับสภาพสังคมสยาม และความเข้าใจของประชาชนในขณะนั้น ที่แทบจะไม่มีความพร้อมในระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรเลย

และยิ่งเป็นสิ่งที่ย้ำให้เห็นว่า เหตุใดในหลวง ร.7 จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน และทรงค่อยๆ วางรากฐานอย่างเหมาะสม ก่อนที่จะมอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประชาชน

ที่มา :

[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 36 (สมัยสามัญ), 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475, 424-425
[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ), 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475, 595
[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่ 1), 1 สิงหาคม พ.ศ. 2476, 281
[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ), 23 ธันวาคม พ.ศ. 2475, 591

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า