ปฏิวัติ 2475 ‘ประชาธิปไตย’ ของคณะราษฎร ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘เงิน’

“ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

คำประกาศของคณะราษฎร ที่เป็นสิ่งยืนยันว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จะนำพาซึ่งความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจมาสู่ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่จารึกเอาไว้ว่า คณะราษฎรทำเพื่อบ้านเมือง เพื่อชาติ เพื่อราษฎร

และบรรดาคณะราษฎรบางคนยังได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเองเอาไว้ด้วยว่า พวกเขาได้เสียสละยอมเสี่ยงชีวิตของตน เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ราษฎรไทย โดยที่พวกเขาไม่เคยได้ผลประโยชน์ ไม่ได้ร่ำรวยขึ้น และไม่ได้อะไรจากการปฏิวัติครั้งนี้เลย

ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในอัตชีวประวัติ ใครๆ ต่างก็ต้องบอกเล่าเอาดีใส่ตัวไว้ก่อน

แต่ถ้าเรามาไล่เลาะดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะพบว่า ความจริงหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคำกล่าวอ้างของบรรดาคณะราษฎร

ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หรือห้าวันหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ขอเชิญชวนให้ประชาชนเสียสละต่อประเทศชาติ โดยไม่ต้องการอะไรเป็นการตอบแทนนอกจากความดีในตนเอง

แต่ในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าทางรัฐบาลคณะราษฎร (คณะกรรมการราษฎร) กลับเป็นผู้เรียกร้องเงินผลประโยชน์จากภาษีประชาชาชนเสียเอง ด้วยการจัดประชุมเพื่อพิจารณาการให้เงินตอบแทนแก่คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติและผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 3 ประเด็น ได้แก่

  1. กรรมการคณะราษฎรควรจะได้รับเงินเดือนหรือไม่
  2. การพิจารณาให้เงินเดือนผู้ที่มาทำงานช่วยเหลือคณะราษฎร
  3. การให้คณะกรรมการราษฎร สงเคราะห์ผู้เริ่มก่อการ

แน่นอนว่าผลการประชุมครั้งนั้นผ่านฉลุย ที่ประชุมอนุมัติเห็นชอบการตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่คณะราษฎรและผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ประเด็น ซึ่งเรื่องนี้จะไม่ให้ที่ประชุมอนุมัติได้ยังไง ในเมื่อ คณะราษฎร (ในฐานะรัฐบาล) เป็นผู้เสนอเรื่องเงินตอบแทนจากการปฏิวัติให้แก่ คณะราษฎร (ในฐานะผู้ก่อการปฏิวัติ) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการ “ชงเองกินเอง” นั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการให้คณะกรรมการราษฎร “สงเคราะห์” ผู้เริ่มก่อการ ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ประชุมอนุมัติให้จ่ายเงินแก่คณะราษฎรถึง 10,000 บาท เป็นค่ายานพาหนะ ค่าใช้จ่าย และเงินรางวัลในการปฏิวัติ โดยในประเด็นนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้ให้เหตุผลประกอบการให้เงินสงเคราะห์ว่า “มีบุคคลยากจนบางจำพวกเข้าช่วยทำงาน ซึ่งบุคคลหลายคนในพวกนี้ก็เป็นคนอัตคัดอยู่บ้าง”

เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่า หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้สร้างความสุขสมบูรณ์ขึ้นจริงๆ หากแต่เป็นการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของตัวเองมากกว่า โดยอ้างประชาชนบังหน้า และเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ผลประโยชน์จากการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 นั้นมีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่คณะราษฎรไม่อาจอ้างได้ว่า พวกเขาทำไปเพื่อชาติและบ้านเมืองเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น การเขียนอัตชีวประวัติของบรรดาคณะราษฎร ในทำนองว่าตนเป็นผู้เสียสละนั้น ดูเหมือนจะตรงข้ามกับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ปรากฎเป็นหลักฐานโดยสิ้นเชิง

นี่แค่เริ่มต้นการปกครองระบอบใหม่ คณะราษฎรยังขับเคลื่อน “ประชาธิปไตย” กันด้วย “เงิน” ขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่ต่อมาจะมีแต่การฉ้อฉล โกงกิน แอบขโมยเอาที่ดินพระคลังข้างที่ออกมาแบ่งขายกันในราคาถูกๆ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นมา

และก็ไม่แปลก ที่แนวร่วมประชาธิปไตยในปัจจุบันบางคน ผู้พยายามสืบสานเจตนารมณ์คณะราษฎร จะมีแต่ข่าวเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องเงินๆ ทองๆ และผลประโยชน์ที่แอบซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังคำว่า “ประชาธิปไตย”

อ้างอิง :

[1] สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ส.ล.ค.ร.ม.) รายงานการประชุมคณะกรรมการราษฎร ครั้งที่ 2. (30 มิถุนายน พ.ศ. 2475)