‘หลักฐานชิ้นสำคัญ’ ที่เปิดเผยเบื้องหลังอันน่าสะพรึง ของการรัฐประหาร พ.ศ. 2500

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นวันที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกโค่นล้มลงหลังจากครองอำนาจมานานเกือบ 10 ปี โดยการรัฐประหารของจอมพลพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และถือเป็นการเริ่มต้นยุคที่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี แม้ดูเหมือนว่าจอมพลทั้ง 2 จะยืนอยู่ในขั้วการเมืองคนละฝ่าย แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะทั้งจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ ต่างล้วนเป็นสมาชิกของคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ทั้งสิ้น ดังนั้น การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 จึงเป็นการ“แย่งชิงอำนาจนำ” กันเองของคณะรัฐประหารที่เคยก่อตั้งด้วยกันมาเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น

การรัฐประหาร พ.ศ. 2500 เกิดขึ้นได้ด้วยมติมหาชนของคนไทยทั้งประเทศ ที่พร้อมใจกันเรียกร้องให้ “ใครก็ได้” ปลดเอาจอมพล ป. และ เผ่า ศรียานนท์ ออกจากการเป็นผู้มีอำนาจในรัฐบาลเสียที เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. ในเวลานั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังมีการพยายามสร้างข่าวโจมตีในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรง และรัฐบาลในขณะนั้นก็กำลังดำเนินการเพื่อนำตัวนายปรีดี พนมยงค์ ที่กำลังลี้ภัยและมีชนักติดหลังเรื่อง “คดีสวรรคต” กลับมายังประเทศไทยด้วยการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าของ เผ่า ศรียานนท์ มือขวาคนสำคัญของจอมพล ป.

ซึ่งมูลเหตุทั้งหมดดังที่กล่าวมา ล้วนกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจรัฐประหารของจอมพลพลสฤษดิ์

แต่อย่างไรก็ดี รายละเอียดสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงผลักดันภายในหรือเจตจำนงที่แท้จริงที่นำไปสู่การตัดสินใจรัฐประหาร กลับไม่มีปรากฏอยู่เลยในเอกสารฝั่งไทยที่เป็นกระแสหลัก

นักประวัติศาสตร์รวมถึงตำราว่าด้วยรัฐศาสตร์โดยทั่วไป ไม่ได้ให้มิติในเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจอมพล ป. กับ สถาบันพระมหากษัตริย์ เอาไว้อย่างชัดเจนเลย จะมีก็แต่การบรรยายแบบคร่าวๆ เป็นต้นว่า การรัฐประหาร พ.ศ. 2500 เกิดขึ้นจากปัญหาการคอร์รัปชันของรัฐบาลเก่า ไปจนถึงการเลือกตั้งสกปรกช่วงต้นปี พ.ศ. 2500 ที่ทำให้จอมพล ป. ได้รับชัยชนะและสืบทอดอำนาจต่อไปอีก

การนำเสนอแง่มุมเพียงเท่านี้ ทำให้มีนักวิชาการบางคนนำไปบิดเบือนขยายผลว่า เหตุที่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์สำเร็จง่ายดังประสงค์เช่นนี้ เป็นเพราะ “ในหลวงเลือกข้างทางการเมืองโดยสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์” จนนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นวาทกรรมเท็จระดับตำนานว่า“ในหลวงทรงเซ็นรับรองรัฐประหาร”

วาทกรรมดังกล่าวอันเป็นผลมาจากการลดทอนรายละเอียดสำคัญ รวมถึงมูลเหตุปัจจัยเบื้องต้นของการนำไปสู่การตัดสินใจรัฐประหาร ได้ทำให้วงการวิชาการของไทย “บิดเบี้ยว” ไปหลายทศวรรษ และในอีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นวาทกรรมที่มีเจตนาโดยตรงที่จะทำลายความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะเพียงแค่ความเชื่อที่ว่า “ในหลวงทรงเซ็นรับรองรัฐประหาร” ที่ฝังแน่นอยู่ในหัวคนบางกลุ่มในปัจจุบัน ก็ทำให้คำอธิบายอื่นๆ ที่มีหลักฐานอ้างอิงน่าเชื่อถือกว่า กลับต้องถูกปัดตกไปหมดอย่างน่าเสียดาย

เช่นเดียวกับหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ ฤา นำมาให้อ่านกันในวันนี้ เป็นตัวอย่างหลักฐานที่ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้จดบันทึก “เบื้องหลังการรัฐประหาร” ในปี พ.ศ. 2500 ไว้อย่างละเอียด ซึ่งข้อความในเอกสารชิ้นนี้ ได้ฉายภาพให้เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงแนวโน้มที่รัฐบาลจอมพล ป. คิดจะก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมา แล้วตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี

ข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ใน “เอกสารบันทึกการสนทนาระหว่างตัวแทนหน่วยข่าวกรองทหารของไทย กับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2500 โดยมีข้อความในส่วนที่เกี่ยวข้องว่า …

… พิบูลและเผ่ามีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ (hostile) ต่อพระมหากษัตริย์และสมาชิกพระราชวงศ์ เขากล่าวว่า พิบูลไม่เคยถอดใจในความทะเยอทะยาน (ambition) ที่จะสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี … ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเผ่า ศรียานนท์ ได้สั่งการให้ถนอม กิติขจร จับตัวพระมหากษัตริย์ (to arrest the King) … แต่ถนอมก็ได้ปฏิเสธไป กรณีที่สองได้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมในช่วงการฉลองพุทธศตวรรษ เมื่อพวกเขาได้รับข่าวที่มีความน่าเชื่อถือว่า หากพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ไปงานดังกล่าว จะทรงได้รับอันตราย ดังนั้นพระองค์จึงประทับแต่ในพระราชวัง และหลังจากนั้นในช่วงฤดูร้อนนี้บรรดาหนังสือพิมพ์ที่ถูกควบคุมโดยพิบูลและเผ่า เริ่มที่จะตีพิมพ์ข่าวโจมตี (attack) พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรง (terrible)

นอกจากนั้น เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ยังได้อธิบายเป็นทำนองว่า ด้วยสาเหตุหลักๆ 2 – 3 ประการนี้ ทำให้จอมพลสฤษดิ์และบรรดานายทหารอื่นๆ รู้สึกไม่พอใจ และเป็นกังวลต่อสถานการณ์ที่ชักจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นอยู่ในช่วงเปราะบางอย่างที่สุด เมื่อผนวกรวมเข้ากับปัญหาการคอร์รัปชันและการโกงเลือกตั้งของรัฐบาลจอมพล ป. ทั้งหมดจึงกลายเป็นแรงผลักดันให้บรรดานายทหารระดับสูงของประเทศตัดสินใจรัฐประหารในที่สุด

นอกจากนี้ เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้กล่าวถึงบทสนทนา “ลับ”ที่จอมพลสฤษดิ์ พูดกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบทสนทนาดังกล่าว ก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า สถานการณ์ ณ นาทีนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ต้องรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. อย่างเร่งด่วนที่สุด แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงไม่ค่อยแน่พระทัยในตัวจอมพลสฤษดิ์เท่าใดนักก็ตาม

เมื่อพิจารณารายละเอียดของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น รวมกับข้อมูลจากเอกสารดังกล่าว ทำให้มองเห็นแรงผลักดันหรือเจตจำนงของจอมพลสฤษดิ์ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงไม่มีพระราชอำนาจที่จะควบคุมหรือเลือกอะไรใดๆ ได้ และหากมองดูจากเป้าประสงค์ที่แท้จริงของจอมพล ป. ตามที่เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุไว้ สิ่งนี้ย่อมเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการตัดสินใจของนายทหารระดับสูงในวันนั้น มิเช่นนั้นแล้ว พระราชวงศ์จักรีก็อาจถึงกาลอวสานในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รับทราบมาก็เป็นได้

จะเห็นได้ว่า หลักฐานเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชิ้นนี้ ได้ฉายให้เห็น “เบื้องหลัง” การรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในมิติที่ “ลึก” และ “สลับซับซ้อน” ที่แม้แต่ตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันก็ไม่กล้าที่จะนำเสนอโดยตรง และที่สำคัญคือ หลักฐานชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นว่า วาทกรรม “ในหลวงทรงเซ็นรับรองรัฐประหาร” เป็นเพียงคำโกหกที่ถูกปั้นแต่งขึ้น เพื่อบิดเบือนความจริงในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว และมุ่งทำลายความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น

เอกสารบันทึกการสนทนาระหว่างตัวแทนหน่วยข่าวกรองทหารของไทย กับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2500
อ้างอิง :

[1] NARA, RG 59 General Records of Department of State, Entry Thailand 1955-1959 Box 3909, Memorandum of conversation Brigadier General Wallop Rojanawisut, Colonel Edward Lansdale and Kenneth T. Young, 24 October 1957.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า