ต้นฉบับลึกลับของหนังสือเบิกเนตร เงื่อนงำที่อาจนำไปสู่การเปิดเผยความจริงว่า ผู้เขียน ‘กงจักรปีศาจ’ คือคนไทย

หลายครั้งที่บรรดานักวิชาการฝ่ายซ้ายชอบออกมาให้ข้อมูลว่า การพูดถึงกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 คือเรื่องต้องห้ามของสังคมไทย ซึ่งข้อมูลของนักวิชาการเหล่านี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับโฆษณาชวนเชื่อ เพราะในความเป็นจริง กรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 ถูกนำมาพูดและเขียนถึงอย่างทะลุปรุโปร่งในหนังสือวิชาการหลายๆ เล่ม และมีการเขียนถึงอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา โดยมีการอ้างอิงด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถสืบค้นได้ ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆ หรืออ้างคำพูดของบุคคลนิรนามที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

หนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตเล่มแรกๆ ที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ “กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489” ของ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย หรือหนังสือเรื่อง “ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์” ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ และอีกเล่มคือ “คดีประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กรุงสยาม

หนังสือเหล่านี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการพิมพ์ออกวางตลาดและพิมพ์ซ้ำอีกเป็นจำนวนหลายหมื่นเล่ม

หรือแม้แต่หนังสือที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มแรกอย่าง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต” ของ สุพจน์ ด่านตระกูล ที่มีการชี้นำ กล่าวโยงไปถึงในหลวง ร.9 ก็ได้รับการพูดถึงอย่างมากเช่นกัน โดยหนังสือของ สุพจน์ฯ มีการเอาข้อเท็จจริงในกรณีสวรรคตมาอภิปรายอย่างออกรส (ส่วนความน่าเชื่อถือนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) รวมทั้งมีการนำข้อเท็จจริง เช่น ความเห็นแย้งของผู้พิพากษา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี หรือข้อสังเกตที่เกิดจากพยานแวดล้อมมาอภิปรายด้วย

ซึ่งถ้าจะเทียบระหว่างหนังสือ “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต” ของ สุพจน์ ด่านตระกูล กับ “Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand” ของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่เพิ่งวางขายเมื่อไม่นานมานี้ เรียกได้ว่าเป็น “มวยคนละชั้น” เลยทีเดียว เพราะหนังสือของสุพจน์ฯ ใช้วิธีการเขียนที่แยบยลและมีชั้นเชิงมากกว่าหนังสือของปวินฯ ซึ่งมีแต่หลักฐานอ้างอิงที่ไม่น่าเชื่อถือ

จากรายชื่อหนังสือที่กล่าวมา จะเห็นว่า การพูดหรือเขียนถึงกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามในสังคมไทยเลย ถ้าทำกันในเชิงวิชาการที่มีหลักฐานอ้างอิงเชื่อถือได้ เพียงแต่ในปัจจุบัน หนังสือเหล่านี้กลับถูกกาลเวลากลืนกินสูญหายไปหมด และหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงไม่กี่เล่มเท่านั้น

และในห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ มีประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ การพร้อมใจกันปรากฏขึ้นของหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาด หรือเหตุบังเอิญไม่ทราบได้ เพราะช่วงกลางปี พ.ศ. 2517 (ไม่ถึงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) จู่ๆ ตลาดหนังสือในกรุงเทพฯ ก็เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 เต็มไปหมด

โดยสำนักข่าวสมัยนั้นได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การแพร่หลายของหนังสือกรณีสวรรคต เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับช่วงเวลาเลือกตั้งนั่นเอง นั่นหมายความว่า มีนักการเมืองนำประเด็นนี้มาใช้ต่อสู้ห้ำหั่น สร้างประโยชน์เพื่อขึ้นสู่อำนาจกันอย่างครึกโครม

และท่ามกลางสงครามหนังสือสวรรคตของทั้งสองฝั่งนี้เอง อยู่ดีๆ ก็มีหนังสือเล่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาใจกลางสมรภูมินี้ด้วย นั่นคือหนังสือ “กงจักปีศาจ” หรือ The Devil’s Discus ของ เรย์นี ครูเกอร์ (Rayne Kruger) และกลายเป็นประเด็นร้อนแรงจนกลายเป็นหนังสือต้องห้ามไป ซึ่งสมัยนั้น อย่าว่าแต่จะมีโอกาสได้อ่านเลย คนที่เห็นฉบับเป็นเล่มก็แทบจะนับคนได้

และทีมงาน ฤๅ ได้เคยวิเคราะห์ไปก่อนหน้านี้แล้วในบทความ กะเทาะเปลือกผู้เขียน “กงจักรปีศาจ” นิยายบิดเบือนกรณีสวรรคตของ รัชกาลที่ 8 ถึงความผิดปกติของหนังสือเล่มนี้ว่า Rayne Kruger ซึ่งเป็นฝรั่งที่ไม่เคยมาเมืองไทยเลย แต่กลับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ทุกอย่างของสยามและของราชวงศ์ไทยได้อย่างละเอียดยิบ จนเอาไปเขียนหนังสือเป็นเล่มๆ ได้ แถมตอนที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในอังกฤษ ปรีดี พนมยงค์ ก็มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นด้วย ยังไม่รวมถึงผู้แปล “กงจักรปีศาจ” เป็นภาษาไทยคือ “เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช” ซึ่งเป็นพี่ชายของ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขาฯ คนสนิทของปรีดี พนมยงค์ อีกด้วย และประเด็นสำคัญคือ ปรีดี พนมยงค์ ได้ใช้กงจักรปีศาจฉบับแปลไทย ยื่นรวมในสำนวนคดี ในฐานะเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องร้อง ในคดีหมิ่นประมาทกับบริษัทสยามรัฐ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์

ทั้งหมดนี้คือความสัมพันธ์กันอย่าง “บังเอิญ” ของหนังสือ กงจักรปีศาจ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น ซึ่งต่อมาหนังสือต้องห้ามเล่มนี้ได้ค่อยๆ เงียบหายไป จนกลับมาโผล่อีกครั้งในปัจจุบันในฐานะหนังสือเบิกเนตร

และมีข้อมูลซึ่งหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ว่า ได้มีการพบ “กงจักรปีศาจ” ฉบับโรเนียวในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าอย่างบังเอิญ มีลักษณะเป็นเอกสารโรเนียวบนกระดาษยาวขนาดกระดาษฟุลสแก๊ปหน้าเดียว จำนวน 235 หน้า โดยที่หน้า 1-3 หายไป

แต่เรื่องที่น่าสนใจมันอยู่ที่ เอกสารฉบับนี้ถูกเย็บใส่ปกแข็ง โดยเจ้าหน้าที่ของห้องสมุดได้เขียนชื่อของเอกสารไว้ที่หน้าปกและในบัตรรายการว่า “พระชนม์ชีพและการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” โดย ลิขิต ฮุนตระกูล

เมื่อมีการเปรียบเทียบหนังสือ “พระชนม์ชีพและการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” โดย ลิขิต ฮุนตระกูล และ “กงจักรปีศาจ” โดย Rayne Kruger พบว่าคืองานชิ้นเดียวกัน โดยตัวเอกสารโรเนียวนี้ สันนิษฐานว่าคือต้นฉบับก่อนพิมพ์เป็นเล่ม เพราะตอนท้ายสุดของเอกสารมีรายชื่อ “บุคคลสำคัญในเรื่องบางคน” อยู่ด้วย ซึ่งตรงตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ในฉบับพิมพ์เล่มแปลไทยไม่มี

ลิขิต ฮุนตระกูล เป็น “ผู้เขียน” หนังสือต้นฉบับที่มีเนื้อหาเหมือนกงจักรปีศาจได้อย่างไร? ลิขิต ฮุนตระกูลคือใคร? ไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าเขาเคยเขียนหนังสือ 1 เล่ม ที่สามารถสืบค้นได้ในห้องสมุด ชื่อเรื่อง “ประวัติการสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทยและชนชาติจีน แต่ยุคโบราณจนถึงสมัยชาติไทยได้มาตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งประเทศไทย” โดยหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2494 (หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง 2 ปี) และถูกตีพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาทั้งในภาษาไทย, จีนและอังกฤษ

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใด กงจักรปีศาจ ฉบับโรเนียวนี้จึงมาอยู่ภายใต้ชื่อ “ลิขิต ฮุนตระกูล” แทนที่จะเป็น “Rayne Kruger” หรือถ้าเป็นผู้แปลก็ควรต้องระบุชื่อ “เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช” แม้จะมีความพยายามค้นหาต้นตอจากบันทึกที่มีอยู่ของห้องสมุด แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกไม่ได้ว่า ทำไมเอกสารดังกล่าวจึงตกมาอยู่ในครอบครองของห้องสมุด และทำไมจึงอยู่ภายใต้ชื่อ “ลิขิต ฮุนตระกูล”

ข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และควรนำไปศึกษาค้นคว้ากันต่อ เพื่อตอบคำถามที่ว่า Rayne Kruger เป็นผู้เขียน กงจักรปีศาจ จริงหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ แล้วผู้เขียนตัวจริงคือใคร?

ในส่วนของบุคคลที่เป็นผู้จุดประกาย และเป็นบุคคลแรกที่ตีแผ่ประเด็นการค้นพบต้นฉบับลึกลับของ กงจักรปีศาจ คือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่ง สมศักดิ์ฯ ได้โพสต์เรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดใน blog ส่วนตัวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงสาเหตุของกรณีสวรรคต ทฤษฎี “อุปัทวเหตุโดยสมเด็จพระอนุชา” ที่หนังสือ กงจักรปีศาจ พยายามนำเสนอ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจอะไรทั้งนั้น เพราะในหนังสือของสรรใจและวิมลพรรณเองก็มีการนำมาอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาไม่น้อยกว่า กงจักรปีศาจ เลย

ความน่าตื่นเต้นจริงๆ ของกงจักรปีศาจ กลับไม่ใช่ข้อสันนิษฐานกรณีสวรรคต หากแต่เป็น plot เรื่องความสัมพันธ์ของในหลวง ร.8 กับเพื่อนหญิงชาวสวิสที่ชื่อ มารีลีน เฟอร์รารี ที่ถูกเขียนขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีหลักฐานสนับสนุนแม้แต่คำบอกเล่า ทำให้ประเด็นหลักของกงจักรปีศาจ กลายเป็นประเด็นอ่อนและขาดความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย

ซึ่งสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ต่างจาก “นิยาย” ที่เขียนขึ้นมาเพื่อพยายามชี้นำสาเหตุการสวรรคตของในหลวง ร.8 โดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเลย … ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลก ที่บางคนกลับใช้หนังสือเล่มนี้มาเบิกเนตรตัวเอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า