‘แนวคิด Keynesian ที่มาก่อน Keynesian’ อุบายการคลังระดับโลกที่มาก่อนกาลของรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงได้รับการศึกษาอย่างหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะในเชิงการเมืองหรือในเชิงประวัติศาสตร์ การปฏิบัติและแนวทางทรงงานต่างๆ ของรัชกาลที่ 6 นั้นมีความแปลกใหม่และผู้ที่เคยรับราชการมาอย่างยาวนานอาจจะไม่คุ้นเคย เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ ดังนั้นความคิดความอ่านของพระองค์จึงแตกต่าง และมักจะมองอะไรต่างมุมออกไปจากผู้รับราชการเดิม

หนึ่งในประเด็นที่รัชกาลที่ 6 ทรงถูกกล่าวหาคือ พระองค์ทรงใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างสิ้นเปลืองจนเกือบจะทำให้สิ้นชาติ แน่นอนว่าการกล่าวเช่นนี้เมื่อไปดูงบประมาณในรัชสมัยของพระองค์ ใครๆ ก็คงจะพูดอย่างนั้น (แม้ว่าในงบประมาณนั้นยังแยกรายจ่ายออกมาได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นอีกในประเด็นค่าใช้จ่ายของพระองค์) อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปแล้วว่าพระองค์มักจะมองต่างมุม และนโยบายทางเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกันที่พระองค์มองต่างจากทุกคน แต่กลับสร้างผลดีจนถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในรัชสมัยของพระองค์ [1] นั้น เป็นช่วงที่สยามต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปพร้อมๆ กับความต้องการในการสร้างประเทศต่อจากรัชกาลที่ 5 อันเป็นภารกิจที่ยังไม่สำเร็จแต่ต้องใช้งบประมาณและลมปราณอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องประสบทั้งภัยจากภายนอกและความไม่เรียบร้อยภายในประเทศ การชั่งน้ำหนักในการดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม จึงจำเป็นต้องชั่งอย่างมีเหตุมีผลและตัดสินใจให้ดีเสมอ ถึงเช่นนั้นก็ตาม รัชกาลที่ 6 ทรงแน่วแน่ในการพัฒนาเศรษฐกิจแม้ว่าจะต้อง “เจ็บตัว” บ้าง ดังมีพระราชดำรัสว่า

การบ้านเองที่จะดำเนินไปโดยรวดเร็วก็ต้องยอมเสียเงินลงทุน, ถ้าแม้จะนั่งแต่คอยรักษาให้เสมออยู่เท่านั้น ก็เสมอกับถอยหลัง, เพราะเพื่อนบ้านเดินหน้าเรื่อยไป เราหยุดอยู่ ก็ย่อมจะเสมอหน้าเขาไม่ได้อยู่เอง บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องรีบคิดให้มีอุบายการคลังจึ่งจะสามารถประทังความมุ่งและเสียหายแห่งพณิชการ … นี่เปนมูลเหตุแห่งการตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้น

นั่นหมายความว่ารัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระทัยจัดตั้งกรมฯ แห่งนี้ขึ้นเพื่อช่วยให้การค้าขายและการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก้าวหน้าขึ้นในประเทศ แต่ก็ติดปัญหาหลายอย่างเพราะมีปัญหาเรื่องการขาดทุน แต่พระองค์ก็ยังยืนยันว่าเป็นประโยชน์และต้องทำ ดังที่พระองค์มีพระราชหัตถเลขว่า

รายรับของแผ่นดินหาใคร่จะพอกับรายจ่ายไม่ ต้องคิดตัดรายจ่ายเข้าหารายรับทุกๆ ปีมา เห็นว่าธรรมดาบ้านเมืองจะเจริญขึ้นก็ต้องอาไศรยแก่การเงินที่ออกเงินลงทุนไปก่อนจึงจะได้รับผลเมื่อภายหลัง เมื่อต้องมาคิดตัดรายจ่ายเข้าหารายรับอยู่ดังนี้ การบางอย่างควรทำให้สำเร็จไปโดยหวังจะได้รับผลก็ต้องงดรออยู่

กล่าวคือพระองค์ยืนยันว่าแม้จะขาดทุนก็ต้องทำ เพราะถึงการไม่เห็นผลตอนนี้แต่ย่อมต้องเห็นผลตอนหน้า พร้อมๆ ไปกับการตั้งกรมฯ นี้ขึ้นเพื่อทำหน้าที่พัฒนาการค้า พระองค์ยังได้อัดฉีดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ทั่วประเทศ แม้ว่าจะต้องประสบปัญหาทั้งค่าใช้จ่ายการสงคราม 6 ล้านบาท รวมไปถึงการต้องยกเลิกการพนันหวย ก.ข. และการค้าฝิ่นตามข้อบังคับระหว่างประเทศ อันส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างมากและขาดดุล ยังไม่นับถึงปัญหาเงินปอนด์ที่ทำให้เงินบาทผันผวนอย่างสูงอีกด้วย

แต่แม้จะต้องกัดฟันในหลายครั้งผ่านการอัดฉีดเงินจากเงินคงพระคลัง เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงิน 6 แสนบาทในการสำรวจแร่ในภาคเหนือและภาคใต้ หรือให้ใช้เงินคงพระคลัง 3 ล้านบาทก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน เมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่พระองค์มีรับสั่งให้ดำเนินการได้ลุล่วงลง โดยเฉพาะโครงการชลประทานป่าสักซึ่งอำนวยพื้นที่การเกษตรกว่า 7 แสนไร่ ทำให้สามารถเพาะปลูกได้มากขึ้น ส่งผลให้รายได้แผ่นดินกลับมาเกิดดุลอย่างมหาศาล หรือทำให้รายได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2469-2473 ได้กลับมาเป็นบวก ทำให้รัฐบาลมีเงินในการใช้เงินกู้ 5 ล้านปอนด์ได้ก่อนกำหนด โดยแทบจะไม่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดเชย

การใช้นโยบายของพระองค์ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจเพื่อเอาตัวรอดจากสภาะสงครามและเศรษฐกิจตกต่ำมาได้ซึ่งหนักหนาสาหัสอย่างยิ่งไม่แพ้สมัยรัชกาลที่ 6 และเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกรองไปแล้ว รัฐบาลคณะราษฎรก็ยังยึดนโยบายเศรษฐกิจเดิมจากระบอบเก่าเอาไว้ ซึ่ง Sir Edward Cook เองก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพด้านนโยบายเศรษฐกิจของระบอบเก่าเอาไว้ด้วย (ศึกษาได้ในงานของ เบนจามิน เอ. บัทสัน)

อุบายการคลังของพระองค์เทียบได้กับนโยบายเศรษฐกิจแบบเคนเซียน (Keynesian) กล่าวคือเป็นแนวคิดการคลังของ John M. Keynes ที่ชี้ว่า รายจ่ายของรัฐบาลสามารถเพิ่มอุปสงค์รวม (Aggregate demand) และสามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวได้ ผ่านการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลหรือรายจ่ายสูงกว่ารรายรับเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และทำให้เกิดการลงทุนตามมา ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตขึ้น [2] แต่ Keynes นั้นได้เสนอแนวคิดของเขาในช่วงหลัง พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา แต่รัชกาลที่ 6 ทรงได้ปฏิบัติมาก่อนที่แนวคิดของ Keynes จะออกมาเป็นทฤษฎีเสียอีก

รัชกาลที่ 6 ทรงสำเร็จการศึกษามาจากอังกฤษ และ Keynes เองก็เป็นคนอังกฤษ บางทีความเป็นอังกฤษของรัชกาลที่ 6 และการมีมุมมองแบบเฉพาะ น่าจะทำให้พระองค์ทรงมองอะไรที่ไปไกลกว่าคนสยามยุคเดียวกันก็ได้ และนั่นทำให้สยามรอดพ้นวิกฤตสงครามทั้งสองครั้ง และผ่านพ้นพิษเศรษฐกิจมาได้อย่างยั่งยืนยง

อ้างอิง :

[1] ข้อมูลทางประวัติศาสตร์สรุปมาจาก วรชาติ มีชูบท, เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), หน้า 209-218.
[2] Alan Coddington, Keynesian Economics (London and New York: Routledge, 1983).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า