จะเกิดอะไรขึ้น?…หากเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของปรีดี พนมยงค์ ถูกนำมาประกาศใช้ – ตอนจบ

ในตอนที่แล้ว เราได้เห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นแผนเศรษฐกิจที่ไม่ได้ถูกเขียนอยู่บนสถานการณ์ที่เป็นจริง และการที่รัฐบาลจะเข้ามาลงทุน รวมถึงบริหารประกอบการทางเศรษฐกิจเองทุกอย่าง เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศในปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่า “ทำจริงไม่ได้” และเสี่ยงในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัง

ส่วนประชาชนจะถูกมองเป็นแค่วัตถุหรือแรงงานของรัฐ หากเค้าโครงการเศรษฐกิจถูกประกาศใช้ ประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะชนชั้นกลางทั่วไป จะถูกมองว่าเป็นพวก “ขี้เกียจ” “หนักโลก” หรือ “ตัวถ่วงความเจริญ” ของประเทศ เพราะไม่ได้ทำงานเต็มเวลาให้เหมาะสมกับแรงงานของตัวเอง และสุดท้ายเราจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในสายตาชาวโลกทันที

นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจถูกนำมาประกาศใช้ อ่านแล้วก็ไม่แปลกใจ ว่าทำไมแม้แต่คณะราษฎรด้วยกันเองยังไม่กล้าใช้เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เลย

4. รัฐบาลปฏิบัติต่อประชาชนในฐานะ “วัตถุ” ภายใต้การบงการของรัฐ

ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นพูดถึงประชาชนในทางลบ หากนำมาประกาศใช้ ประชาชนจะถูกมองเป็นวัตถุหรือแรงงานภายใต้การบงการของรัฐ และประชาชนบางส่วน เช่น ชนชั้นกลางทั่วไป, ฟรีแลนซ์ ฯลฯ จะถูกมองว่าเป็นพวก “ขี้เกียจ” “หนักโลก” หรือ “ตัวถ่วงความเจริญ” ของประเทศ เพราะไม่ได้ทำงานเต็มเวลาให้เหมาะสมกับแรงงานของตัวเอง น่าสนใจว่าการมีทัศนคติในแง่นี้ของปรีดี ย่อมสะท้อนถึงความเชื่อเรื่อง “ความเป็นคนเท่ากัน” ในใจลึก ๆ ของเขาได้เป็นอย่างดี

สำหรับเรื่องนี้ปรีดี ทึกทักไปเองว่าใน 1 ปี ชาวนาไทยมีระยะทำนา 6 เดือน ทำให้อีก 6 เดือนที่เหลือนั้นเป็นเวลาว่างที่เปล่าประโยชน์ รัฐบาลจึงควรบงการให้ประชาชนเหล่านั้นมีงานอย่างอื่นทำ การมีแนวคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมองประชาชนเป็นแค่ “วัตถุ” ที่ต้องถูกรีดประโยชน์จากการใช้แรงงาน แต่ข้อเท็จจริงคือ คนไทยทั้งประเทศในเวลานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็น “ชาวนา” ไปเสียหมด เพราะยังมีคนไทยที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ซึ่งจะหมุนเวียนอาชีพตลอดทั้งปี ดังนั้น การไปทึกทักเอาเองว่าประชาชนปล่อยให้เวลาหมดไปอย่างเปล่าประโยชน์ จึงเป็นมุมมองที่แสนคับแคบของปรีดีอย่างชัดเจนที่สุด

5. ไทยอาจถูกชาติตะวันตกเข้าใจว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ และอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศตามมา

ไม่เพียงแต่พระราชวิจารณ์ของในหลวง ร.7 และรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่กล่าวถึงร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจว่ามีลักษณะเดียวกับ “คอมมิวนิสต์” แม้แต่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยก็วิจารณ์ว่าร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี “เป็นแบบคอมมิวนิสต์” เช่นกัน ตามที่ปรากฏข้อความในรายงานสถานทูตอังกฤษ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่า

“…(ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ) ที่อาศัยหลักการแบบโซเวียต คือการให้รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน แรงงาน และกิจการอุตสาหกรรม” (F3109/42/40, Mr.Dormer to Sir John. 3 April 1933)

และต่อมาสถานทูตอังกฤษได้มีรายงานสอดคล้องกับพระราชวิจารณ์ของในหลวง ร.7 และรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่า

“…รัฐบาลไม่ได้กล่าวเกินจริงที่ระบุว่าร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจมีแนวทางแบบคอมมิวนิสต์ (Communistic)” (F3396/42/4, Mr.Dormer to Sir John. 20 April 1933)

จะเห็นว่าไม่ได้มีเพียงแต่รัฐบาลไทยเท่านั้น ที่มองว่าปรีดีใช้แนวทางแบบคอมมิวนิสต์มาเขียนร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ แม้แต่ทูตชาวต่างประเทศในระบอบประชาธิปไตย ก็มองเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างปราศจากข้อสงสัย

6. หากรัฐดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจเอง ประเทศไทยอาจจะล้มเหลว เหมือนกิจการของรัฐที่ทัณฑนิคมธารโต จังหวัดยะลา พ.ศ. 2478

แนวคิดการตั้งทัณฑนิคมเพื่อนำนักโทษไปปล่อยทิ้งไว้ในที่ดินป่าดิบชื้นในพื้นที่ภาคใต้ ริเริ่มมาจากแนวคิดของนายสงวน ตุลาลักษ์ สมาชิกคณะราษฎร และเชื่อว่าคงได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกพับโครงการไปก่อนหน้านี้ จึงกล่าวได้ว่า รูปแบบการบริหารจัดการของทัณฑนิคมธารโต จังหวัดยะลา คือการ “ทดลองร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์” โดยหลักการดังกล่าววางอยู่บนแนวคิดที่ว่า รัฐจะจัดสรรทรัพยากรแก่นักโทษ อาทิ มีการจัดสรรที่ดินทำกิน อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และมีกิจการที่นักโทษต้องใช้แรงงานร่วมกันคล้ายลักษณะนารวมแบบคอมมิวนิสต์ แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นกิจการโรงเลื่อยของทัณฑนิคมไม้และการปลูกพืชกสิกรรมแทน ซึ่งกิจการทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วน “ล้มเหลวและขาดทุนอย่างย่อยยับ”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า