“อย่าดื้อกับแม่” คำตักเตือนแสนสั้นแต่ทรงพลัง จากศาลถึงเพนกวิน

“เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังมิต้องคำพิพากษาให้มีความผิดสถานใดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แต่ศาลกลับด่วนคุมขังข้าพเจ้าไว้ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นผลให้ข้าพเจ้าไม่อาจสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กระบวนการที่ดำเนินในกระบวนการนี้จึงไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเหมือนกับศาลในระบอบนาซีเยอรมัน ข้าพเจ้าจึงขอถอนทนายและไม่ยอมรับกระบวนการในคดีนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะได้รับสิทธิในการประกันตัวให้สู้คดีอย่างเต็มที่ ข้าพเจ้ายืนยันว่าปฏิเสธกระบวนการครั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากได้รับสิทธิการประกันตัวให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ก็จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม

พริษฐ์ ชิวารักษ์”

พริษฐ์ หรือเพนกวิน เด็กหนุ่มชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด พริษฐ์เป็นอดีตเลขาธิการของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้า เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเป็นแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พริษฐ์ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ในคดีที่พริษฐ์ตกเป็นจำเลยในคดี 112 พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักอัยการสูงสุด ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ติดใจสืบพยานทั้งหมด 32 ปาก ส่วนจำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่รับข้อเท็จจริงของพยานโจทก์ทุกปาก พริษฐ์จึงแถลงขอให้การปฏิเสธ และปฏิเสธกระบวนการในชั้นศาลนี้ เนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทําให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พริษฐ์จะให้การยอมรับในกระบวนการยุติธรรมและจะขอต่อสู้คดี พริษฐ์ยังแถลงขอถอนทนายความที่มีอยู่ทั้งสามคน โดยได้เขียนคำร้องต่อศาลความว่า

“เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังมิต้องคำพิพากษาให้มีความผิดสถานใดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แต่ศาลกลับด่วนคุมขังข้าพเจ้าไว้ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นผลให้ข้าพเจ้าไม่อาจสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กระบวนการที่ดำเนินในกระบวนการนี้จึงไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเหมือนกับศาลในระบอบนาซีเยอรมัน ข้าพเจ้าจึงขอถอนทนายและไม่ยอมรับกระบวนการในคดีนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะได้รับสิทธิในการประกันตัวให้สู้คดีอย่างเต็มที่ ข้าพเจ้ายืนยันว่าปฏิเสธกระบวนการครั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากได้รับสิทธิการประกันตัวให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ก็จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม”

หลังจากนั้นโจทก์ได้แถลงว่า เมื่อฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับข้อเท็จจริง โจทก์ติดใจสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 32 ปาก โดยจะแถลงเกี่ยวกับพยานที่โจทก์จะนำสืบเพื่อขอหมายเรียกมาในภายหลัง หลังการนัดพร้อมคดี สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ได้ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้งทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยได้ยืนยันในคำร้องว่าจากการได้พบลูกชายที่ศาลในวันนี้ พบว่าสุขภาพของพริษฐ์มีอาการทรุดโทรมลงอย่างมาก มีอาการหน้ามืด วิงเวียน อ่อนเพลีย ไม่อาจลุกยืนเดินได้ ในฐานะมารดา เชื่อว่าสุขภาพของจำเลยอยู่ในขั้นอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเพนกวินมีโรคประจำตัว คือโรคหอบหืด อันอาจทำให้หยุดหายใจได้

นางสุรีย์รัตน์ระบุว่า หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยห้ามออกไปนอกเขตโรงพยาบาลได้ ภายในกำหนดเวลาที่เพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกาย และเมื่อฟื้นตัวแล้ว ให้มารายงานตัวต่อศาล เพื่อฟังคำสั่งที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ต่อไป ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในทั้งสองคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”

ต่อมา ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยเป็นการไต่สวนที่เลื่อนมาจากนัดก่อน ก่อนเริ่มการไต่สวน ผู้พิพากษาบนบัลลังก์คนหนึ่งได้ถามพริษฐ์ว่า จำเขาได้หรือไม่ ปีที่แล้วเขาเป็นผู้พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์

พริษฐ์ตอบว่า จำได้ จากนั้นศาลถามต่อว่า ไหวหรือไม่ พริษฐ์ตอบศาลว่า ไหว จากนั้นผู้พิพากษาคนเดิมบอกพริษฐ์ด้วยว่า รู้หรือไม่ว่า แม่ของเขาเป็นห่วงเขา และตนก็รู้สึกสงสารแม่ของพริษฐ์เช่นกัน พร้อมบอกว่า แม่ทำทุกอย่างเพื่อให้พริษฐ์ได้รับการประกันตัว ศาลกล่าวด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “อย่าดื้อกับแม่” จากนั้นให้สาบานตัวก่อนเบิกความพร้อมแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วแต่ไม่ได้ชูแขนขึ้นระหว่างที่สาบานตัว

 พริษฐ์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ก่อนหน้านี้ในชั้นมัธยมปลายเขาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระหว่างนั้นเขาเคยได้รับรางวัลเพชรยอดมงกุฎสาขาประวัติศาสตร์ รวมทั้งเคยชนะเลิศการตอบปัญหารัฐศาสตร์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 ก่อนถูกคุมขังเขาพักอยู่กับคุณพ่อและคุณแม่ คือนางสุรีย์รัตน์และนายไพรัตน์ ชิวารักษ์ ตั้งแต่ถูกคุมขังเขาเคยยื่นคำร้องประกันตัวหลายครั้งแต่ก็ถูกปฏิเสธมาทุกครั้ง

ทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะมีเงื่อนไขการประกันตัวในกรณีของพริษฐ์ อันได้แก่ การไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พริษฐ์ตอบทนายจำเลยทันทีว่า กิจกรรมที่เขาทำไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาจึงยินดีที่จะปฏิบัติตาม จากนั้นทนายจำเลยอ่านเงื่อนไขข้ออื่นๆ ได้แก่ ไม่ออกนอกประเทศหากศาลไม่อนุญาต และจะมาปรากฎตัวต่อศาลตามนัดทุกครั้ง พริษฐ์แถลงว่า เขายอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จากนั้นพริษฐ์แถลงต่อศาลว่าหากเขาจะต้องสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์เขาเกรงว่าอาจจะกระทบต่อการเดินทางไปเรียนหนังสือ

 ทนายจำเลยถามว่า หากศาลจะกำหนดเงื่อนไขว่าไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะยอมรับหรือไม่  ถึงตอนนี้พริษฐ์ยังไม่ตอบศาลแต่ปรึกษากับทนายความ ระหว่างนั้นศาลพูดขึ้นทำนองว่า การที่ประชาชนไปชุมนุมเรียกร้องก็ถือเป็นการใช้สิทธิตามปกติ แต่จำเลยก็น่าจะทราบว่าการรวมตัวลักษณะไหนที่เป็นการก่อความวุ่นวาย หลังปรึกษาทนายความพริษฐ์แถลงต่อศาลว่า ตัวเขายืนยันว่า จะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ และจะไม่เข้าร่วมกับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พร้อมทั้งยืนยันว่าที่ผ่านมาเขาก็ทำกิจกรรมที่สันติปราศจากอาวุธมาโดยตลอด

 พริษฐ์แถลงต่อไปว่า “เขาจะไม่กระทำการที่เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาต และจะมาศาลทุกนัด

 ทนายจำเลยถามต่อว่า เกี่ยวกับสุขภาพของเขามีปัญหาอะไรบ้าง พริษฐ์เบิกความว่าเขาเป็นโรคหอบหืด ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ทนายจำเลยถามว่า เขารู้จัก ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า รู้จักเพราะ ผศ.ดร.อดิศร เป็นรองอธิการฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลการทำกิจกรรมของนักศึกษา และหาก ผศ.ดร.อดิศร จะมาช่วยศาลดูแลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เขาก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของทั้งอาจารย์และพ่อแม่ของเขา

 อัยการถามค้านว่า เงื่อนไขไม่กระทำการใดที่อาจเป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วยใช่หรือไม่ เพนกวินตอบว่า เขาไม่เคยใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 พยานปากที่สอง นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวินเบิกความว่า ปัจจุบันเธออายุ 50 ปี สมรสกับนายไพรัตน์ ชิวารักษ์ซึ่งเป็นพ่อของเพนกวิน นางสุรีย์รัตน์เบิกความว่า พริษฐ์เป็นเด็กดี เคยช่วยครูทำกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการศึกษา เธอเชื่อว่า หากพริษฐ์ไม่ถูกกักขังเขาน่าจะเรียนจบมหาวิทยาลัยโดยได้เกียรตินิยม

ทนายจำเลยถามนางสุรีย์รัตน์ว่าพริษฐ์เคยต้องโทษจำคุกในคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ นางสุรีย์รัตน์ตอบว่า ไม่เคย ทนายจำเลยถามว่า นางสุรีย์รัตน์จะช่วยดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ นางสุรีย์รัตน์ตอบว่า เธอจะพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลให้เขาปฏิบัติตามเงื่อนไข

พยานปากที่สาม นายไพรัตน์ ชิวารักษ์ พ่อของเพนกวินเบิกความว่า เขาอายุ 51 ปี อยู่บ้านหลังเดียวกับนางสุรีย์รัตน์และพริษฐ์ เขาและภรรยาเป็นผู้ดูแลส่งเสียอบรมสั่งสอนพริษฐ์

ทนายจำเลยถามว่านายไพรัตน์จะช่วยกำกับดูแลให้พริษฐ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่ นายไพรัตน์ตอบว่าที่ผ่านมาพริษฐ์ก็น่าจะไม่เคยกระทำการในลักษณะที่เป็นการผิดเงื่อนไขของศาลมาอยู่แล้ว กล่าวทำนองว่า การชุมนุมที่เข้าร่วมก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ อย่างไรก็ตามหากศาลเห็นว่า พริษฐ์กระทำการใดที่อาจเป็นการสุ่มเสี่ยง เขาก็จะช่วยศาลตักเตือน ซึ่งที่ผ่านมาลูกชายก็เชื่อฟังเขาตลอดจึงเชื่อและมั่นใจว่า จะปฏิบัติตามเงื่อนไขได้

 พยานปากที่สี่ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข เบิกความว่า ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มีหน้าที่ดูแลความประพฤติ วินัย และการจัดกิจกรรม เขาทราบว่า พริษฐ์เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง ที่ผ่านมาพริษฐ์เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย โดยเขาน่าจะสำเร็จการศึกษาภายในสองเทอม นายอดิศรเบิกความด้วยว่า เขาเชื่อว่า พริษฐ์จะปฏิบัติตามเงื่อนไข หากศาลแจ้งมาว่า พริษฐ์มีพฤติการณ์ที่อาจเป็นการขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัวเขาก็พร้อมที่จะดูแลตักเตือนพริษฐ์เนื่องจากตำแหน่งของเขามีหน้าที่ดูแลพฤติกรรมของนักศึกษาอยู่แล้ว

ต่อมา ศาลอ่านคำสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์ โดยระบุว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่ามีเหตุตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่จะไม่ให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พริษฐ์ จำเลยที่หนึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ กำลังจะจบการศึกษาและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะหลบหนี พยานหลักฐานคดีนี้อยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนทั้งหมดแล้ว จำเลยเป็นเพียงนักศึกษาไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มาเบิกความรับรองว่าจำเลยที่หนึ่งมีความประพฤติดีอยู่ในกฎระเบียบ

 จำเลยแถลงโดยความสมัครใจว่า “จะไม่กระทำการให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย”จำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีนี้แล้วแสดงให้เห็นว่ายอมรับในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล อีกทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว มารดาของจำเลยที่เป็นผู้ยื่นขอประกันตัวไม่เคยผิดสัญญาประกันตัวและไม่เคยมีพฤติการณ์อื่น หลักทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวจำนวน 200,000 บาทถือว่าเพียงพอกับข้อกล่าวหา แม้ศาลจะเคยสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาก่อนแต่พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

 ทั้งนี้ พริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากเรือนจำในวันเดียวกันหลังจากถูกคุมขังมาเป็นเวลา 92 วัน ด้วยเงื่อนไขคือ ห้ามกระทำการเช่นเดียวกันกับที่เป็นเหตุในคดีนี้อันทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และมาศาลตามกำหนดนัด

ที่มา :

[1] ฐานข้อมูลดดี 112

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ท