‘กบฏบวรเดช’ ตอนที่ 2 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเลือก ‘เป็นกลาง’ บนสถานการณ์ที่ยากลำบากในความขัดแย้งทางการเมือง

[‘กบฏบวรเดช’ ตอนที่ 1 การต่อสู้ที่ไม่ได้ต้องการทวงคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์]

สืบเนื่องจากทิศทางการจัดการปกครองของรัฐบาลคณะราษฎร ที่มีการปรับไปสู่ระบบราชการและทหารแห่งชาติ รวมถึงกรณีร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีแนวคิดไปทางคอมมิวนิสต์ และกรณีที่นาย ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงพระเกียรติยศของในหลวงรัชกาลที่ 7 ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ข้าราชการและทหารชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่สมควรอย่างยิ่ง จนเกิดการรวมตัวของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง”

เมื่อตั้งหลักมั่นอยู่ที่ดอนเมืองได้แล้ว ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ส่งหนังสือข้อเรียกร้องชื่อว่า “หลักความมุ่งหมาย 6 ประการ” ลงพระนามโดยนายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช ส่งถึงฝ่ายรัฐบาล พร้อมกับทำเป็นใบปลิวโปรยจากเครื่องบินไปทั่วเขตพระนครและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีใจความสำคัญแถลงว่า …

  1. ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
  2. ต้องดำเนินการโดยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและการถอดถอนรัฐบาลต้องเป็นไปโดยเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำการโดยการจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ต้องยอมให้มีคณะการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการ ทั้งทางการทหารและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง แต่ความข้างต้นนั้น ไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำจะยึดลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยม หรือบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นถือตามลัทธิที่ตนนิยมเป็นอันขาด และตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไป ต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
  4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องทางการเมืองเป็นความชอบ หรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุหรือเลื่อนตำแหน่ง
  5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัวทรงเลือก
  6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมือง และได้ใช้ยุทธวิธีรุกไล่โดยยิงปืนใหญ่ข่มขู่ รวมทั้งพยายามผลักดันให้กองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองถอนตัวออกจากเขตกองทหารที่ดอนเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 4 วันเต็มๆ จากวันที่ 13 ตุลาคม จนถึง วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังพยายามติดต่อและอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 7 ให้เสด็จพระราชดำเนินจากหัวหินกลับพระนคร รวมทั้งได้ทำการปลุกเร้าประชาชนในเขตเมืองหลวงให้ช่วยฝ่ายรัฐบาลทั้งในแง่ของกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังใจ

จากการปลุกเร้าของรัฐบาล ปรากฏว่ามีนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย กรรมการ เสมียนบริษัท อย่างเช่นเสมียนบริษัทบอร์เนียว รวมถึงคนชั้นกลาง อย่างเช่นนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ และเจ้าของโรงพิมพ์ อีกทั้งพ่อค้าระดับย่อยๆ ที่ขันอาสาช่วยรัฐบาลอย่างกระตือรือร้น มีลูกเสือจำนวนมากจากโรงเรียนมัธยมในพระนครและจังหวัดอื่นๆ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ฯลฯ อาสาร่วมช่วยเหลือรัฐบาลคณะราษฎรปราบกบฏ ดังที่มีบันทึกว่า ลูกเสือคนหนึ่งสังกัดโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง สวมเครื่องแบบแล้วหายตัวออกจากบ้าน ไปช่วยทหารลำเลียงอาวุธทั้งคืน เมื่อกลับมา พ่อต่อว่าเขา แต่เด็กหนุ่มอธิบายว่า เขาไปช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญ หากไม่มีรัฐธรรมนูญ เราจะอยู่ได้อย่างไร จากนั้นเขาเอามือชี้เข็มรัฐธรรมนูญที่หน้าชุดลูกเสือให้พ่อแม่ดู พ่อแม่จึงบอกกับเขาว่า …

“ทำไมไม่บอกเสียก่อนเล่า ไปอย่างนี้ละก้อไปเถอะ แล้วเข็มรัฐธรรมนูญนั่น เจ้าต้องเก็บไว้ให้ดี เห็นไหมว่า มีรูปธรรมนูญเป็นของมีค่า โตขึ้นมีลูกหลานจะได้ให้มันดู”

ผลจากการที่เหล่าลูกเสือมาช่วยงานแนวหลังในครั้งนั้น รัฐบาลคณะราษฎรถึงกับประกาศชมเชยลูกเสืออาสาสมัครว่า …

“ช่วยลำเลียงสรรพาวุธ ช่วยลำเลียงอาหาร ช่วยในการสื่อสาร และกิจการเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นอกจากนี้ยังหาญเข้ากระทำการต่างๆ เหล่านี้ในแนวหน้า ในระยะกระสุนของกองทหารฝ่ายกบฏ โดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายและความเหน็ดเหนื่อย ทั้งๆ ที่ลูกเสือเหล่านี้เป็นเพียงยุวชนอายุน้อยๆ …”

นอกจากนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศชมเชยประชาชนที่ออกมาพิทักษ์ประชาธิปไตยว่า …

“รัฐบาลจึ่งขอประกาศชมเชย เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ประชาชนทั้งหลาย ในความจงรักภักดีของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสา กรรมกร และราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศสยาม และต่อชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของชาวเรา”

ซึ่งเรื่องนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชกระแสเตือนฝ่ายรัฐบาลว่า …

“ในการเกิดจลาจลครั้งนี้ ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่ารัฐบาลรับคนทำหน้าที่ต่างๆ และพวกที่รับอาสานั้นมีฐานะต่างกันมาก การรับคนอาสา เช่น ลูกเสือเพื่อรักษาความสงบในพระนครเป็นการสมควร เพราะตำรวจมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาก ส่วนผู้อื่นที่รับอาสา เช่น พวกกรรมกร ฯลฯ ทรงพระราชดำริว่าไม่น่ารับไว้ เพราะนอกจากพวกเขายังต้องทำงานของเขาแล้ว พวกเขายังมีฐานะผิดกับลูกเสือ ไม่ทราบว่ารัฐบาลได้จ่ายอาวุธให้แก่ผู้รับอาสาต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ ถ้าจ่ายด้วยก็ยิ่งไม่สมควรเลย เพราะอาจมีเรื่องร้ายแรงได้มาก”

ในระหว่างเกิดการสู้รบรวมสี่วันระหว่างฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เขตดอนเมือง กับฝ่ายรัฐบาลซึ่งตั้งกองกำลังอยู่ที่เขตบางซื่อ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยและทรงอยู่ในสถานะที่ลำบากมากที่สุดสำหรับเหตุการณ์คราวนั้น พระองค์ทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลขอให้เสด็จกลับพระนครของพระยาพหลพลพยุหเสนา รวมทั่งทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลของหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ ราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งทรงกราบบังคมทูลให้พระองค์ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่บางปะอิน และทางรัฐบาลจะจัดขบวนรถไฟพิเศษสำหรับอัญเชิญเสด็จกลับพระนคร

ทว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยอย่างเด็ดเดี่ยว พระราชดำเนินโดยเรือเร็วขนาดเล็กจากหัวหินไปยังสงขลา ซึ่งเป็นที่ที่พระองค์ทรงประทับเป็นเวลานานจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ขณะนั้น หากเสด็จกลับพระนครก็อาจจะกลายเป็นการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล หากเสด็จไปบางปะอินก็ทรงเกรงว่าทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองซึ่งยกทัพผ่านลงมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกักพระองค์ไว้เป็น “ตัวประกัน” ที่นั่นเพื่อต่อรองกับฝ่ายรัฐบาล

การเสด็จไปยังสงขลาของพระองค์ คือการตัดสินพระทัยเลือกที่จะ “เป็นกลาง” และไม่ประสงค์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง

ในที่สุดการปะทะกันในครั้งนั้นก็จบลงที่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง พระองค์เจ้าบวรเดชและกองกำลังทหารต้องถอยร่นกลับนครราชสีมา โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นกองระวังหลังคอยตรึงกำลังฝ่ายรัฐบาลตามจุดต่างๆ ตลอดเส้นทางรถไฟ กระทั่งพระยาศรีสิทธิสงครามพลาดพลั้งถูกทหารฝ่ายรัฐบาลยิงเสียชีวิตใกล้กับสถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี และต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดชได้ทรงลี้ภัยไปอินโดจีน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียทหารและตำรวจรวม 17 นาย

เมื่อเหตุกาณณ์สงบลง ฝ่ายรัฐบาลโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้ตรา “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476” ขึ้น ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุผลว่า มีผู้เกี่ยวข้องกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นจำนวนถึง 600 คน หากส่งฟ้องศาลปกติย่อมมีความล่าช้า และหากส่งขึ้นศาลทหารก็มีความรุนแรงเกินไป ในจำนวนผู้ถูกจับกุม 600 คนดังกล่าว หลังจากสอบสวนแล้ว มีผู้ถูกส่งฟ้องศาลจำนวน 318 คน แยกเป็น 81 คดี และศาลตัดสินลงโทษจริงจำนวน 230 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเจ้านายอยู่บางพระองค์ด้วย เช่น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็นต้น สำหรับคนอื่นๆ แม้ว่าถูกสอบสวนแล้วไม่มีการฟ้องร้อง หรือฟ้องร้องแล้วศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่ฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ “เป็นผู้มีมลทินทางการเมือง” จึงมีคำสั่งให้ปลดออกจากราชการทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นการปลดข้าราชการจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475

ทั้งหมดคือบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ในอีกแง่มุมที่ฉายภาพให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างตอนก่อนและหลัง หรือแม้กระทั่งในระหว่างเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 และเหนืออื่นใด ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราได้ทราบถึงการตัดสินพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในช่วงเวลานั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นที่จะ “เป็นกลาง” และไม่ต้องการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ทางการเมือง

ที่มา :

[1] หจช.สร.0201.1/1
[2] หจช.สร.0201.1.3/6
[3] สร. 0201.1.1/2 แถลงการณ์ของรัฐบาลเรื่องปราบกบฏ (12 ตุลาคม-6 พฤศจิกายน 2476) ประกาศชมเชยน้ำใจลูกเสือ วันที่ 14 ตุลาคม 2476
[4] หจช.สร.0201.1.1/1 “สำเนามติคณะรัฐมนตรีที่ 8/2476 วันที่ 18 มกราคม 2476”
[5] 11 ต.ค. 2476 เกิด “กบฏบวรเดช” กลุ่มทหารยึดดอนเมือง ปะทะรัฐบาลจนเกิดสูญเสีย

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความ