‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ บิดเบือนหลักฐาน โยงรัฐประหารว่าเป็น ‘ความต้องการ’ ของสถาบันพระมหากษัตริย์

ทุ่นดำ-ทุ่นแดง กับ การตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ กรณี “วันใหม่ของชาติ” และความยินดีของพวกรอยัลลิสต์ต่อการรัฐประหาร พ.ศ. 2490
ที่มา : Facebook Post Chaiyan Chaiyaporn 29 มีนาคม 2565

กรณีที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง จะกล่าวถึงในตอนนี้ แม้จะเป็นกรณีสั้นๆ แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่เมื่อผู้เขียนงานวิชาการ นำเอกสารหรือบันทึกส่วนบุคคลมาใช้ในการประกอบการอ้างอิง/สนับสนุนทฤษฎีของตนอย่างไม่เหมาะสม แล้วอาจนำไปสู่การทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด (misleading) อย่างจงใจจนเกิดความรู้สึกในแง่ลบหรือเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นได้ (ในที่นี้คือ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร หรือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ)

กรณีนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง หน้าที่ 83 โดย ณัฐพลฯ ได้บรรยายเอาไว้ด้วยสำนวนของตนเองว่า …

“ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้สร้างความพอใจให้กับพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์เป็นอย่างมาก”

ซึ่งข้อความนี้ ณัฐพลฯ ได้ระบุอ้างอิงในเชิงอรรถที่ 51 ทั้งนี้ ณัฐพลฯ ได้ขยายความเชิงอรรถต่อว่า …

“(กรมหมื่น) พิทยลาภพฤฒิยากร (2512, 118) ทรงเรียกขานการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ว่า ‘วันใหม่ของชาติ’”

นอกจากใน “ขุนศึก ศักดินาฯ” แล้ว ณัฐพลฯ ยังได้นำประเด็นเดียวกันนี้ ไปเขียนเป็นบทความภาคภาษาอังกฤษของเขาเรื่อง “The Monarchy and the Royalist Movement in Modern Thai Politics, 1932-1957” ในหนังสือชื่อ Saying The Unsayable (2010) เพื่อขยายผลคำอธิบายอย่างบิดเบือนนี้ออกไปให้กว้างในโลกวิชาการระหว่างประเทศอีกด้วย

ดังปรากฏข้อสำนวนภาษาอังกฤษอย่างเผ็ดร้อนในหน้า 166 ข้อความต้นฉบับที่ ณัฐพลฯ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ คือ …

“Prince Dhani perceived that political atmosphere allowed the king and royalists to return to political power.” (ณัฐพลฯ อ้างหน้า 115)

แปลเป็นไทยได้ว่า “พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงมองว่า บรรยากาศทางการเมืองเปิดให้พระมหากษัตริย์และพวกรอยัลลิสต์กลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง”

และอีกหนึ่งข้อความต้นฉบับที่ ณัฐพลฯ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ คือ …

“Prince Dhani called the political atmosphere and the opportunity that arose after the defeat of Pridi, one of the greatest enemies of the royalists, ‘the nation’s new day’.” (ณัฐพลฯ อ้างหน้า 118)

แปลเป็นไทยได้ว่า “พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงเรียกขานบรรยากาศทางการเมืองและโอกาสที่ได้เกิดขึ้น หลังจากการพ่ายแพ้ของปรีดี, ผู้เป็นหนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของพวกรอยัลลิสต์ ว่า ‘วันใหม่ของชาติ’”

จากข้อความข้างต้น พวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) จึงได้ทำการพิจารณาข้อความดังกล่าวจากผลงานทั้ง 2 ชิ้นของณัฐพลฯ (สองชิ้นที่ว่านี้ คือ หนังสือ “ขุนศึก ศักดินาฯ” และ “The Monarchy and the Royalist Movement in Modern Thai Politics, 1932-1957”

และพบข้อพิรุธและการบิดเบือนจำนวน 2 แห่ง ดังต่อไปนี้

1. กรณี “วันใหม่ของชาติ”

ณัฐพลฯต้องการที่จะยืนยันว่า รัฐประหาร พ.ศ. 2490 คือความสำเร็จของรอยัลลิสต์ โดยใช้บันทึกของพระองค์เจ้าธานีฯ หรือ กรมหมื่นพิทยลาภฯ มาเป็นหลักฐานยืนยัน โดยงานที่ณัฐพลฯ อ้างอิง คือ หนังสือ “เจ็ดรอบอายุกรมหมี่นพิทยลาภพฤฒิยากร” (พิมพ์ครั้งแรกปี 2512) เป็นหลักฐานอ้างอิงเพียงฉบับเดียว

แต่เมื่อทำการตรวจสอบเอกสารชิ้นดังกล่าวของพระองค์เจ้าธานีฯ แล้ว พบว่า ทรงกล่าวถึงคำว่า “วันใหม่ของชาติ” ไว้จริง แต่ทรงมิได้มีความรู้สึกยินดีต่อการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 แต่อย่างใด

กลับกัน พระองค์เจ้าธานีฯทรงได้บรรยายความลำบากพระทัย ในการที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่กรมขุนชัยนาทฯ ได้ยื่นพระนามของพระองค์ไปก่อนหน้านี้ ดังข้อความว่า …

“ได้ไปเฝ้ากรมขุนชัยนาทฯ ทูลถามว่า นี่ฝ่าพระบาททรงเซ็นไว้ใช่ไหม ท่านว่า เซ็นไว้แล้ว แกจะว่าอย่างไรหรือ ได้ทูลว่า เมื่อได้ทรงเซ็นเปิดเผยไปแล้วก็ไม่ว่ากระไร แต่ทูลว่าจะทรงใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้น พ่อไม่ขัดรับสั่งได้ แต่จะตรัสสอบถามความสมัครสักหน่อยก็ไม่ได้ ท่านตอบว่าถ้าถามแกก็ไม่เอาเท่านั้น แล้วฉันก็จะลำบาก พ่อนั่งนิ่งอยู่ด้วยความไม่พอใจ ท่านเสด็จลุกมากอดแล้วตรัสว่า แกกับฉันรักกันมานมนานตั้งแต่ยังไว้จุกอยู่ด้วยกัน คราวนี้ฉันขอให้ช่วยสักทีเถิด”

จะเห็นได้ว่า กรณีการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “วันใหม่ของชาติ” ตามที่ณัฐพลฯ พยายามผูกโยงเลย และที่สำคัญคือ ณัฐพลฯ น่าจะอ่านงานเขียนของพระองค์เจ้าธานีฯ ไม่แตกฉานเสียมากว่า

เพราะแท้จริงแล้ว ในความหมายของ “วันใหม่ของชาติ” นั้น พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงหมายถึงช่วงที่ประเทศไทยกลับมามีพระมหากษัตริย์อย่างสมพระเกียรติยศอีกครั้ง (ยุครัชกาลที่ 9)

ไม่ใช่วันใหม่เพราะเกิดการรัฐประหาร !

ดังข้อความบทก่อนหน้า “วันใหม่ของชาติ” ที่ระบุถึงการที่ “แสงเงินแสงทอง” ได้จางหายไป (หมายถึงกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ) ซึ่งมีการกล่าวถึง “แสงสุริยาทิตย์” (หมายถึงรัชกาลที่ 9) ว่าจะฟื้นคืนชะตาของชาติได้หรือไม่

ถ้าท่านผู้อ่านไม่เชื่อพวกเรา ก็ขอให้หาหนังสือ “เจ็ดรอบอายุกรมหมี่นพิทยลาภพฤฒิยากร” มาอ่านประกอบ แล้วจะพบว่าในบท “วันใหม่ของชาติ” นั้นขับเน้นพระเกียรติยศ ความสง่างาม พระบารมี และความรักที่พสกนิกรทั่วประเทศมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ดุจดัง “แสงสุริยาทิตย์” ที่ทำให้เกิด “วันใหม่ของชาติ” ไม่ใช่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ตามที่ณัฐพลฯ อ้างเลย

ไม่น่าเชื่อว่าณัฐพล ใจจริง จะตีความการเปรียบเปรยอย่างผิดๆ ไปไกลตามนโมนึกได้เช่นนี้

2. กรณีความยินดีของพวกรอยัลลิสต์ต่อการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

จากข้อความที่ณัฐพลฯ ระบุว่า …

“ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้สร้างความพอใจให้กับพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์เป็นอย่างมาก” (ขุนศึก ศักดินาฯ หน้า 83)

และ …

“พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงมองว่า บรรยากาศทางการเมืองเปิดให้พระมหากษัตริย์และพวกรอยัลลิสต์กลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง”

(Prince Dhani perceived that political atmosphere allowed the king and royalists to return to political power.) (ข้อความจาก “The Monarchy and the Royalist Movement in Modern Thai Politics, 1932-1957” ของ ณัฐพลฯ หน้า 166)

ทั้ง 2 ข้อความนี้เมื่อตรวจสอบจากหนังสือ “เจ็ดรอบอายุกรมหมี่นพิทยลาภพฤฒิยากร” แล้ว เรากลับไม่พบข้อความอะไรที่จะบ่งบอกนัยความรู้สึกอันพึงพอใจของพวกรอยัลลิสต์ตามที่ณัฐพลฯ สมอ้างเลย

งานของพระองค์เจ้าธานีฯ เล่มดังกล่าวกลับพูดถึงความรู้สึกภูมิใจในสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลตลอดทั้งเล่ม และไม่ได้กล่าวถึง “นัยแอบแฝง” (hint) ของความยินดีปรีดาของพระองค์ที่ได้รับอำนาจทางการเมือง (political power) เลย

และอย่างที่เราพูดไปในข้อที่แล้ว ทรงบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ทรงอึดอัดด้วยซ้ำเมื่อถูกเสนอชื่อให้เป็น 1 ในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันเป็นตำแหน่งทรงเกียรติที่ต้องใช้พระราชแทนอำนาจแทนพระมหากษัตริย์เลยทีเดียว

เราจึงมองว่า หากณัฐพลฯ ต้องการจะยืนยันข้อสนับสนุนนี้ ก็ควรหาหลักฐานอื่นมายืนยันดีกว่า เพราะหลักฐานที่เขาอ้างมาไม่มีเนื้อความหรือนัยอะไรเช่นนี้แต่อย่างใด

ดังนั้น กรณี “วันใหม่ของชาติ” อันเกิดมาจากการตีความผิดและใช้หลักฐานอย่างบิดเบือนของณัฐพลฯ ซึ่งได้ถูกขยายผลจนเป็นงานวิชาการระหว่างประเทศไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 (2010) จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักวิชา

เราหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดาเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ตลอดจนนักวิชาการผู้มีใจเป็นกลาง ควรตักเตือนหรือให้คำแนะนำการอ่านงานวิชาการประเภทนี้ต่อผู้เพิ่งเข้ามาศึกษาใหม่ๆ ให้ใช้สติและปัญญาในการอ่าน และอย่าเชื่อทุกสิ่งตามที่ผู้เขียนต้องการจะทำให้เชื่อจนกว่าท่านจะได้พิสูจน์เอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้