สรุปเหตุการณ์ตุลาเลือด มูลเหตุ ชนวน มวลชน และบทยุติของทั้งสองเหตุการณ์แตกต่างกันอย่างไร ?

แม้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 จะมีความเกี่ยวเนื่องกันจากชัยชนะของพลังนักศึกษาและประชาชนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้กลุ่มนักศึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในแง่สังคมและการเมืองในเวลาต่อมา จนนำไปสู่การรวมตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2519

ทว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งสองเหตุการณ์กลับมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องของเงื่อนไขและบริบทของการชุมนุม รวมไปถึงบทสรุปของเหตุการณ์ดังกล่าว

14 ตุลาคม 2516 เกิดจากการต่อต้านอำนาจเผด็จการของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จนเกิดการรวมตัวกันของทุกภาคส่วนในสังคม มีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในวันที่ 14 ตุลาคม โดยกำลังตำรวจและทหาร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่สุดท้ายเหตุการณ์ได้คลี่คลายลง โดยจอมพลถนอมและจอมพลประภาสได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ ท่ามกลางชัยชนะของนักศึกษาและประชาชน

6 ตุลาคม 2519 เป็นการชุมนุมของนักศึกษาเพื่อต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม บวกรวมกับการสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของนักศึกษาในยุคนั้น (ซึ่งในช่วงเกือบสิบปีก่อนหน้า มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องเสียชีวิตจากฝีมือ ผกค. เป็นจำนวนมาก) ในขณะที่มวลชนฝั่งขวาก็มีการปลุกระดมและเกิดเป็นกลุ่มจัดตั้งขึ้น จนนำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาในธรรมศาสต์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองเหตุการณ์นี้ คือ บทบาทของในหลวง ร.9 และพระราชวงศ์ ในการระงับความแตกแยกในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในวันที่ 14 ตุลาคม จนทำให้เหตุการณ์ยุติลงด้วยดีเพราะพระบารมีของในหลวง ร.9 หรือบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่ทรงมีพระประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกัน

สิ่งเหล่านี้คือบทบาทอันสำคัญของในหลวง ร.9 และพระราชวงศ์ ในทุกเหตุการณ์วิกฤติของชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 หรือ พฤษภาคม 2535 ที่ได้ทรงให้คำแนะนำ และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเหมาะสม เพื่อยุติความขัดแย้งของคนไทย และให้ทุกฝ่ายรอมชอมกัน เพื่อให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้ด้วยดี