เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาไทยในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 1

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีการปฏิรูปด้านการศึกษาให้เป็นระบบใหม่ตามแบบอย่างของประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาในปัจจุบัน

โดยศูนย์กลางของการปฏิรูปอยู่ที่การจัดตั้ง “โรงเรียนที่มีระบบการสอนและการบริหารจัดการแบบตะวันตก” ได้แก่ การจัดทำหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนแต่ละชั้นปีการศึกษา การจัดทำแบบเรียนขึ้นใหม่ประกอบการสอนตามหลักสูตร ตารางสอน การสอบซ้อมและสอบไล่ การรับรองผลสอบและการให้วุฒิ การจัดตั้งผู้ตรวจการโรงเรียน (Inspector) เพื่อควบคุมกำกับโรงเรียนต่าง ๆ ที่เริ่มขยายไปทั่วประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการกลาง ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น “แผนกโรงเรียน” ของกรมทหารมหาดเล็ก และแยกออกมาจัดตั้งเป็น “กรมศึกษาธิการ” ซึ่งเจริญขึ้นเป็นกระทรวงพระธรรมการ กระทรวงธรรมการ และกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ โดยการปฏิรูปแบบเรียนไทยจัดเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่นี้

ใน “สำเนาเรียบเรียงที่จะจัดการโรงเรียน” เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 แสดงการวางแผนจัดการศึกษาแบบใหม่ แบ่งเป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ ชั้นสามัญ ชั้นกลาง และชั้นสูง (สมัยนั้นใช้คำว่าโรงเรียนชั้นสูง ซึ่งหมายถึงการศึกษาระดับยูนิเวอร์ซิตี้ – University) ที่จะดำเนินการไปตามความพร้อมของประเทศ

การปฏิรูปการศึกษาในตอนต้นได้มีการจัดการศึกษาชั้นสามัญให้แพร่หลาย โดยตั้ง“โรงเรียนพระอาราม” ตามตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และจัดให้มีการศึกษาชั้นกลาง อย่าง โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนช่าง โรงเรียนสำหรับฝึกสอนวิชาทหารบก และโรงเรียนราชแพทยาลัย เป็นต้น ส่วน “การศึกษาชั้นสูงที่แท้จริง” ในระยะแรกเรียกว่า ยูนิเวอร์ซิตี้ ก่อนจะมีการบัญญัติศัพท์ว่า มหาวิทยาลัย ในภายหลัง แม้กำหนดให้ “โรงเรียนสุนันทาลัย” เป็นโรงเรียนชั้นสูง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและเลิกไป ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้รวมโรงเรียนชั้นกลางต่าง ๆ เช่น โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนกฎหมาย (เดิมรวมอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์) จัดตั้งเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นับว่าเป็นการศึกษาระดับอุดมศึกษา (University) ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

การปฏิรูปการศึกษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากการปฏิรูปโรงเรียนแบบใหม่เป็นหลัก ยังมีการปฏิรูปองค์ประกอบอื่น ๆ ได้แก่ แบบเรียน หลักสูตรการศึกษา การสอบไล่ การเตรียมอาจารย์ โครงสร้างระบบราชการโรงเรียน โดยอาจแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ก่อนการจัดตั้งโรงเรียน ระหว่าง พ.. 2411 – 2413 เริ่มตั้งแต่มีการฝึกมหาดเล็ก 24คน เป็น “ทหารสองโหล” มีการรับมหาดเล็กเพิ่มเติม และฝึกเป็นทหารจำนวนมากขึ้น ที่ต่อมาได้ตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็ก โดยมีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง – ชูโต) จัดการฝึก และตั้งโรงสอนทหารมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งภายหลังเรียกว่า โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก

ระยะที่ 2 ทดลองจัดตั้งโรงเรียน (New Education System – Prototypes) ระหว่าง พ.. 2414 – 2428 มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยและโรงเรียนต่าง ๆ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ดำรงตำแหน่งอธิบดีบัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก และดูแลการจัดการโรงเรียนซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมทหารมหาดเล็ก

ระยะที่ 3 ปฏิรูปโรงเรียนทั่วประเทศ (New Education System Reform) ระหว่าง พ.. 2428 – 2430 เป็นช่วงที่มีการขยายปรับปรุงระบบการศึกษาไทยครั้งใหญ่ออกไปสู่หัวเมือง จนเกิดรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ชัดเจน จนสามารถจัดตั้งเป็นกรมศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2430

ระยะที่ 4 ปรับปรุงการโรงเรียน (New Education System Reorganization) ตั้งแต่ พ.. 2430 มีการจัดตั้งกรมศึกษาธิการ และยกขึ้นเป็นกระทรวง ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงระบบการศึกษาแบบใหม่ที่มีเสถียรภาพมั่นคงนับตั้งแต่นั้นมา

สำหรับกระบวนการในแต่ละระยะดังที่กล่าวมาของการปฏิรูประบบการศึกษาไทย จะมีรายละเอียดดังนี้

ระยะที่ 1 พ.ศ. 2411 – 2414 ก่อนการจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก

จุดเริ่มต้นของโรงสอนทหาร (โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก)

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 – มีการตั้ง “ทหารสองโหล” โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่เฝ้าพระฉาก ไปทำหน้าที่เป็นทหารมหาดเล็ก จำนวน 1 หมู่ ซึ่งประกอบด้วยทหารมหาดเล็ก 24 คน จึงเรียกว่า “ทหารสองโหล” (ในเอกสารระบุว่าทหารมหาดเล็กชุดนี้ ถือปืนชไนเดอร์) มีผู้บังคับหมู่ 1 คนชื่อนายเจียม มหาดเล็กข้าหลวงเดิม ที่ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระพรหมประสาทศิลป

มหาดเล็กเป็นตำแหน่งขุนนางฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์ ไม่เคยฝึกหัดวิชาทหาร จึงให้นายดาบเล็กจากกรมทหารหน้านายหนึ่งมาเป็นครูฝึกหัดทหารแบบยุโรปให้กับมหาดเล็ก 24 คน เหมือนกับทหาร จึงเป็น “หมู่ทหารมหาดเล็กสองโหล” ขึ้นมาจริงจัง 1 หมู่ โดยนายดาบเล็กจากกรมทหารหน้า จะทำหน้าที่ครูสอนวิชาทหารในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาเมื่อมหาดเล็กมีจำนวนมากขึ้น จึงตั้งโรงสอนวิชาทหารในกรมทหารมหาดเล็ก อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังโรงสอนวิชาทหารดังกล่าว ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นโรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก รวมอยู่ในราชการทหารมหาดเล็ก เป็นโรงเรียนสอนวิชาทหารอย่างเดียว ไม่มีวิชาสามัญ

ตั้งโรงสอนทหารมหาดเล็ก

.. 2413 – กำเนิดกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

หลังเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเมืองสิงคโปร์และเมืองเบตาเวียแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มทดลองจัดราชการอย่างใหม่แบบตะวันตกขึ้น ใน “ทหารสองโหล” (นับเป็นการทดลองจัดตั้งระบบราชการแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก) ทรงยกกอง “ทหารสองโหล” ขึ้นเป็น “กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” มีการเพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็ก โดยคัดเลือกมหาดเล็กที่เป็นข้าราชการหนุ่ม ๆ จำนวน 72 คน มารวมกับทหารมหาดเล็ก 2 โหล ตั้งเป็นกองทหารกองหนึ่ง เรียกว่า “กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ด้วยพระองค์เอง และมีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง – ชูโต) จางวางมหาดเล็ก เป็นนายพันโท ตำแหน่งรองผู้บังคับการกองฯ

ซึ่งพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง – ชูโต) ได้จัดให้ครูฝึกจากกรมทหารหน้า มาฝึกทหาร แต่เนื่องจากต้องฝึกมหาดเล็กหนุ่ม ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการสันนิษฐานว่า พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง- ชูโต) จางวางมหาดเล็ก จึงคิดจัดตั้ง “โรงสอนทหาร” เพื่อความสะดวกเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

กำเนิดแบบเรียนหนังสือไทย

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.. 2414

ขุนสารประเสริฐ (น้อย อาจารยางกูร) ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ได้คิดแบบเรียนหนังสือไทยในอัตราเก่า ทูลเกล้าฯ ถวาย ได้แก่

            1) มูลบทบรรพกิจ
            2) วาหะนิตินิกร
            3) อักษรประโยค
            4) สังโยคพิธาน
            5) พิศาลการันต์

ระยะที่ 2 พ.ศ. 2414 – 2428 ทดลองจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก

พระบรมราชโองการ “ประกาศเรื่องโรงเรียน”

วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.. 2414 (ปีมะแม ตรีศก)

มีพระบรมราชโองการ “ประกาศเรื่องโรงเรียน” ความว่า …

“… ให้ประกาศแก่หม่อมเจ้า หม่อมราชวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งได้นำบุตรทูลเกล้าฯ ถวายให้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในกรมมหาดเลกบ้าง ในกรมทหารมหาดเลกรักษาพระองค์บ้าง มีเปนอันมาก บันดาที่เข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่นั้น ที่ยังไม่รู้หนังสือไทยแลขนบธรรมเนียมราชการโดยมาก ที่รู้อยู่บ้างแต่ยังใช้อักษรเอกโทแลตัวสกดผิด ๆ ไม่ถูกต้องตามแบบอย่างก็มีอยู่มาก แลการรู้หนังสือนี้ก็เปนคุณสำคัญข้อใหญ่ เปนเหตุจะให้ได้รู้วิชาแลขนบธรรมเนียมต่าง ๆ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโรงสอน ขึ้นไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง แล้วจัดคนในกรมอาลักษณ์ ตั้งให้เปนขุนนางพนักงานสำหรับ เปนครูสอนหนังสือไทย แลคิดเลข ขนบธรรมเนียมราชการ ครูนั้นจะให้สอนโดยอาการเรียบร้อย ไม่ให้ด่าตีหยาบคาย ถ้าท่านทั้งปวงได้ทราบหมายประกาศนี้แล้ว จงมีใจยินดีหมั่นตักเตือนบุตรหลานของท่านทั้งปวงให้เข้ามาฝึกหัดหนังสือไทยถ้าเล่าเรียนได้ชำนาญในการหนังสือแล้ว ความดีงามความเจริญก็จะมีแก่บุตรหลานของท่านทั้งปวง ...”

ตั้งโรงเรียนหลวง

.. 2414 มีการตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

  1. โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาความรู้ต่าง ๆ ด้วยภาษาอังกฤษ อยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็ก มีครูฝรั่งชื่อ ฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์ซัน โดยครูฝรั่งจะแต่งเครื่องยศทหารมหาดเล็ก แต่เปิดได้เพียงปีเดียวก็เลิกไป เพราะไม่มีผู้สมัครเรียน
  2. โรงเรียนสอนภาษาไทย เป็นโรงเรียนที่สอนวิชาความรู้ต่าง ๆ ด้วยภาษาไทย อยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็กเช่นกัน มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐเป็นครู ในเบื้องต้นมีผู้สมัคร 10 คน ต่อมาภายหลังมีพระบรมวงศานุวงศ์บุตรหลานราชตระกูล ขุนนาง มาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้กันมาก เมื่อเรียนจบแล้ว ก็มักเข้ารับราชการที่กรมทหารมหาดเล็ก หรือกรมอื่น ๆ

โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก

พ.ศ. 2414 โปรดให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง- ชูโต) รองผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จัดการฝึกทหารให้กับ “มหาดเล็ก” 2 กองร้อย จำนวน 176 คนให้เป็น “ทหารมหาดเล็ก” และภายในปีเดียวกันได้ขยายเป็น 6 กองร้อย กองร้อยละ 88 คน รวมจำนวนราว 528 คน โดยมีการสันนิษฐานว่าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง- ชูโต) ได้ใช้ “โรงสอนทหารทหารมหาดเล็ก” เป็นสถานที่ฝึกสอน และเมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก “โรงสอนทหารมหาดเล็ก” จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก”

โดย “โรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก” จัดอยู่ในราชการทหารมหาดเล็ก มีหน้าที่ฝึกสอนเฉพาะวิชาทหารเพียงอย่างเดียว ไม่ได้จัดเป็นราชการโรงเรียน ไม่มีการสอนวิชาสามัญจึงไม่ได้รวมอยู่ในบัญชีรายชื่อโรงเรียนต่างๆ ของแผนกโรงเรียน

อาจารย์สอนหนังสือไทย และสอนเลขทุกพระอาราม

วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จางวางกรมพระธรรมการมีหมายไปถึงพระราชาคณะและพระครูถานานุกรมเปรียญ ที่ได้รับนิตยภัตร์ในวัดเดิม วัดที่ขึ้นกับคณะวัดบวรนิเวศ คณะใต้ คณะเหนือ คณะกลาง ว่า บิดามารดาที่ประสงค์ให้บุตรหลานของตนเล่าเรียนหนังสือ ตามแบบอย่างแต่ก่อน จึงพาบุตรหลานไปฝากฝังเป็นศิษย์วัด เด็กบางคนก็มีปัญญาเล่าเรียนก็ได้เรียน เด็กบางคนเกียจคร้านมัวแต่เล่น พระสงฆ์จะเฆี่ยนตีก็เกรงใจบิดามารดา “นึกเสียว่าจะมิรู้ก็ช่างเปนไร” มีพระราชดำริว่า “สืบไปภายหน้ากุลบุตร์ผู้ที่จะเรียนรู้หนังสือไทยลายมือ แลกระบวนเลขเสื่อมสูญไปสิ้น”

จึงมีพระบรมราชราชโองการสั่งให้พระราชาคณะและพระครูถานานุกรมเปรียญที่ได้รับนิตยภัตร์ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือไทย กระบวนเลขโหร และเลขตลาดตามแบบเก่า ซึ่งการสอนหนังสือไทย และกระบวนเลขโหร และเลขตลาดตามแบบเก่า หมายถึง การสอนตามแบบโบราณที่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเดิมพระภิกษุสงฆ์จะสอนวิชาให้แก่ผู้ใดก็ได้ หรือไม่สอนก็ได้ จึงมีพระบรมราชโองการประกาศเป็นกฎหมายให้พระภิกษุสงฆ์ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 นับตั้งแต่นั้นวัดจึงเป็นสถานที่สอนหนังสือแบบเก่า ตามที่กฎหมายกำหนด

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ได้มีการจัดตั้งเป็นโรงเรียนพระอาราม ที่มีระบบการสอนแบบใหม่ โดยเริ่มใน 30 ตำบลก่อนเพื่อทดลอง เมื่อประสบความสำเร็จ จึงให้ตั้งโรงเรียนพระอาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีระบบตะวันตกทุกตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2429

ตั้งการสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ ณ ศาลาหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พ.ศ. 2425 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ทรงเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ จัดการตั้งการสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ ณ ศาลาหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ซึ่งต่อมายกระดับขึ้นเป็น “มหาธาตุวิทยาลัย”

ในตอนต่อไป ฤๅ จะพาไปพบกับ ขั้นตอนการปฏิรูปโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่มีการขยายปรับปรุงระบบการศึกษาไทยครั้งใหญ่ออกไปสู่หัวเมือง จนเกิดรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ที่ชัดเจน จนสามารถจัดตั้งเป็นกรมศึกษาธิการได้ในที่สุด

เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 2

ที่มา :

[1] กระทรวงกลาโหม, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. ตำนานกรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2464, พิมพ์ครั้งที่ 2 พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, พ.ศ. 2466, หน้า 3
[2] ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร, หลักภาษาไทยเล่ม 1
[3] “ประกาศเรื่องโรงเรียน” ราชกิจจานุเบกษา 1 จ.ศ. 1236, หน้า 257
[4] ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร, หลักภาษาไทยเล่ม 1
[5] โปรดเกล้าฯ จะให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทย แลสอนเลขให้ทุก ๆ พระอาราม, ปัญจมรัชและฉัฐราชกับการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ : บริษัทพริกหวานกราฟฟิค, 2553 หน้า 8-9