ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับภาษีมรดกของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนี

จากกรณีที่ ส.ส.พรรคกรีนส์ และพรรคฝ่ายซ้ายของเยอรมนี ตั้งกระทู้ถามในสภา เมื่อปี 2563 และเรียกร้องให้กรมสรรพากรแห่งรัฐบาวาเรีย ตรวจสอบการชำระภาษีมรดกของในหลวง ร.10 ซึ่งตามกฎหมายการเก็บภาษีมรดกของเยอรมนีกำหนดว่า ผู้ที่มีที่อยู่ถาวร หรือพำนัก (Resident) อยู่ในเยอรมันจำเป็นต้องชำระภาษีดังกล่าว

เรื่องนี้ทำให้กลุ่มม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยเอามาเป็นประเด็นตั้งคำถาม จนคล้ายเป็นการชี้นำในลักษณะที่ว่า ในหลวง ร.10 ทรงเลี่ยงการชำระภาษีมรดก ซึ่งต้องชำระในอัตราร้อยละ 30 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ทรงครอบครองหรือประมาณ 3 พันล้านยูโร (1.1 แสนล้านบาท)

ประเด็นนี้หลายคนคงมีคำถามเหมือนๆ กันว่า พระมหากษัตริย์ไทย ต้องเสียภาษีมรดกให้กับประเทศเยอรมนีหรือไม่ ?

อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วการเก็บภาษีมรดกของประเทศต่างๆ นั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ

  1. ภาษีกองมรดก (Estate Tax) จะมีการเรียกเก็บจากกองมรดกของผู้ตาย ก่อนที่ทรัพย์สินในกองมรดกจะตกทอดไปยังผู้รับมรดก
  2. ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) จะมีการเรียกเก็บจากผู้รับมรดก เมื่อมีการแบ่งมรดก แล้วตกทอดไปยังผู้รับมรดก
  3. ภาษีการให้ (Gift Tax) มีขึ้นเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีมรดกโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ด้วยการผ่องถ่ายทรัพย์สินไปยังผู้มีสิทธิในกองมรดก ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีการโอนทรัพย์สินก่อนตาย ก็อาจถูกเรียกเก็บภาษีการให้ได้เช่นกัน

สำหรับประเทศเยอรมนี จะมีแค่ “ภาษีการรับมรดก” และ “ภาษีการให้” เพราะการเก็บภาษีจากกองมรดก (ข้อ 1) เป็นวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นภาระอย่างมากสำหรับเจ้าหน้าที่ประเมิน

ซึ่งกฎหมายภาษี (The Fiscal Code) ของเยอรมนี ได้วางหลักเกณฑ์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไว้ ตามหลักภูมิลำเนา (Domicile) และหลักสัญชาติ (Nationality or Citizenship) นอกจากนี้ ในมาตรา 9 ของกฎหมายฉบับนี้ ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย (Habitual abode) เอาไว้ด้วย โดยให้ถือว่าบุคคลที่พำนักอาศัยนานกว่า 6 เดือน และไม่ได้มีจุดประสงค์ในการพำนักเป็นพิเศษ หรือพำนักชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ให้ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิพำนักอาศัย (Resident) และเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี

มาถึงคำถามที่ว่า ในหลวง ร.10 เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสียภาษีมรดกหรือไม่ ?

เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรของประเทศเยอรมนีตามที่กล่าวไปแล้ว เราก็ต้องไปดูว่า ในหลวง ร.10 พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน (180 วัน) หรือไม่

ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีได้ตอบกระทู้ถามของ ส.ส.พรรคกรีนส์ ในรัฐสภาเยอรมันว่า “ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กฎหมายการพำนักและข้อบังคับการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้อง จะมีผลบังคับใช้กับพระองค์ แต่ตามมาตรา 1 ย่อหน้า 2 ข้อ 2 ของกฎหมายการพำนัก ระบุว่า กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้กับองค์พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐได้

นั่นหมายความว่า หากพระองค์ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ไม่ได้มีสถานะเป็นพระประมุขของรัฐ) ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมือง ต้องมีการขอวีซ่า รวมถึงต้องทรงมีหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ (Passport)

แต่เมื่อ ในหลวง ร.10 มีพระสถานะเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ทรงเป็นประมุขของรัฐ ดังนั้น จึงทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า “ในระหว่างรัฐอธิปไตยด้วยกัน รัฐไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือกว่าอีกรัฐหนึ่งได้” (par in parem non habet imperium)

ประเด็นนี้ เทียบเคียงได้กับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของเอกอัครราชทูต กล่าวคือ เอกอัครราชทูตซึ่งเป็นผู้แทนทางทูตที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของรัฐ จะมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ดังนั้น ประมุขของรัฐ (Head of State) หรือประมุขของรัฐบาล (Head of Government) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs) ซึ่งเป็นผู้มอบหมายให้ตัวแทนทางทูตออกไปปฏิบัติภารกิจทางการทูตในต่างแดน จึงย่อมมีสิทธิที่ไม่น้อยกว่า ผู้แทนทางทูต (Diplomatic Agents)

เรื่องนี้เคยมีกรณีตัวอย่าง ที่ศาลโลกเคยตัดสินคดี (Arrest Warrant) กรณีเบลเยียมจะออกหมายจับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของคองโก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2543 ซึ่งศาลโลกตัดสินว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของทูต ดังนั้นจึงยิ่งต้องได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตเช่นเดียวกับผู้แทนทางทูต

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะประมุขของรัฐ ในหลวง ร.10 จึงย่อมได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตเช่นเดียวกัน ส่งผลให้พระองค์ไม่ต้องทรงผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองว่าด้วยการตรวจลงตรา (Visa) รวมถึงไม่ต้องมีหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ (Passport) ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินเข้าประเทศเยอรมนี รัฐบาลเยอรมันจึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมือง และไม่สามารถระบุได้ว่า พระองค์ประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ ไม่น้อยกว่า 180 วัน ต่อปีหรือไม่

จึงเป็นคำตอบว่า ในหลวง ร.10 ไม่ทรงเข้าเงื่อนไขคุณสมบัติผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพราะไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า พระองค์ทรงประทับในเยอรมนีเป็นระยะเวลาที่แน่นอนเพียงไร และต่อให้ทรงเข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสียภาษีมรดก พระองค์ก็ยังทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตในฐานะประมุขของรัฐ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ทรงได้รับการยกเว้นภาษีอากรนั่นเอง

และกรณีหากว่า ในหลวง ร.10 ทรงมีพระประสงค์จะจ่ายภาษีมรดก และทรงยืนยันระยะเวลาการพำนักในเยอรมนีได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรงมีคุณสมบัติเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ถึงอย่างไรรัฐบาลท้องถิ่นแคว้นบาวาเรียก็ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมรดกจาก ในหลวง ร.10 ได้อยู่ดี เพราะพระราชมรดกที่ ในหลวง ร.10 จะทรงได้รับ เป็นทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ กล่าวคือ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ ในหลวง ร.9 ซึ่งอยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น และระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนี ได้มีการทำ “อนุสัญญาความตกลงระหว่างกันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค.ศ. 1967”

ซึ่งข้อตกลงที่ 23(1) กำหนดไว้ว่า ทั้งคนไทยและคนเยอรมัน เมื่อเสียภาษีในประเทศของตนไปแล้ว จะไม่ถูกเก็บภาษีซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามกฎหมายของอีกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีอากรประเภทใดก็ตาม ดังนั้น หากมีการเก็บภาษีมรดกในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกในประเทศเยอรมนี

ทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนให้กับทั้ง ส.ส.พรรคกรีนส์ และกลุ่มม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยได้หายข้องใจกันเสียที และหวังว่าคงเป็นข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนให้กับผู้ที่ยังสงสัยว่า ตกลงแล้วในหลวง ร.10 ต้องเสียภาษีมรดกให้กับประเทศเยอรมนีหรือไม่

อ้างอิง :

[1] อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961
[2] ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค.ศ. 1967
[3] Foreign Account Tax Compliance Act 2009
[4] ดนุพล จาตุรนต์พงศา และ Danupol Jaturonpongsa. ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก และภาษีเงินได้จากการรับให้. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2558
[5] ฤทัย พูลสวัสดิ์. ภาษีมรดก. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2545
[6] สุธิดา ถนอมจิตร และ Sutida Tanomjit. ภาษีมรดกและภาษีการให้ กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา. [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2554

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า