จิ้มก้อง และบุหงามาศ บรรณาการที่มีนัยเพื่อแสดงสถานะอันต่างกันโดยสิ้นเชิงของทั้งสยามและมลายู

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ในงานว่าด้วยไทยและมลายูศึกษาจำนวนมาก มักมีช่องว่างในเรื่องการทำความเข้าใจต่อความคิดทางการเมืองของภูมิภาคแห่งนี้ หลายครั้ง ผู้ศึกษาไม่ได้เข้าใจถึงระเบียบหรือวิธีคิดแบบจารีตอย่างถ่องแท้แล้วกลับไปนำมุมมองการศึกษารัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์แบบ ‘ตะวันตก’ เข้ามาจับและอธิบายปรากฎการณ์เฉพาะในพื้นที่อย่างไม่รู้ตัวหรืออาจเพื่อปิดบัง ‘ความไม่รู้’ หรือขาดความเข้าใจต่อปรากฏการณ์เฉพาะถิ่น ทำให้งานศึกษาประเทศนี้โดยมากมักเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เรียกได้ว่าหากกลัดระดุมเม็ดแรก ‘ผิด’ เม็ดต่อ ๆ ไปก็จะ ‘ผิด’ สืบเนื่องกันไปราวกับลูกโซ่ และหากว่ามีการอ้างอิงต่อ ๆ ไปแล้วก็เท่ากับส่งต่อความเข้าใจผิด ๆ ให้แพร่กระจายในวงกว้างสืบไป

ประเด็นคลาสสิคที่มักพบเจอต่อกรณีไทย-มลายู ในการตีความผิด ๆ หรือ ‘ด่วนยัดเยียด’กระทั่งว่าทำให้ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เฉไฉไปได้แก่ การนำกรณีที่สยามได้จัดส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังกรุงจีนไปเทียบกับกรณีที่เมืองมลายูส่งบุหงามาส (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) ให้แก่สยาม ว่า 2 กรณีนี้วางอยู่บนพื้นฐานแนวคิด ‘เดียวกัน’ กล่าวคือ ไทยส่งให้จีนเพราะมองจีนเป็นลูกพี่ บรรณาการเหล่านี้จึงเป็นเสมือน ‘ของขวัญ’ และกรณีนี้ก็เป็นมุมมองเดียวกับที่มลายูมองไทยเช่นกัน น่าเสียใจที่จะบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนแทบทั้งสิ้น

ข้ออ้างคลาสสิคนี้พบได้ในงานเขียนของมลายูหลายชิ้น ตัวอย่างที่เพิ่งตีพิมพ์เร็ว ๆ นี้เช่น The Avatar of 1786 : Decolonising the Penang story (2023) ที่เขียนโดยนักวิชาการมาเลเซียชื่อ Ahmad Murad Merican ซึ่งผู้เขียนหนังสือดังกล่าวได้ยกข้อความที่อ้างต่อ ๆ กันมาจากงานเขียนของ Wan Arfah Hamzah และ Ramsy Bulan (2004) ที่กล่าวว่า ‘….ไทรบุรีไม่ใช่เมืองที่มีเอกราชเพราะคือประเทศราชของสยาม และถึงแม้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของสยาม โดยไทรบุรีจำต้องส่งบุหงามาสแก่สยามทุก ๆ 3 ปี/ครั้ง…. นี่เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างไทรบุรีกับสยาม และเป็นการยอมรับว่าสยามมีการปกครองที่เข้มแข็งและทรงอำนาจ แต่สยามเองก็ส่งบุหงามาสให้แก่กรุงจีน [กระนั้น] สยามเองก็ปกครองไปตามระเบียบและทำเนียมของตนเอง เช่นเดียวกับไทรบุรีที่ไม่เคยตระหนักว่าตนนั้นอยู่ภายใต้การบังคับในการปกครองของสยาม [1]

ผู้เขียนพบว่าข้อความข้างต้นมีปัญหา กล่าวคือไม่มีหลักฐานใดในประวัติศาสตร์บันทึกว่าสยามส่งบุหงามาสให้แก่จีน เพราะในความเป็นจริงแล้วสยามส่งไปเพียงแต่สินค้าท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับการแปรรูปในฐานะ ‘เครื่องราชบรรณาการ’ เท่านั้น [2] นอกจากนั้น การกล่าวว่าไทรบุรีไม่เคยตระหนักว่าตนอยู่ภายใต้การบังคับของสยามในทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ดังจะกล่าวต่อไป

ความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมจิ้มก้องต่อจีนและบุหงามาสของสยาม

ธรรมเนียมการจิ้มก้องของจีนนั้นวางอยู่บนพื้นฐานจักรวาลวิทยาของเอเชียตะวันออกที่ว่า เมืองจีนถือเป็นหน่วยการเมืองที่มีวัฒนธรรมทรงอิทธิพลต่อดินแดนใกล้เคียงอย่างมาก นอกจากนี้วัฒนธรรมจีนยังถือกำเนิดมาอย่างยาวนานและจักรพรรดิก็เชื่อกันว่าเป็นโอรสแห่งสวรรค์ การมองและปฏิบัติต่อเมืองขนาดเล็กใกล้- ไกลของจีนแต่ละแห่งจึงมีความแตกต่างกันมากไปตามระเบียบโลกของจีน เพราะบางเมืองจีนก็ส่งข้าหลวงไปปกครองโดยตรง แต่หลายเมืองจีนก็แทบไม่ข้องเกี่ยวกับกิจการภายในเลย สำหรับธรรมเนียมจิ้มก้องของจีนนั้นเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ราว ค.ศ. 1368-1644 และเชื่อกันว่ามีรากฐานมาจากปรัชญาขงจื้อ (Confucian) อีกด้วย แนวคิดจิ้มจ้องนี้นอกจากจีนแล้ว เวียดนามในเวลาต่อมาก็จำเริญตามจีนด้วย

สำหรับสยามจีนมองว่าไม่ต่างกับมลายูคือถือว่าเป็นเมืองชั้นนอกมาก ๆ และจีนก็หาได้เห็นว่ามีความสลักสำคัญอันใด แม้เมื่อสยามมาจิ้มก้องจีนจะได้มอบตราประทับสำคัญไว้ หากจุดประสงค์ที่แท้จริงของชนชั้นนำสยามต่อการจิ้มก้องจีนคือเรื่องของเศรษฐกิจมากกว่าการเมืองต่างหาก จะเห็นได้ว่าในตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาสยามได้ส่งเรือไปจิ้มกองจีนถี่มาก และจีนก็ได้มอบของตอบแทนแก่สยามจนเป็นที่พอใจทีเดียว

นอกจากนั้นการได้รับมอบตราประทับจากจีนเป็นเสมือน ‘ใบเบิกทาง’ ต่อประตูการค้ากับดินแดนตะวันออกทั้งปวง เพราะจีนในเวลานั้นถือกันว่าเป็นทั้งพื้นที่กระจายสินค้าจากเอเชียตอนใน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างดินแดนแผ่นดินและหมู่เกาะตะวันออกอีกด้วย นอกจากนั้นแคมเปญด้านการทหารของจีนต่อดินแดนห่างไกลเช่นสยามที่เข้ามาสวามิภักดิ์ผ่านระบบจิ้มก้องก็ไม่มีแต่อย่างใด จึงกล่าวได้ว่าสยามได้แต่ประโยชน์ล้วน ๆ หาได้เสียเกียรติหรือมองว่าตนเป็นผู้ใต้บังคับของจีนแต่อย่างใดไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม [3]

แต่สำหรับแนวคิดบุหงามาสของประเทศราชของสยามนั้นกลับแตกต่างออกไป สยามไม่ได้สนใจแนวคิดขงจื้อหรือให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่อิงกับระบบประเทศราชแต่อย่างใด หากแต่แนวคิดทางการเมืองของชนชั้นนำสยามกลับวางอยู่บนหลัก ‘พระจักรพรรดิราช’ และ ‘ธรรมราชา’ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบพุทธศาสนาที่เชื่อว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์นั้นคือผู้ทรงบารมีแลเป็นผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล แนวคิดบารมีของกษัตริย์นี้นอกจากจะวัดกันที่ความรุ่มรวยของราชสำนัก จำนวนของช้างเผือกและช้างที่ใช้ทำศึกสงคราม การมีเมืองประเทศราชเป็นเสมือนบริวารแวดล้อมก็เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญของการพิสูจน์ให้เห็นจริงของบุญบารมีดังกล่าว ดังนั้นถ้าจะย้ำให้ชัด การปฏิบัติตนของสยามต่อบรรดาประเทศราชล้วนตั้งอยู่บนหลักที่ ‘ไม่ทัดเทียม’เพราะบุญบารมีของสยามสูงส่งกว่า ด้วยเหตุนี้แนวคิดที่อ้างว่าบุหงามาสเป็นเรื่องของ ‘ของขวัญแห่งมิตรภาพ’ จึงเป็น ‘เรื่องเหลวไหล’ นอกจากนี้กษัตริย์เองก็หาได้มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์แต่อย่างใดหากจำต้องถูกทรงจำกัดพระราชอำนาจผ่าน ‘ทศพิธราชธรรม’ ซึ่งรับมาจากอินเดียอีกทอด [4]

จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่องการจิ้มก้องของจีนกับบุหงามาสผ่านระบบประเทศราชของสยามนั้น ‘แตกต่างกันอย่างมาก’ เพราะแตกต่างทั้งในเรื่องแนวคิด/ปรัชญา และตลอดถึงความเข้าใจและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างเจ้าประเทศราชและพระจักรพรรดิราช ดังตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ หากประเทศราชใดงดเว้นจากการส่งบุหงามาสตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว สยามจะดำเนินการทางทหารอย่างรุนแรงซึ่งการแก้เผ็ดเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งการสูญเสียและล่มสลายของเมืองเลยก็ได้ (เช่นที่ปัตตานีเคยประสพ) การไม่มีความรู้เรื่องเบื้องหลังแนวคิดทางการเมืองของสยาม จีน และมลายูดีพอ เป็นเหตุให้นักวิชาการจากโลกมลายูหลายคนกระทั่งนักวิชาการตะวันตกทึกทักไปเองว่าสถานะของสยามและไทรบุรีนั้น ‘เท่าเทียมกัน’ จนสามารถตีความได้ว่าบุหงามาสเป็น ‘เครื่องหมายแห่งมิตรภาพ – tanda sa’pakat dan bersahabat’ (token of alliance and friendship) ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการยอมรับอำนาจทางการเมืองของสยามล้วน ๆ เพราะหากเอาประเด็นเรื่องบุหงามาสออกไป กิจกรรมทางการเมืองอื่น ๆ ที่สำแดงถึงการสวามิภักดิ์ต่อสยามตามแนวคิดเจ้าประเทศราช อาทิ การส่งทหารมาช่วยในสงคราม ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจ้าประเทศราชนั้น ‘ย่อมรู้ตำแหน่งแห่งที่และทำเนียมที่ตนจะต้องปฏิบัติต่อสยาม’ เป็นอย่างดี

อ้างอิง :

[1] Ahmad Murad Merican . The Avatar of 1786 : Decolonising the Penang story. (2023). Pp. xvii
[2] Kobkua Suwannathat-Pian. Thai-Malay Relation.(1988). Pp. 57.
[3] ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติม ใน กรมศิลปากร. ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง (2564).; Kobkua Suwannathat-Pian. Thai-Malay Relation.(1988). และ สืบแสง พรหมบุญ. ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ. 1282-1853. (2525). 
[4] ผู้สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติม ใน สมเกียรติ วันทะนะ โลกที่คิดว่าคุ้นเคย ? : ความคิดทางการเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893-2310. (2561). และ สมบัติ จันทรวงศ์และชัยอนันต์ สมุทรวาณิชย์. ความคิดทางการเมืองและสังคมไทย. (2523).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า