ป. ผู้ให้กำเนิดเตรียมอุดมฯ คือ ‘ปิ่น’ ไม่ใช่ ‘แปลก’

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยใช้ชื่อในขณะนั้น คือ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งการก่อตั้งนั้นเป็นผลพวงมาจาก แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 ที่รัฐบาลคณะราษฎรมีนโยบายควบคุมไม่ให้คนจบในระดับปริญญามากจนเกินไป

ตามระบบการศึกษาเดิมก่อนแผนการศึกษา พ.ศ. 2479 ประเทศไทยมีการเรียนการสอนระดับมัธยม 8 ปี คือ มัธยมต้น ม.1-ม.4 และ มัธยมปลาย ม.5-ม.8 ต่อมาได้มีการลดชั้นเรียนให้มัธยมต้นและมัธยมปลายเหลือแค่อย่างละ 3 ปี โดยที่ วุฒิ ม.6 แม้จะถือว่าสำเร็จการศึกษามัธยมปลายก็ตาม แต่ไม่สามารถสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาได้อีกแล้ว เพราะถ้าหากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะต้องสำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมอีก 2 ปีเสียก่อน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนระดับเตรียมอุดมศึกษา จะเป็นการจัดโดยมหาวิทยานั้นๆ

ผลที่ตามมาคือ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ต่างถูกบีบให้ต้องแข่งขันกันเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เท่านั้น เนื่องจากในปี พ.ศ. 2480 มีมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมเพียง 2 แห่ง คือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” โดยรับนักเรียนรวมกันไม่เกิน 600 คน (ขณะนั้นมี 71 จังหวัด เฉลี่ยรับนักเรียนไม่เกิน 9 คน ต่อจังหวัด) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางการศึกษาเป็นอย่างมาก

การที่แผนการศึกษา พ.ศ. 2479 มีแนวคิดควบคุมไม่ให้คนมีความรู้ในระดับสูงจนเกินไป เป็นผลมาจากความล้มเหลวเชิงนโยบาย จากแคมเปญ “มหาวิทยาลัยอุปมาดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ขายฝันว่าจะให้เป็นตลาดวิชา แต่แท้จริงแล้วมันกลายเป็นบ่อบำบัดความกระหายของนักการเมือง ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ผ่านการใช้อำนาจหน้าที่ออกคำสั่งให้ข้าราชการมาสมัครเรียน จนมีผู้สมัครมากกว่า 7,000 คน ทั้งๆ ที่จำนวนข้าราชการในขณะนั้นมีไม่ถึงหมื่นคนด้วยซ้ำ

และในปัจจุบันนี้ ได้ปรากฏมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอ้างมติสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือพันเอกหลวงพิบูลสงครามลงนาม ทั้งๆ ที่ความจริงคือ การตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่มาจาก ขุนสุคนธ์วิทย์ศึกษากร รัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มีหนังสือเวียนลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2480 ประกาศให้มีการเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อนอุดมศึกษา โดยได้สั่งการให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้น

ต่อมาทางสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันประกอบไปด้วย พันเอก หลวงพิบูลสงคราม อธิการบดี, หลวงแมนวิชาประสิทธิ์ เลขาธิการของมหาวิทยาลัย, หลวงพรตพิทยพยัต คณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

“หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล” ผู้เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทุ่มเทอุทิศทั้งแรงกายแรงใจ และสติปัญญา จนดำเนินการให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ในที่สุด ถือได้ว่าท่านผู้นี้คือผู้ให้กำเนิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตัวจริง

โดยก่อนจะมาเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เดิมทีแล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโรงเรียนมัธยมหอวัง เป็นโรงเรียนสาธิตของคณะอักษรศาสตร์อยู่แล้ว โดยมีวังวินเซอร์ ซึ่งเป็นอดีตวังของของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมหอวัง

ทว่ารัฐบาลในสมัยนั้นต้องการที่จะสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และแม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีที่ดินกว้างขวางนับพันไร่ รวมถึงมีที่ว่างที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากมายเหลือเฟือก็ตาม แต่ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นกลับเจาะจงต้องการที่จะใช้พื้นที่ตรงวังวินเซอร์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าหากจะขยับตัวสนามกีฬาออกไปเพียงไม่กี่สิบเมตรก็สามารถหลีกเลี่ยงการทุบทำลายวังวินเซอร์ซึ่งเป็นอาคารเรียนได้ แต่ผู้มีอำนาจในสมัยนั้นก็ไม่ทำ

ผลก็คือ วังวินเซอร์ ซึ่งเป็นที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมหอวัง ถูกรื้อถอนทุบทำลายในปีพ.ศ. 2478 เพื่อสร้างสนามกีฬา และมีการตั้งชื่อว่า สนามศุภชลาศัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา ผู้ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล

ทำให้โรงเรียนมัธยมหอวังต้องย้ายที่เรียนไปยังบริเวณอื่นแทน ทว่าต่อมาไม่นาน เมื่อรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามแผนการศึกษา พ.ศ. 2479 โรงเรียนมัธยมหอวังจึงถูกปิดเป็นการถาวร เพื่อที่จะตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในฐานะหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผู้รับหน้าที่ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้เดียวกับอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวัง ดังนั้นการยุบโรงเรียนเก่าแล้วตั้งโรงเรียนใหม่ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพเท่านั้น

เมื่อมีการใช้ระบบชั้นเตรียมอุดมศึกษาไปได้ระยะหนึ่งแล้ว จากเดิมที่มีแค่ 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น และได้มีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ระบบเตรียมอุดมนี้ได้สร้างปัญหากีดขวางประชาชนให้เข้าถึงการศึกษาได้ยาก แม้ต่อมาจะมีการขยายสาขาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปยังจังหวัดต่างๆ ตามภูมิภาค แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์สังคม

ความล้มเหลวของนโยบายผูกขาดทางการศึกษา ตามแผนการศึกษา พ.ศ. 2479 ได้ส่งผลให้ ระบบชั้นเตรียมอุดมศึกษาล่มสลายลงไป ทำให้ต้องยุบโรงเรียนเตรียม และมีการปรับให้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายสามารถเข้าศึกษาในระดับปริญญาได้เหมือนเดิม

ส่วนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ให้กำเนิดสถาบันแห่งนี้ไม่ยอมให้มีการยุบโรงเรียน ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงทำให้มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้เป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้อง กระทั่งสามารถรักษาโรงเรียนเอาไว้

หม่อมหลวงปิ่นได้กล่าวว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ชื่อยาวนัก จึงได้เปลี่ยนเป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เฉยๆ แต่พระเกี้ยวนั้นเป็นของสูง จะทิ้งกันได้อย่างไร โรงเรียนได้เก็บไว้เป็นเครื่องหมายรวมจิตใจ ของอาจารย์และนักเรียนจนกระทั่งทุกวันนี้”

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงเป็นโรงเรียนเตรียมเพียงแห่งเดียวที่รอดจากการถูกยุบและดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นต้นแบบของโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ในอีกหลายๆ เรื่อง เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียน และแบ่งนักเรียนออกเป็นคณะๆ รวม 6 คณะ ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และมีการแข่งขันกีฬาสีเป็นโรงเรียนแรกอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นพระราชมรดกของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ผู้ซึ่งพระราชทานกำเนิดโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

เนื่องจากหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย”) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ (public school) หรือโรงเรียนกินนอนแบบประเทศอังกฤษ มีวัฒนธรรมโรงเรียนที่นักเรียนแบ่งกันเป็นคณะๆ และมีการให้อำนาจนักเรียนจัดการตนเองในทำนองกรรมการนักเรียนด้วย รวมถึงมีการให้ความสำคัญกับการกีฬา ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นอิทธิพลทางความคิด ที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นำมาใช้กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และต่อมาก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] ประวัติโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
[2] ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[3] 84 ปีที่สาบสูญ คณะราษฎรสั่งทุบ “วังวินด์เซอร์” สร้างสนามกีฬาชื่อตัวเอง
[4] ประกาศกระทรวงธรรมการ ประกาศแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2479
[5] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า