จาก ‘วังหน้า’ สู่ ‘สยามมกุฎราชกุมาร’ เกร็ดน่ารู้ของตำแหน่งรัชทายาทแห่งพระราชบัลลังก์

พระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” คือ พระอิสริยยศของสมเด็จพระบรมราชโอรส ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภิเษกสถาปนาให้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบพระราชสันตติวงศ์

ซึ่งพระอิสริยยศนี้ในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” ซึ่งใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร นั้น ตำแหน่ง “วังหน้า” แต่เดิมเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช ศักดินา 100000 มีการสถาปนาตำแหน่งนี้ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระเพทราชาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล”

ในสมัยโบราณ ตำแหน่งวังหน้ามีหน้าที่ในการเสด็จไปปฏิบัติราชการสงครามตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ เตรียมการป้องกันพระราชอาณาเขต เช่น ควบคุมดูแลการสร้างป้อมปราการ ดูแลจัดการการทหาร และปฏิบัติราชการตามรับสั่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นรัชทายาทที่จะมีโอกาสได้สืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ เว้นเสียแต่จะมีพระบรมราชโองการเป็นอย่างอื่น และไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าผู้ใดจะได้ดำรงตำแหน่งนี้ แต่เท่าที่ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ก็มีทั้งผู้ที่เป็นพระอนุชาและพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่มักเป็นพระอนุชา

ตำแหน่งวังหน้าได้มีการสถาปนาเรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งวังหน้า ออกพระนามว่า “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” จากนั้นได้พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดสลัก ปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุ ขึ้นไปจนถึงคูเมืองหรือคลองหลอดในปัจจุบัน เพื่อสร้างเป็นวังให้กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งพื้นที่วังหน้าเดิมนั้นใหญ่โตมาก กินเนื้อที่เข้าไปในครึ่งหนึ่งของสนามหลวงขณะนั้นด้วย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ของวังหน้าเช่นกัน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี ดำรงตำแหน่งวังหน้า แต่โปรดให้เพิ่มพระเกียรติยศเทียบเท่าพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ในหลวงรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้า แต่ทรงแต่งตั้ง พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ” เมื่อปี พ.ศ. 2410

จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น “วังหน้า” พระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง

ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเกียรติยศแก่ตำแหน่งวังหน้า ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีพระนามคล้ายพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดแก่ชาวต่างประเทศ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกธรรมเนียมการตั้งตำแหน่งวังหน้าเสีย แล้วกลับไปใช้แบบธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 คือให้มีราชกุมารศักดิ์สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าขึ้น แต่เปลี่ยนเรียกเสียใหม่ว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ทั้งนี้เพื่อรักษาราชประเพณีเดิมประการหนึ่ง และเพื่อให้เข้ากับธรรมเนียมที่เป็นอยู่ในนานาประเทศ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกประการหนึ่ง

ดังนั้น ตำแหน่งวังหน้าก็ได้สิ้นสุดลง และพระราชวังบวรสถานมงคลก็ไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของวังหน้านับตั้งแต่นั้นมา โดยปัจจุบันพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มาแล้ว 3 พระองค์ ดังนี้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามมกุฎราชกุมาร

มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 ขณะพระชนมายุ 9 พรรษา แต่หลังจากดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็ประชวรและเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา และต่อมาได้เสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร

พระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ว่างเว้นมานาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 8 เนื่องจากมิได้ทรงมีพระราชโอรสรัชทายาท จนกระทั่งเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 นับเป็นการสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ซึ่งต่อมาได้เสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ทั้งหมดนี้คือเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการกำหนดพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” แทนที่ตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” ในสมัยโบราณ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้เป็นรัชทายาทสำหรับสืบราชสันตติวงศ์ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า